x close

ปวดหลัง...เรื่องกวนตัวของแม่ท้อง

ตั้งครรภ์

ปวดหลัง...เรื่องกวนตัวของแม่ท้อง
(modernmom)
โดย: รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

          อาการปวดหลังในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยมาก แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงแต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้กับคุณแม่ไม่น้อย คุณแม่หลายคนพยายามรักษาอาการปวดหลังของตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมายแตกต่างกันไป หลายวิธีมีประโยชน์แต่หลายวิธีก็เสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายได้ ลองมาดูตัวอย่างคุณแม่ที่มีปัญหาปวดหลังในรูปแบบต่าง ๆ กันนะครับ

Case 1

          คุณยืนยาว อายุ 23 ปี อาชีพพนักงานขายเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้า ขณะทำงานต้องยืนทั้งวันแทบไม่ได้นั่งเลย คุณยืนยาวตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ภายหลังตั้งครรภ์ก็ยังต้องทำงานตลอดจนขณะนี้อายุครรภ์ประมาณ 9 เดือนแล้ว คุณยืนยาวเล่าให้คุณหมอที่ดูแลฟังว่าช่วงนี้มีอาการปวดหลังมากโดยเฉพาะหลังตื่นนอน แต่ก่อนหน้านี้ก็ปวดหลังเหมือนกันเพียงแต่ยังไม่มากเหมือนตอนนี้ คุณยืนยาวเคยไปซื้อยาแก้ปวดมากินเองหลายครั้งแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ระยะหลังนี้อาการเป็นมากจนแทบจะยืนไม่ค่อยไหวและต้องขอลาหยุดงานหลายครั้ง

Case 2

          คุณไหว อายุ 32 ปี อาชีพเป็นครูสอนนักเรียนชั้นมัธยมต้น ต้องยืนสอนสลับกับนั่งตรวจงานนักเรียนวันละหลายชั่วโมง ขณะตั้งครรภ์ ได้ 2 เดือนรู้สึกปวดบริเวณก้นลงมาจนถึงบริเวณน่องทั้งสองข้าง เวลาที่นั่งแล้วลุกขึ้นยืนจะปวดขาและหลังมาก พอหยุดงานประมาณ 2-3 วันอาการก็ดีขึ้น แต่พอกลับมาทำงานก็มีอาการปวดอีก ขณะตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือนอาการปวดที่ก้นและน่องดีขึ้น แต่กลับมาปวดที่สะโพกและหลังแทน บางครั้งปวดจนนอนไม่หลับเลยก็มี ไปซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเองบ้าง ไปหาหมอบ้าง บางครั้งก็ไปให้หมอนวดนวดให้ แต่อาการต่างๆ ก็ไม่ค่อยดีขึ้นเลย คุณไหวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าตั้งแต่ตั้งครรภ์มายังคงสอนหนังสือมาโดยตลอดและทำงานมากเหมือนช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์

Case 3

          คุณชวนชิม อายุ 30 ปี อาชีพขายอาหาร ต้องยืนทำอาหารให้ลูกค้าเกือบทั้งวัน มีโอกาสนั่งหรือนอนพักน้อยมาก เมื่อตั้งครรภ์ใหม่ๆ ก็สบายดี แต่ระยะนี้ซึ่งตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือนมีอาการปวดบริเวณเอวและหลังมาก โดยเฉพาะเวลาก้มหลังและบิดตัวเพื่อหยิบของต่างๆ จะยิ่งปวดมาก รับประทานยาแก้ปวดหลายชนิดแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น ช่วงระยะหลังๆ นี้ นอกจากจะปวดหลังแล้วยังมีอาการปวดน่อง และปวดขาอีกด้วย รู้สึกขาแข็งเกร็งจนแทบจะยืนไม่ได้ ยังไม่ได้ไปหาหมอเพราะไม่มีเวลา

Case 4

          คุณเกศา อายุ 29 ปี อาชีพช่างทำผม ในแต่ละวันต้องยืนทำผมวันละหลายชั่วโมง ขณะนี้ตั้งครรภ์ประมาณ 2 เดือน มีอาการปวดหลังมากไม่ว่าจะตอนยืนทำผมให้ลูกค้าหรือตื่นนอนใหม่ๆ ซื้อยาแก้ปวดมารับประทานหลายขนานแล้วก็ยังไม่หาย

Case 5

          คุณอดทน อายุ 32 ปี อาชีพพนักงานบริษัทประกันชีวิต ตั้งครรภ์แรก ชีวิตประจำวันต้องขับรถไปหาลูกค้าเป็นประจำ ขณะนี้อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน เพิ่งเริ่มรู้สึกปวดบริเวณก้นกบ ปวดหลัง และปวดเอวมากจนแทบไม่อยากขยับตัว นอกจากนี้ยังรู้สึกว่ามีตะคริวกินที่น่องตอนช่วงเย็นๆ ภายหลังกลับบ้านด้วย คุณอดทนได้ไปซื้อยาแก้ปวดมานวดและซื้อแคลเซียมมารับประทาน แต่อาการปวดหลังก็ไม่ดีขึ้นเลย

          อาการปวดหลังในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยมาก ถ้าจะกล่าวว่าเมื่อมีการตั้งครรภ์คุณแม่แทบทุกคนก็จะต้องมีอาการปวดหลังเสมอก็ไม่น่าจะผิดนักหรอกครับ อาการปวดหลังที่ว่าจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็นอายุครรภ์ อาชีพการงานที่ทำ อายุของคุณแม่ รวมทั้งนิสัยส่วนตัวบางประการของคุณแม่ด้วย ส่วนมากแล้วอาการปวดหลังเป็นเรื่องไม่รุนแรงและไม่จำเป็นต้องให้การดูแลรักษาอะไรมากนัก แต่ก็มีคุณแม่บางรายที่อาการปวดหลังเป็นมากจนคุณหมอจำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล

กระดูกและข้อกับการปวดหลัง

          กระดูกของคนเรามีมากมายหลายชิ้นประกอบกันเป็นโครงสร้างของร่างกาย กระดูกแต่ละชิ้นที่ร่วมกันทำงานไม่ได้เชื่อมต่อกันโดยตรงแต่จะยึดติดกันหรือต่อกันโดยใช้กล้ามเนื้อหรือเอ็นเป็นตัวช่วย กระดูกในบางส่วนของร่างกายที่ใช้ในการเคลื่อนไหวค่อนข้างจะไม่ยึดติดกัน เพียงแค่มาชนกันแล้วมีกล้ามเนื้อและเอ็นมายึดไม่ให้หลุดออกจากกัน เช่น กระดูกบริเวณข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า ในขณะที่กระดูกบางส่วน เช่น กระดูกสันหลังหรือกระดูกเชิงกรานที่มีการยึดติดกันแน่นหนากว่า ทำให้มีการขยับหรือเคลื่อนไหวได้น้อยกว่า การยึดกันของกระดูกสันหลังคล้ายกับการเรียงอิฐเป็นชั้น ๆ โดยระหว่างอิฐแต่ละก้อนที่เรียงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แทรกด้วยปูน อิฐแต่ก้อนก็คือกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น และปูนที่แทรกระหว่างอิฐก็คือเอ็นหรือเนื้อเยื่อที่แทรกทำหน้าที่เป็นหมอนรองกระดูกนั่นเอง ส่วนกระดูกเชิงกรานของคนเรา มีรูปร่างเหมือนกับขันน้ำที่ก้นรั่ว โดยตัวกระดูกเชิงกรานสร้างขึ้นมาจากการประกอบกันของกระดูกหลายชิ้นมายึดตืดกันแน่นโดยอาศัยเอ็นยึดกระดูก

