รู้ทันเรื่องภูมิแพ้ แบบฉบับแม่ท้อง (Mother & Care)
ป่วยโรคภูมิแพ้ มีอัตราเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ และยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้เราอยากรู้ว่าผลกระทบของโรคภูมิแพ้ในมารดาที่ตั้งครรภ์ ที่จะส่งถึงลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ดังนั้น เพื่อให้คุณแม่รู้ทันเรื่องภูมิแพ้ มีแนวทางการดูแลตัวเองทั้งก่อนตั้งครรภ์และช่วงที่ตั้งครรภ์อย่างถูกต้องเหมาะสม มาฟังข้อมูลดีๆ เรื่องนี้ จากผู้รู้ พญ.นันทิยา พิทักษ์สิทธิ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ (ภาพหมอดึงรูปจากเดือนตุลาคม ปี 53 คอลัมน์ Gmom มาใช้ค่ะ)
ที่มาของโรคภูมิแพ้ : โรคภูมิแพ้ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยา หรือไวต่อสารก่อภูมิแพ้และก่อให้เกิดอาการในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งคนปกติหากสัมผัสหรือหายใจเอาสารกระตุ้นที่พบในสิ่งแวดล้อมเข้าร่างกาย เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ หรือฝุ่นละออง ฯลฯ เมื่อร่างกายได้รับสารเหล่านี้จะไม่เกิดปัญหา แต่ผู้ป่วยภูมิแพ้จะมีอาการหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ
อาการภูมิแพ้ : ลักษณะอาการมากน้อยต่างกันไปตามแต่ละราย บางรายอาจคันตา คันจมูก คัดจมูกร่วมกับน้ำมูกใส หายใจหอบ หรือมีอาการทุกอย่างร่วมกันก็ได้ โดยมากโรคภูมิแพ้สามารถสังเกตอาการได้จากระบบอวัยวะสำคัญของร่างกายหลัก ๆ 3 ระบบค่ะ
ทางเดินหายใจ อาการที่แสดงหลักคือ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คันเพดาน หูอื้อ ไอ มีเสมหะในคอ หอบ เหนื่อยและแน่นหน้าอก บางรายอาจจะมีอาการ คันตา น้ำตาไหล ตาบวมร่วมด้วย
ผิวหนัง เช่น ผื่น คันตามผิวหนัง ลมพิษ ฯลฯ อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
ทางเดินอาหาร รายที่รุนแรง อาจพบว่า มีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว
การควบคุมอาการภูมิแพ้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จะส่งผลดีถึงช่วงตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่ไม่แน่ใจ เช่น เคยเป็นช่วงเด็ก ๆ โตขึ้นมาไม่เป็น หรือมีอาการดังกล่าวนิดหน่อย ไม่แน่ใจว่าใช่ภูมิแพ้หรือไม่ควรขอคำแนะนำหรือปรึกษาคุณหมอ นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิแพ้หลายวิธี เป็นข้อมูลประกอบการดูแลที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
ร่างกายแพ้อะไรได้บ้าง
แพ้สารก่อภูมิแพ้ : สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ อาจเกิดจากการสัมผัสผ่านทางผิวหนัง สูดดมผ่านทางเดินหายใจ หรือผ่านทางระบบทางเดินอาหาร เมื่อสารก่อภูมิแพ้สัมผัสกับเยื่อบุของร่างกาย ร่างกายจะปล่อยสารที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ออกมา ทำให้เกิดอาการ มาทำความรู้จักกับสารกระตุ้น ตัวการที่ก่อให้เกิดอาการ ไรฝุ่น มักอยู่บริเวณที่นอน, ปลอกหมอน, ผ้าห่ม, ผ้าม่าน, พรม, ตุ๊กตา หรือหนังสือในบ้านโดยเฉพาะในห้องนอน สัตว์เลี้ยง ขนและน้ำลายของแมวหรือสุนัข พบได้ตามเฟอร์นิเจอร์ บุนวม พรม และผ้าม่าน รวมทั้งทั่วบริเวณบ้านโดยเฉพาะบ้านที่เลี้ยงสัตว์นั้น ๆ ภายในบ้าน ซากแมลงสาบ เป็นพาหะ แหล่งเพาะเชื้อโรคมากมาย พบตามบริเวณที่อับชื้นภายในบ้านหรือใกล้บริเวณที่มีน้ำและอาหาร เศษขยะ ละอองเกสร,หญ้า สามารถปลิวมาตามลมได้ และสามารถเข้ามาภายในบ้าน แม้ในบริเวณบ้านจะไม่มีหญ้าหรือพืชนั้น ๆ เลย เมื่อมีการสัมผัสก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
แพ้สารระคายเคือง : นอกจากสารก่อภูมิแพ้แล้ว ระบบประสาทการรับรู้ยังรับรู้ได้ไวกับสารระคายเคืองบางประเภท เช่น ควันบุหรี่ ควันธูปเขม่า, ควันท่อไอเสียรถยนต์, น้ำหอม, กลิ่นฉุน หรือการที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดอาการได้ ทำให้มีลักษณะอาการคล้ายกับสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่กล่าวข้างต้น แพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล พบว่า โปรตีนของอาหารทะเลเหล่านี้ เมื่อผ่านผนังลำไส้ จะเกิดปฏิกิริยากับร่างกาย ทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน
แม่ท้องและลูกน้อยอันตรายหรือไม่?
โรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อคุณแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นได้เช่นกัน (ต้องดูประวัติครอบครัวประกอบ) อีกส่วนคือสภาวะแวดล้อม ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ ดังนั้น การป้องกันที่ได้ผลดีคือ เมื่อคุณแม่รู้ว่า แพ้สารกระตุ้นชนิดใด หลีกเลี่ยงสารกระตุ้นภูมิแพ้นั้น แต่ถ้าไม่แน่ใจคุณแม่สามารถเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้แพทย์เฉพาะทาง จะช่วยให้คุณแม่หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ หากสงสัยว่าลูกน้อยจะได้รับผลกระทบจากอาการภูมิแพ้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพื่อตรวจสอบประวัติของคุณแม่และครอบครัว ทราบถึงความเสี่ยงต่อภูมิแพ้และการดูแลตนเอง โดยทั่วไปอาการของโรคภูมิแพ้ไม่ได้มีผลต่อทารกมากนัก แต่ต้องการเน้นถึงผลข้างเคียงของยาภูมิแพ้ที่ใช้อยู่ ซึ่งอาจมีผลกับทารกในครรภ์ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์
ดูแลตัวเองก่อนตั้งครรภ์ : กรณีคุณแม่เป็นภูมิแพ้มาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อรับคำแนะนำ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยา แต่ถ้ามีการใช้ยาประจำอยู่แล้วต้องแจ้งประวัติอาการและยาภูมิแพ้ที่ใช้อยู่ให้คุณหมอทราบ เนื่องจากยาบางชนิดที่รักษาอาการภูมิแพ้ อาจเป็นอันตราย มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจงดหรือต้องมีการปรับยาบางชนิดในช่วงตั้งครรภ์นั่นเอง
ขณะตั้งครรภ์ : โรคภูมิแพ้เกิดจากปัจจัยหลัก ๆ 2 เรื่อง คือกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นเหตุ ในส่วนเรื่องกรรมพันธุ์คุณแม่ไม่สามารถเปลี่ยนกรรมพันธุ์ให้กับลูกได้ แต่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูก เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ หรือทำให้อาการทุเลาลงได้ ยิ่งคุณแม่เวิร์กกิ้งมัมที่ทำงานในห้องแอร์ หรือออกไปทำงานนอกบ้าน มีโอกาสเสี่ยงที่จะสัมผัสสารกระตุ้น ให้เกิดอาการของโรคได้ง่าย ๆ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว การปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ด้วยวิธีเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงค่ะ
ดูแลสภาพแวดล้อม : ทำความสะอาด ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ทุก 1-2 สัปดาห์
ดูแลเรื่องความสะอาด : มีถุงขยะและเศษอาหารต้องปิดปากถุงและเก็บทิ้งทุกวัน
ถ้ามีสัตว์เลี้ยง ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้าน หรือใช้เครื่องฟอกอากาศ ภายในบ้าน
บริเวณสนามหญ้า อาจต้องตัดหญ้าและวัชพืชบ่อย ๆ เพื่อลดจำนวนเกสร หรือละอองหญ้า
การทำให้ห้องนอนมีอากาศถ่ายเท แสงแดดส่องถึง ก็ช่วยลดความเสี่ยงอาการภูมิแพ้ของคุณแม่
ควรกินให้หลากหลาย ครบหลัก 5 หมู่ ไม่กินอาหารชนิดใดมากกว่าปกติ หรือมากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ จะได้ไม่เพิ่มความเสี่ยงเรื่องภูมิแพ้ของลูกน้อย เช่น แพ้โปรตีนนมวัว ฯลฯ แพ้ไข่ เป็นต้น
ลดอาการ : ไม่ว่าคุณแม่จะเป็นโรคภูมิแพ้แบบไหน ก็ควรหลีกเลี่ยงสารที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการนั้น ๆ เช่น ฝุ่นละออง, สัตว์เลี้ยง หรือละอองเกสรหญ้า ฯลฯ
ช่วงฤดูที่มีละอองเกสรปลิวมากในอากาศ การอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศจะช่วยให้คุณรู้สึกดีกว่าอยู่ภายนอก
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก ช่วยลดการสัมผัสสารกระตุ้นต่างๆ ลดอาการระคายเคือง และลดการใช้ยาภูมิแพ้ ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ค่ะ
หลังคลอด : ให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้
ถ้ามีอุปสรรคเรื่องนมแม่ การเลือกนมผงสูตรสำหรับป้องกันเรื่องภูมิแพ้ หรือปรึกษากุมารแพทย์
ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา ก่อนใช้ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอในรายที่ให้นมแม่ค่ะ
รู้จักยารักษาภูมิแพ้ น้ำเกลือล้างจมูก เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่อันตราย ไม่แพง และใช้ล้างจมูกได้บ่อยเท่าที่ต้องการ โดยมีทั้งแบบพ่นเข้าจมูก, แบบใช้ขวดหรือหลอดฉีดยาพลาสติกฉีดน้ำเกลือล้างจมูกโดยตรง ก็จะทำให้จมูก หรือการหายใจโล่งขึ้น ยาแก้แพ้กลุ่ม anti-histamine บางชนิดสามารถใช้ได้ในขณะตั้งครรภ์ เช่น Chlorpheniramine, Claritine, Zyrtec แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับอายุครรภ์สำหรับยาแต่ละตัว
และมียาในกลุ่มนี้บางชนิดควรหลีกเลี่ยง ยาลดอาการบวม ลดอาการแน่นจมูก ชนิดรับประทานที่มี Pseudoephredine เป็นส่วนประกอบ ไม่แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทาน เพราะถ้าใช้ช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ อาจทำให้ลูกมีผนังหน้าท้องโหว่ได้ ยาพ่นจมูก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเป็นชนิดที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เช่น Budesonide nasal spray จะมีความปลอดภัยชัดเจน
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ วัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) ควรทำก่อนตั้งครรภ์ ควรเลี่ยงที่จะเริ่มทำขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาการแพ้รุนแรง ส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก