ท้องผูก หลังคลอด! (รักลูก)
อาการท้องผูกมักเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด หากปล่อยไว้นานอาจเสี่ยงโรคริดสีดวงทวารหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะยาวได้ คุณแม่จึงควรเริ่มปรับตัวไม่ให้มีอาการท้องผูกตั้งแต่ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ
สาเหตุ...ท้องผูกหลังคลอด
อาการท้องผูกหลังคลอดสามารถแบ่งได้ 3 ข้อ ค่ะ
กลั้นอุจจาระเป็นประจำ หากไม่ฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นปกติทุกวัน การกลั้นอุจจาระถือเป็นสาเหตุหนึ่งค่ะที่ทำให้คุณแม่ท้องผูกได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องฝึกการถ่ายให้เป็นเวลา และช่วงเวลาถ่ายที่ดีที่สุดคือช่วงหลังอาหาร เพราะช่วงนี้จะมีการกระตุ้นให้กระเพาะเกิดการย่อย ลำไส้มีการเคลื่อนไหว และดูดซึมได้ดีมากขึ้น การขับถ่ายก็จะเป็นไปอย่างสะดวกค่ะ
เจ็บแผลหลังคลอด หลังคลอดคุณแม่จะกังวลเรื่องแผลคลอด สำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอดจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง ซึ่งมีผลในการถ่ายอุจจาระ เพราะต้องแบ่งที่หน้าท้อง เมื่อออกแรงมากก็จะทำให้เจ็บแผล นอกจากนี้คุณแม่หลายคนกลัวว่าแผลจะแยก สกปรก หรือติดเชื้อได้หากถ่ายบ่อย จริง ๆ แล้ว คุณแม่สามารถถ่ายได้ตามปกติค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าอุจจาระจะเข้าไปทำให้ติดเชื้อ เพราะบริเวณปากช่องคลอดจะมีเส้นเลือดอยู่เยอะมาก และมีความต้านทานต่อเชื้อโรคค่ะ
อ่อนเพลียหลังคลอด คุณแม่บางคนได้รับยาสลบจากการคลอดจึงมีอาการอ่อนเพลีย เคลื่อนไหวไม่สะดวก ทำให้ไม่อยากถ่าย ที่สำคัญคือหน้าท้องหลังคลอดยังบีบตัวได้ไม่ดี แรงแบ่งจากกล้ามเนื้อท้องยังไม่เต็มที่ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท้องผูกได้
ยาต้องห้าม...เมื่อท้องผูก
มียาบางชนิดที่คุณแม่หลังคลอดที่มีอาการท้องผูกไม่ควรกินนะคะ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ไอ เพราะยาเหล่านี้ จะมีตัวยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อบีบตัว กล้ามเนื้อไม่คลายตัว จึงยิ่งทำให้ถ่ายยากหรือทำให้ท้องผูกรุนแรงมากขึ้น
ท้องผูกเสี่ยงโรค
เสี่ยง..ความดันโลหิตสูง ถ้าคุณแม่ไม่มีการปรับตัวเรื่องการขับถ่ายให้เป็นประจำสม่ำเสมอตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และช่วงหลังคลอดปล่อยให้มีอาการท้องผูก จนกลายเป็นท้องผูกเรื้อรังในระยะยาว อาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงได้ค่ะ เพราะเวลาแบ่งมาก ๆ จะส่งผลไปถึงการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดที่ผิดปกติได้
เสี่ยง...โรคเครียด ความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวจากอาการท้องผูกร่วมกับความกังวลต่างๆ ในช่วงหลังคลอด อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อภาวะเครียดได้
เสี่ยง...ริดสีดวงทวาร คุณแม่หลังคลอดใหม่ ๆ ที่มีอาการท้องผูกจะนำไปสู่โรคริดสีดวงทวารได้ เพราะถ้าเราแบ่งนาน เส้นเลือดที่ขอดอยู่บริเวณทวารหนักจะถูกมดลูกกดทับ และปูดออกมา ถ้าเราเบ่งอย่างรุนแรงก็จะทำให้ริดสีดวงทวารแตกจนมีเลือดออกมา และอาจเป็นมะเร็งลำไส้เล็กได้ในที่สุด
ท้องผูกป้องกันได้
1.ควรป้องกันตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะการตั้งครรภ์มักจะมีอาการท้องผูกเกิดขึ้นอยู่แล้ว หากคุณแม่ฝึกการขับถ่ายให้เป็นปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ หลังคลอดก็จะสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น
2.ทานผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีกากใยเป็นประจำระหว่างการตั้งครรภ์ และดื่มน้ำเยอะๆ จะช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น เพราะกากใย เหล่านี้จะช่วยกระตุ้นได้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวและบีบตัวได้ดีขึ้น
3.ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุของครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ เช่น ทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายให้เหมาะสมตามที่คุณหมอแนะนำ ก็จะช่วยให้คุณแม่อารมณ์ดี มีสุขภาพแข็งแรง มีการไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น ลูกในท้องก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยค่ะ
4.พักผ่อนให้เพียงพอ หากเราพักผ่อนเพียงพอในแต่ละวัน ก็จะไม่ส่งผลต่อความเครียดค่ะ เมื่อไม่เครียด ระบบขับถ่าย และการทำงานของร่างกายก็จะมีความสมดุลมากขึ้น
5.หากคุณแม่มีอาการห้องผูกเรื้อรัง อาจต้องใช้ยาระบายช่วยในการขับถ่ายค่ะ เช่น ยาระบายที่ไม่ไปกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวหรือยาระบายที่ได้มาจากกากใยธรรมชาติ แต่ไม่ควรทานยาระบายเป็นประจำควรฝึกขับถ่ายให้เป็นธรรมชาติดีที่สุดค่ะ
ท้องผูกเป็นภาวะที่แก้ไขได้ค่ะ แต่ให้คุณแม่ต้องตระหนักว่าอาการท้องผูกมีผลระยะยาว จะต้องฝึกการถ่ายให้ปกติ สม่ำเสมอ และไม่ลืมถ่ายทอดนิสัยการขับถ่ายที่ดีให้กับลูกของเราด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 345 ตุลาคม 2554