          เมื่อมีการตั้งครรภ์ ทั้งตัวลูกในครรภ์ รก และตัวคุณแม่เองจะมีการร่วมมือกันในการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาหลายชนิดเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในหน้าที่เหล่านั้นก็คือจะทำให้ข้อต่อของกระดูกและข้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหลวมและหย่อนตัวลง กระดูกสันหลังที่เคยยึดกันแน่นก็จะหลวมขึ้นทำให้ขยับง่ายขึ้น กระดูกเชิงกรานที่เคยยึดกันแน่นก็จะคลายออก ทำให้เชิงกรานหลวมขึ้นและกระดูกมีการขยับได้เล็กน้อยเหมือนกับเราคลายน๊อตที่ยึดเหล็กหรือไม้สองชิ้นไว้ด้วยกัน การที่ร่างกายมีการปรับตัวเช่นนี้ขณะตั้งครรภ์ เชื่อว่าเพื่อให้เชิงกรานขยายตัวได้มากขึ้น จะได้ช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์คลอดออกมาได้แม้ว่าขนาดจะใหญ่ไปสักนิดก็ตาม ส่วนการที่กระดูกสันหลังหลวมขึ้น ก็เพื่อที่จะให้สามารถขยับเพื่อแอ่นหลังได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยในการปรับสมดุลในการรับน้ำหนักของมดลูกและทารกในครรภ์ที่โตขึ้นทุกวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทำไม...ปวดหลัง ?

          จากผลของกระดูกและข้อที่มีการขยายตัว หลวมขึ้น และกล้ามเนื้อหย่อนตัว หรือรวม ๆ กันทุกอย่าง ผลก็คือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็จะต้องมีการปรับตัวในการยืน เดิน ทำกิจกรรมต่างๆ ค่อนข้างมาก

          เนื่องจากข้อเข่าและข้อกระดูกสันหลังหลวมมากขึ้น แม้จะเพียงแค่ยืนเฉยๆ คุณแม่ก็จำเป็นต้องเกร็งขามากกว่าปกติ มิฉะนั้นก็อาจจะล้มได้ง่าย ๆ ผลดังกล่าวเลยทำให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อขา ทำให้ปวดขาหรือตะคริวกินขาได้ ยิ่งถ้าต้องยืนนาน ๆ การเกร็งขาก็ยิ่งต้องทำมากขึ้น ก็จะยิ่งปวดขามากขึ้นตามไปด้วย อาการปวดขาสามารถเกิดขึ้นได้แม้ตั้งครรภ์เพียงไม่กี่เดือน เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป ท้องที่โตขึ้นทุกวันก็จะทำให้คุณแม่ต้องแบกน้ำหนักมากขึ้นทุกวันเช่นเดียวกัน เนื่องจากข้อหลังมีการหลวมตัวขึ้น คุณแม่ที่ครรภ์แก่พอสมควรจึงมักจะต้องยืนหรือเดินแอ่นหลังกันโดยไม่รู้ตัว เวลาผมมองดูคุณแม่กลุ่มนี้ที่เดินมาฝากครรภ์กันเป็นกลุ่ม ๆ บางครั้งก็รู้สึกน่ารักดีนะครับเหมือนจิงโจ้แบกลูกที่ใส่ไว้ในถุงหน้าท้องอย่างไรอย่างนั้นเลยครับ การที่คุณแม่ต้องแอ่นหลังก็เพื่อป็นการปรับสมดุลของร่างกายสู้กับน้ำหนักของท้องที่โตขึ้นและทิ้งน้ำหนักไปข้างหน้า ผลของการต้องแอ่นหลังนาน ๆ ย่อมทำให้ปวดหลังอย่างแน่นอน ดังนั้นคุณแม่ที่ท้องแก่เกือบทุกรายจึงมีอาการปวดหลังเสมอโดยไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นครับ คุณแม่บางรายแม้ว่าจะตั้งครรภ์ก็ยังต้องทำงาน คุณแม่พวกนี้น่าสงสารครับ

