เรื่องต้องรู้เมื่อตั้งครรภ์ที่ 2



เรื่องต้องรู้เมื่อตั้งครรภ์ที่ 2
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : ณ ลันตา

          สำหรับครอบครัวที่อยากมีลูกหลาย ๆ คน หลายครอบครัวเลือกที่จะรอให้ลูกคนโตเข้าอนุบาลเสียก่อน แล้วค่อยมีน้องให้เค้า ด้วยเหตุผลที่ว่า น่าจะคุยกันรู้เรื่องแล้ว และลูกคนพี่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้วคุณพ่อคุณแม่จะได้เหนื่อยน้อยหน่อย แต่หลายครอบครัวเลือกที่จะมีลูกติด ๆ กันไปเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า จะได้เหนื่อยทีเดียว

          ไม่ว่าครอบครัวของคุณจะวางแผนการมีลูกไว้แบบไหน การดูแลครรภ์ยังเป็นสิ่งที่ต้องเอาใจใส่อยู่เสมอ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ที่ 2 ขณะที่ลูกคนโตยังไม่ครบขวบนั้น ยิ่งต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ อย่าคิดว่าท้องแรกผ่านพ้นมาด้วยดีแล้ว ท้องที่ 2 ทุกอย่างจะง่ายขึ้นนะคะ

ฝากครรภ์ครั้งใหม่กับคุณหมอคนเดิม

          ถึงจะเป็นการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ แต่ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรเลือกฝากครรภ์กับแพทย์คนเดิมค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ครรภ์แรกมีภาวะที่ต้องดูแลเป็นพิเศษอย่างมีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ หรือเรื่องอื่น ๆ เพราะแพทย์จะทราบประวัติของคุณแม่อยู่แล้ว จะได้มีแนวทางในการดูแลครรภ์นี้ได้อย่างเหมาะสม

ระวังเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

          คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หลังจากคลอดลูกได้ไม่นาน ต้องใส่ใจเรื่องน้ำหนักตัวมากกว่าครรภ์แรกค่ะ ยิ่งถ้าหลังคลอดน้ำหนักยังไม่ทันลง แล้วตั้งครรภ์ใหม่ยิ่งต้องระวัง เพราะระหว่างตั้งครรภ์ใหม่นี้ หากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก เท่ากับว่าน้ำหนักตัวของคุณจะเพิ่มขึ้นเยอะกว่าท้องแรก โอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็จะมากขึ้นไปด้วย

          แต่ถึงจะต้องระวังเรื่องน้ำหนักตัว ก็ยังต้องรับประทานอาหารให้ครบถ้วนนะคะ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ เพียงพบสำหรับทั้งตัวคุณและลูก ดังนั้น ไม่ควรควบคุมน้ำหนักด้วย การอดอาหรมื้อหลัก เปลี่ยนมางดขนมหวาน อาหารจุบจิบ แล้วหันมารับประทานผัก ผลไม้ และนมสูตรสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีสารอาหารครบถ้วนดีกว่าค่ะ

ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ยังให้นมแม่กับลูกอยู่

          ถ้าลูกคนโตยังดูดนมแม่อยู่ คุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าระหว่างให้ลูกดูดนมนั้น คุณรู้สึกมีอาการมดลูกบีบรัดตัวหรือเปล่า โดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอด ไม่ควรให้ลูกดูดนมแม่หรือแม้กระทั่งการปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกก็ไม่ควรทำค่ะ เพราะการให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมอาจกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) มากขึ้น ซึ่งในยามปกติฮอร์โมนนี้จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมมาก แต่เพราะฮอร์โมนนี้มีส่วนทำให้ทำให้มดลูกบีบตัว หากมีฮอร์โมนนี้มากในระยะใกล้คลอด อาจทำให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้

ฝึกลูกให้อยู่กับคนอื่นบ้าง

          เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในทุก ๆ ด้าน นอกจากเรื่องการดูแลตัวเองแล้ว ก่อนที่คุณจะไปคลอดลูกคนใหม่นั้น ควรเปิดโอกาสให้ลูกคนโตได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับญาติพี่น้องบ่อย ๆ โดยอาจชวนคุณย่า คุณยาย มาพักที่บ้าน ให้มาช่วยดูแลหลาน เพื่อให้คุณย่า คุณยาย และหลานได้คุ้นเคยกัน เวลาคุณไปคลอดลูกคนพี่จะได้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไม่มีปัญหา

