ตั้งครรภ์พร้อมโรค OCD !

ตั้งครรภ์

ท้องพร้อม OCD ! (รักลูก)
โดย: เมธาวี

          ความรู้สึกกังวลยามท้อง ไม่ว่าจะกินอะไรดี เดินเยอะได้ไหม ลูกในท้องจะปกติหรือไม่ และอีกมากมาย อาจนำไปสู่อาการย้ำคิดย้ำทำของแม่ท้องได้นะคะ

          โรค OCD หรือ Obsessive Compulsive Disorder มีลักษณะอาการย้ำคิด ย้ำทำ ในบางคนเป็นมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และรู้สึกไม่สุขสบาย เกิดเป็นความกังวลจนพยายามต่อต้านความคิดที่เกิดขึ้น ซึ่งความผิดปกติประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ

         การย้ำคิด เป็นความคิดที่ผุดขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือการควบคุม ซึ่งคุณแม่ก็รู้ว่าเป็นความคิดที่เหลวไหล และรู้สึกรำคาญ แต่ก็ห้ามความคิดนี้ไม่ได้ มีความกังวลใจ และรู้สึกผิดต่อความคิดที่เกิดขึ้นหากไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง เช่น คิดว่ามือสกปรก ต้องล้างมืออยู่ตลอดเวลา ลูกดิ้นแต่รู้สึกเหมือนลูกไม่ดิ้น ทำให้คิดไปถึงว่ากลัวลูกจะเสียชีวิตในครรภ์ เป็นต้น

         การย้ำทำ เป็นการกระทำซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความรู้สึก และความคิดที่ย้ำคิดขึ้น เช่น ต้องล้างมืออยู่บ่อย ๆ เพราะคิดว่าสกปรกตลอดเวลา เริ่มนับลูกดิ้นใหม่ เพราะคิดว่าลูกยังไม่ได้ดิ้น เป็นต้น ทำให้แต่ละวันเสียเวลากับความคิดและพฤติกรรมเหล่านี้มาก และมักจะใช้เวลาคิดซ้ำไปซ้ำมามากกว่า 1 ชั่วโมงค่ะ

สาเหตุ

          อาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้นในคุณแม่ท้อง มีการสันนิษฐานว่าเกิดจากคุณแม่มีเมตาโบลิซึมของสมองบางส่วนเพิ่มขึ้น และมีความผิดปกติของระบบสื่อนำประสาท โดยร้อยละ 60 พบในคุณแม่ท้องที่อายุน้อยกว่า 25 ปี และเกิดในขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอดได้ร้อยละ 13-44 โดยเกิดเป็นครั้งแรกตอนตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 2 และในช่วงหลังคลอดร้อยละ 7

          นอกจากนี้คุณแม่ที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำอยู่ก่อนตั้งครรภ์ จะมีอาการมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์ พบได้ร้อยละ 8 และในช่วงหลังคลอดร้อยละ 50 อาการแย่ที่ลงในช่วงดังกล่าว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ประกอบกับคุณแม่มือใหม่บางคนมีความรู้สึกกังวลถึงความรับผิดชอบที่เพิ่มมาก ขึ้น ในการดูแลอีกหนึ่งชีวิตในครรภ์ จึงยิ่งส่งผลให้กังวล จนกลายเป็นอาการย้ำคิดย้ำทำขึ้นได้

          ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยเยียวยาคุณแม่ท้องที่มีอาการดังกล่าวได้ คือการทำจิตใจให้สบาย หากิจกรรมที่เหมาะสมกับแม่ท้องทำเพลินๆ จะช่วยลดการเกิดอาการได้ทางหนึ่งค่ะ

          สำหรับคุณแม่ท้องสอง และเคยมีประวัติซึมเศร้าหลังคลอดอยู่ก่อน (postpartum depression) มีโอกาสที่จะมีอาการย้ำคิดย้ำทำเกิดขึ้นได้ง่าย และอาจมีอาการแย่ลงอย่างชัดเจนได้ค่ะ

การสังเกตอาการ

          มักมีอาการในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังอายุครรภ์ 7 เดือน ซึ่งอาการที่เป็นมากที่สุดคือรู้สึกไม่สะอาด มีการปนเปื้อน ต้องล้างทำความสะอาดอยู่บ่อย ๆ ล้างมือบ่อย ๆ

          รองลงมาคือรู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวลูกในครรภ์จะเป็นอันตราย ต้องคอยสวดมนต์ ปรึกษาคนรอบข้างแบบปรึกษาแล้วปรึกษาอีก หรือโทรปรึกษาแพทย์บ่อย ๆ ซึ่งบางครั้งนอกจากจะทำให้ตัวคุณแม่เองเกิดความกังวลแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างทำให้พลอยกังวลกันไปหมดค่ะ

          ให้คุณแม่สังเกตตัวเอง หรือให้คุณพ่อและคนรอบข้างคอยสังเกตด้วย หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้ทำการดูแลรักษาค่ะ

การรักษา

          กรณีอาการไม่มาก คุณแม่ควรหากิจกรรมทำยามว่าง เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย แต่ถ้ามีอาการและเริ่มเป็นมากขึ้นก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งการรักษาแบ่งเป็นการใช้ยา และพฤติกรรมบำบัดค่ะ

 1. พฤติกรรมบำบัด มีความสำคัญมากในคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยา

          อันดับแรก ต้องให้คุณแม่เข้าใจก่อนว่าความคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องจริง หรือความกังวลที่สมเหตุสมผลจริง ๆ แม้ไม่สามารถห้ามความคิดได้ ก็แค่ได้รู้ว่ามีความคิดนี้เกิดขึ้น แต่อย่าไปตระหนก หรือตอบสนองกับความคิดนั้นจนต้องย้ำทำอะไรต่าง ๆ นานา

          ให้เผชิญกับสิ่งนั้น อดทนและแค่รับรู้ โดยพยายามปรับระยะเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ถ้าคุณแม่ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อคิดว่าจับสิ่งสกปรก ก็ให้จับสิ่งนั้น แล้วให้รออยู่สักช่วงหนึ่ง เช่น 10-15 นาที แล้วจึงอนุญาตให้ล้างมือ จากนั้น ให้เพิ่มเวลารอการล้างมือออกไปเป็นหนึ่งชั่วโมงในที่สุด และให้เริ่มจากพฤติกรรมที่กังวลน้อยไปหามาก หากรักษาได้ผล คุณแม่จะกังวลน้อยลง จนสามารถทำกิจวัตรตามปกติได้ในที่สุด

          พฤติกรรมบำบัดนี้ได้ผลค่อนข้างดี และมักเห็นผลชัดเจนในเดือนที่ 2 หรือ 3 หลังการรักษา อีกทั้งยังพบว่าแม้หลังหยุดรักษาแล้ว ผลก็ยังคงอยู่นาน อาจเป็นเพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุที่จิตใจของคุณแม่เองค่ะ

          อย่างไรก็ตาม การรักษาจะได้ผลดีต้องอาศัยความร่วมมือของคุณแม่ และคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อ เพราะคุณแม่ต้องกลับไปฝึกพฤติกรรมบำบัดนี้ในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่บ้านด้วยตัวเอง ดังนั้น คุณพ่อจึงเป็นทั้งผู้ให้กำลังใจ ให้การรักษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นทั้งคุณครูที่คอยตั้งโจทย์ คิดแบบฝึกหัด ในแต่ละพฤติกรรมของคุณแม่ และบันทึกผลตอบรับจากการรักษานำมาแจ้งคุณหมอ เพื่อเป็นการรักษาร่วมกันกับแพทย์และทำให้ได้ผลดีด้วยค่ะ

 2. การใช้ยา มักจะใช้ในคุณแม่ที่มีอาการเยอะ

          ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มยาต้านอารมณ์เศร้า โดยค่อย ๆ ปรับเพิ่มขนาดยาจนกระทั่งควบคุมอาการได้ โดยให้กินช่วงเย็นหรือก่อนนอน ซึ่งจะเห็นผลดีขึ้นชัดเจนหลังสัปดาห์ที่ 4 ของการรักษา แต่ก็พบว่ามีโอกาสที่อาการอาจจะกลับมาหลังหยุดยาได้

          นอกจากนี้ อาจมีผลข้างเคียงของยา เช่น คลื่นไส้ มือสั่น หรือง่วงซึมได้ ส่วนผลต่อความพิการของทารกในครรภ์นั้น ยังไม่มีรายงานชัดเจน จึงพิจารณาให้ยาร่วมกับการรักษาพฤติกรรมบำบัดในคุณแม่ แต่จะต้องให้จิตแพทย์เห็นสมควรว่าต้องใช้ยาด้วย และเมื่อตอบสนองได้ดีแล้ว หรือมีผลการรักษาที่ดี อาการค่อย ๆ ดีขึ้น ก็จะปรับลดขนาดยาลงเรื่อย ๆ จนให้ยาอยู่ในระดับที่น้อยที่สุดค่ะ

          แม้โรคนี้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วย ก็ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ในคุณแม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มักมีอาการดีขึ้นชัดเจนหลังการรักษา และมักไม่รุนแรงจนเกิดภาวะซึมเศร้า ส่วนคุณแม่ที่มีความผิดปกติอยู่ก่อนนั้น หากมีการดูแลที่ดีและต่อเนื่อง ก็มักไม่กำเริบรุนแรงจนเกิดภาวะซึมเศร้า ยกเว้นมีประวัติซึมเศร้าหลังคลอดในครรภ์ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

มีผลต่อเจ้าตัวเล็กในท้องไหม?

          หากปรึกษาได้รับการรักษาจากจิตแพทย์แต่เนิ่น ๆ และได้รับความร่วมมือจากทั้งคุณแม่ คุณพ่อ และสมาชิกในครอบครัว โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD มักไม่รุนแรงจนกระทบต่อเจ้าตัวเล็กในครรภ์ค่ะ

          ส่วนกรณีที่กระทบต่อลูกได้ เช่น คุณแม่มีอาการมากจนไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ นอนไม่หลับ ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ หรือเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้

          แต่ในกรณีที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน และเริ่มเป็นในขณะตั้งครรภ์ มักไม่พบอาการรุนแรงขนาดนั้น นอกเสียจาก มีภาวะผิดปกติทางจิตอยู่ก่อนค่ะ

          คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจจะมีอาการที่เข้าข่ายย้ำคิดย้ำทำได้บ้าง แต่ถ้าทำใจให้สบาย ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ ท้องนี้ก็ปลอดภัย มีความสุขทั้งแม่และลูกค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตั้งครรภ์พร้อมโรค OCD ! อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 16:22:19 3,565 อ่าน
TOP
x close