          เพราะแค่รับน้ำหนักลูกในท้องก็หนักหนาสาหัสพอแล้ว ยิ่งมาต้องทำงานขณะตั้งครรภ์ด้วยก็จะยิ่งทำให้ปวดขาและปวดหลังมากยิ่งขึ้นไปอีก งานที่ทำให้คุณแม่ปวดหลังมากยิ่งขึ้น ส่วนมากเป็นงานที่ทำให้คุณแม่ต้องรับน้ำหนักมากขึ้นหรือรับน้ำหนักอยู่นาน ๆ เช่นงานในตัวอย่างของคนไข้ทั้งหลายที่ผมยกตัวอย่างให้ดูนั่นแหละครับ

เทคนิคบรรเทาอาการปวดหลัง

          อย่างที่ผมเรียนแล้วว่าอาการปวดหลังเป็นปัญหาที่คุณแม่เกือบทุกคนต้องประสบพบเจออยู่แล้ว จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับคุณแม่แต่ละคน เนื่องจากความแตกต่างในเรื่องของอายุ อายุครรภ์ อาชีพการงานและนิสัยส่วนตัว ซึ่งผมมีข้อแนะนำที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ในการบรรเทาอาการปวดหลังมาฝากดังนี้ครับ

          ก่อนที่จะนั่ง ยืน เดิน หรือเคลื่อนไหวประการใด ขอให้ทำด้วยความระมัดระวังเสมอ ถ้ายังคงต้องทำงานที่ต้องยืนนาน นั่งนาน หรือยกของหนัก ขอให้หาเวลาพักให้มากขึ้นกว่าตอนที่ไม่ตั้งครรภ์นะครับ

          หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ควรใส่รองเท้าที่ส้นเตี้ยๆ ถ้าจะให้ดี ควรเป็นรองเท้าที่พื้นรองเท้ามีความโค้งรับพอดีกับความโค้งของฝ่าเท้า .

          หลีกเลี่ยงการยกของหนักทุกชนิดขณะตั้งครรภ์ ควรขอร้องให้คนอื่นช่วยยกจะดีกว่า

          เวลานั่ง ควรนั่งให้หลังตรง และควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง โดยพยายามนั่งให้สะโพก ไหล่ หลังชิดพนักพิงและถ้าทำได้ ควรหาหมอนใบเล็ก ๆ มารองบริเวณบั้นเอวและต้นคอ จะทำให้สบายขึ้น

          เวลานอน ควรนอนบนที่นอนที่ไม่อ่อนนุ่มเกินไป เพราะทำให้หลังงอและปวดหลังได้ ถ้าที่นอนอ่อนนุ่มเกินไปควรเปลี่ยน หรือหากระดานแข็ง ๆ มารองระหว่างตัวสปริงกับตัวเบาะที่นอน ควรนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งโดยเอาหมอนใส่ไว้ระหว่างขาเพื่อเป็นตัวช่วยหนุนขา

          เวลายืน อย่ายืนนาน ๆ ควรสลับไปนั่งหรือนอนบ้างก็จะดี ถ้าต้องยืนนานๆ ควรยกขาข้างหนึ่งยืนบนกล่องหรือเก้าอี้รองเท้า