          หรือถ้าคิดจะหาพี่เลี้ยงให้ลูกก็ควรเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อที่ลูกจะได้มีเวลาปรับตัว และคุณควรจะอธิบายให้ลูกฟังบ่อย ๆ ว่าระหว่างที่คุณไปคลอดน้องเขาจะต้องอยู่กับพี่เลี้ยง เขาจะได้ไม่เข้าใจผิดไปว่า คุณแม่รักน้องมากกว่าเลยปล่อยให้เขาไปอยู่กับคนอื่น

          คนที่จะมีบทบาทสำคัญอีกคนในยามที่คุณไปคลอดนั้นก็คือคุณพ่อของเจ้าตัวเล็กนั่นเอง ถ้าเขายังไม่คุ้นกับการดูแลลูกอย่าง เรื่องอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือป้อนข้าวให้ลูกล่ะก็ ต้องฝึกให้ชำนาญค่ะ เพราะคนที่จะดูแลใกล้ชิดและมีความผูกพันกับลูกรองจากแม่ก็คือพ่อนี่ล่ะ

          ดังนั้น ควรปล่อยให้ให้พ่อลูกได้อยู่ด้วยกันตามลำพังบ่อย ๆ ให้เขาได้ดูแลลูกบ้าง บางอย่างถ้าคุณพ่อยังทำให้ไม่ดี ก็อย่างเพิ่งใจร้อนรีบเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าคุณทำให้ซะหมดทุกอย่างแล้วเมื่อไหร่จะชำนาญ ปล่อยให้พ่อลูกได้ดูแลกันไปสักพัก ไม่ช้าคุณพ่อมือใหม่จะกลายเป็นคุณพ่อมือโปรได้ค่ะ

อุ้มลูกให้น้อยลง

          อย่างที่รู้กันว่าการยกของหนัก ๆ เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับคนท้อง การอุ้มลูกก็ต้องระวังเช่นกันค่ะ คุณแม่อาจอุ้มลูกคนพี่ได้น้อยลงและต้องอุ้มด้วยความระมัดระวังมากขึ้น หากคุณไม่สบายใจที่อุ้มลูกได้น้อยลง ลองหากิจกรรมอย่างอื่นมาทำร่วมกันลูกดูสิคะ กอดลูกบ่อย ๆ ร้องเพลง เล่านิทานให้ลูกฟัง เล่นเกมสนุก ๆ ร่วมกัน แค่นี้ความสัมพันธ์ของคุณและลูกก็แนบแน่นไม่ต่างจากเดิมแล้วล่ะค่ะ แต่ระหว่างที่เล่นกับลูกต้องระวังอย่าให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณหน้าท้องนะคะ

เตรียมรับอาการอิจฉาน้อง

          เด็กอายุ 1-2 ขวบ จะหวงพ่อแม่มากค่ะ อาการอิจฉาน้อง จึงเป็นสิ่งที่คุณต้องเผชิญ เด็กวัยนี้ต้องการให้พ่อแม่เป็นของเค้าคนเดียวค่ะ ก็ขนาดของเล่นเค้ายังหวงเลย แล้วคนที่เค้ารักที่สุดจะไม่หวงได้อย่างไร ลูกวัยนี้เขาเริ่มทำอะไรด้วยตัวเองได้แล้ว ทั้งพูดเก่ง เดินคล่อง และใช้มือเก่งเป็นที่สุด เค้าจึงเรียกร้องความสนใจจากคุณได้มากขึ้น หากคุณไม่ใส่ใจความรู้สึกเล็ก ๆ นี้ เค้าก็อาจจะโกรธคุณและอิจฉาน้องได้

          ดังนั้น สิ่งไหนที่คุณเคยทำร่วมกับเค้า อย่าง เล่นนิทาน เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ ไปเดินเล่น ก็ควรหาเวลาทำกิจกรรมนั้นร่วมกับเขาให้บ่อยที่สุด เขาจะได้ไม่รู้สึกว่าน้องมาแย่งความสำคัญของเขาไปจนหมด

          แต่โดยปกติเด็ก ๆ นั้นมักเอ็นดูเด็กที่เล็กกว่าอยู่แล้ว เชื่อว่าความรักความอบอุ่นที่เค้าได้จากทุกคนในครอบครัวจะทำให้พี่รักน้องได้ไม่ยากค่ะ

          และยิ่งถ้าคุณแม่เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นแม่ลูกสอง ตั้งแต่เริ่มครรภ์ครั้งใหม่ด้วยแล้วล่ะก็ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดีค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องต้องรู้เมื่อตั้งครรภ์ที่ 2 อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2558 เวลา 15:37:25 20,630 อ่าน
TOP
x close