วิธีรักษา

          ในกรณีที่คุณแม่มีการปฎิบัติตัวอย่างถูกวิธีแล้วแต่อาการปวดหลังก็ยังไม่ดีขึ้น สิ่งที่ผมคิดว่าคุณแม่ควรจะทำก็คือการพักผ่อนที่เพียงพอโดยเฉพาะการนอนพักที่มากพอ จะช่วยให้อาการปวดหลังบรรเทาลงได้ดีกว่าสารพัดวิธีที่พยายามนำมารักษาอาการปวดหลังในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ผมดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อย พบว่าข้อแนะนำที่ว่านี้ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรหรอกครับ เพราะเป็นข้อแนะนำที่พูดง่ายแต่ทำตามได้ยาก เพราะคุณแม่ส่วนมากในปัจจุบันต้องทำงาน แม้ว่าจะอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ก็ตาม ผมเคยมีคุณแม่บางคนมาเล่าให้ฟังว่าต้องยืนขายของทั้งวันแม้ว่าจะตั้งครรภ์ก็ตาม โอกาสที่จะได้นั่งพักหรือนอนพักน้อยมาก ฟังแล้วก็สงสารแต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ถ้าเป็นไปได้อยากให้หน่วยงานของรัฐช่วยมาดูแลออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์บ้าง จะได้ไม่ปล่อยให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องทนทรมานจากการทำงานที่ต้องยืนนานหรือนั่งนาน เช่น งานขายของในห้าง งานบริการหน้าเคาน์เตอร์ ผมว่าน่าจะมีกฎให้คุณแม่เหล่านี้ได้มีเวลาพักมากขึ้น มีเก้าอี้ให้นั่งพักบ้าง หรือถ้าจะให้นอนพักเป็นบางช่วงระหว่างทำงานก็จะยิ่งวิเศษเลยครับ

          นอกจากการพักผ่อนแล้วกิจกรรมอีกประการหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะทำเป็นประจำก็คือ การออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายบ่อย ๆ ก็เหมือนกับรถที่มีการอุ่นเครื่องหรือใช้งานบ่อย ๆ เครื่องจะได้ไม่ติดขัด ส่วนจะออกกำลังกายอย่างไรได้บ้าง ผมอยากแนะนำให้คุณแม่ถามคุณหมอที่ดูแลดูนะครับ เพราะถ้าจะเขียนบรรยาย ณ ที่นี้ก็จะยืดยาวเกินไป เอาไว้ถ้ามีโอกาส ผมจะเขียนแนะนำวิธีออกกำลังกายให้ละเอียดอีกครั้งนะครับ ภายหลังการพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเพียงพอแล้ว ถ้าอาการปวดหลังของคุณแม่ยังไม่ดีขึ้น หรือดีขึ้นน้อยมาก หรือทุกข์ทรมานมากจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินเหินหรือแม้กระทั้งนอนหลับพักผ่อน อย่างนี้สงสัยต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อให้การรักษาแล้วละครับ

          การดูรักษาในคุณแม่กลุ่มนี้มีหลายวิธี เช่น การประคบร้อนหรือเย็นบริเวณที่ปวด การรับประทานยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น การใส่เครื่องช่วยพยุงท้องหรือเครื่องประคองหลัง และการทำกายภาพบำบัด ส่วนวิธีการไหนจะเหมาะกับคุณแม่คนไหน คิดว่าต้องปรึกษากับคุณหมอเป็นราย ๆ ไปครับ อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ผมดูแลคุณแม่ท้องจำนวนไม่น้อย พบว่ามีคุณแม่ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้มีน้อยมากครับ

          อาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากและไม่จำเป็นต้องให้การดูแลรักษาอะไรมากมายเลย แค่พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาการปวดหลังก็มักจะบรรเทาลงได้จนไม่ก่อให้เกิดความรำคาญหรือทรมาน แต่ถ้าอาการปวดหลังเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติอย่างอื่น เช่น มีไข้ ปัสสาวะแสบขัด หรือการปวดย้ายมาอยู่ที่บริเวณเอว นั่นแสดงว่าเป็นอาการปวดหลังที่ไม่ปกติควรรีบไปพบคุณหมอนะครับ

          ในคุณแม่ที่มีความทุกข์ทรมานจากอาการปวดหลัง ก่อนที่จะดูแลรักษาตัวเองโดยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนวด การรับประทานยาแก้ปวด ขอให้คิดให้ดีก่อนนะครับ เพราะวิธีการรักษาและยาหลายชนิดอาจไม่ปลอดภัยกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ก็ได้นะครับ ขอให้คุณแม่ทุกคนตั้งครรภ์โดยมีปัญหาปวดหลังน้อยที่สุดนะครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดหลัง...เรื่องกวนตัวของแม่ท้อง อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2555 เวลา 18:10:28 86,224 อ่าน
TOP