วันนี้ แม่ท้องคิดบวก แล้วหรือยัง? (Mother & Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง
การเป็นว่าที่คุณแม่มือใหม่ แน่นอนว่าต้องมีความสงสัย ความกังวล ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงตลอด 9 เดือน คุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกเครียด วิตกกังวลเกินไป ฉบับนี้เรานำเสนอวิธีคลายความวิตกกังวลด้วยการเป็นคุณแม่ คิดบวก แล้วการคิดบวกช่วยได้อย่างไรติดตามกันเลยค่ะ
1.เดือนที่ 1
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ร่างกาจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ซึ่งสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน จึงส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย เมื่อยล้า, คลื่นไส้, เวียนศีรษะ, ตึงคัดเต้านม ปัสสาวะบ่อยครั้ง บางคนมีหลายๆ อาการเกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงนี้
Positive Thinking
อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนค่ะ ว่านี่คืออาการ "ปกติ" ที่เกิดกับหญิงตั้งครรภ์ การที่คุณรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ฯลฯ เกิดจากภายในร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดแรงขึ้น เตรียมพร้อมกับการรองรับลูกน้อยที่ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น
การปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังอย่างเหมาะสม ไม่เครียด สร้างความรู้สึกเป็นสุขที่ได้ตั้งครรภ์ เพราะเมื่อคุณรู้สึกดี ลูกน้อยในครรภ์รับรู้ ได้รับสิ่งดี ๆ จากคุณ ที่สำคัญคิดถึงเรื่องนี้เสมอ ๆ ด้วยค่ะ
2. เดือนที่ 2
คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านอาจมีอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย (คล้ายภาวะก่อนมีประจำเดือน) กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด รำคาญ จนถึงอาการใจน้อยง่ายแบบไม่มีเหตุ เอาแต่ใจตัวเอง บางคนมีอาการมากอาจอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ซึมเศร้า อ่อนไหวง่ายและร้องไห้แบบไร้เหตุผลร่วมกับความกังวล ความสับสนในเรื่องการตั้งครรภ์
Positive Thinking
ความรู้สึกทางอารมณ์ที่หลากหลายเหล่านี้จะลดลงและหายไปเองหลังช่วง 2-3 เดือนนี้ไปแล้ว หลักการคิดดี คิดบวก เพื่อทางออกทุกสถานการณ์ที่เกิดกับคุณยังใช้ได้ตลอดค่ะ เช่น เมื่อรู้สึกหงุดหงิด หรือโมโห ก็ต้องใจเย็น หากิจกรรม สิ่งที่คุณทำแล้วรู้สึกดี เช่น ฟังเพลง ดูหนังที่ชอบก็ได้ คุณจะได้ไม่จดจ่อกับอารมณ์นั้น ๆ นานนัก ยิ่งได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้สึกหรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นสามี ญาติ เพื่อนสนิท หรือคุณหมอที่คุณไปฝากครรภ์ จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
3. เดือนที่ 3
คุณแม่ที่ยังไม่พร้อม ปรับตัวยาก กังวลเรื่องการตั้งครรภ์ เพราะยังรู้สึกว่าต้องห่างจากสามี, เพื่อนร่วมงาน เมื่อรวมกับอาการอื่น ๆ เช่น ความอ่อนล้า รู้สึกไม่สบายตัวในช่วงที่ตั้งครรภ์ ก็อาจส่งผลทำให้คุณไม่มีสมาธิในการทำงาน หลง ๆ ลืม ๆ เกิดอาการเครียดได้ และเมื่อเริ่มปรับตัวได้แล้ว คุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา
Positive Thinking
การตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจทำให้คุณแม่หลายคนกังวล คิดไปต่าง ๆ นานา ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดไปทางลบ กังวลสุขภาพตัวเอง กังวลสุขภาพลูกในครรภ์ ซึ่งอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่แต่ละท่านนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นการตั้งรับกับเรื่องนี้ คือต้องใจเย็น อดทนกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ คอยสังเกต และหาความรู้ที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ และมีสติกับการจัดการปัญหาทุกขณะค่ะ
4. เดือนที่ 4
พอถึงช่วงนี้คุณจะรู้สึกดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะเรียนรู้ถึงการปฏิบัติตัวของหญิงตั้งครรภ์ปรับอารมณ์ได้มากขึ้น อาการที่เคยทำให้ไม่สบายตัว เช่น อาการแพ้ท้องก็จะน้อยลงมีความสุขกับการตั้งครรภ์มากขึ้น กินอาหารได้มากขึ้น
Positive Thinking
หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่ก็อยากให้คุณสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกที่ เป็นลบ เช่น อากาศที่ไม่ปลอดโปร่งภายในบ้าน หรือเสียงรบกวนที่ดังเกินไป ทำให้หงุดหงิดได้ง่ายๆ ฉะนั้น อย่ามองข้ามเรื่องนี้นะคะ พยายามจัดบรรยากาศในบ้านอย่างที่ตนเองชอบอยู่แล้วรู้สึกสบาย
5. เดือนที่ 5
คุณแม่สมัยนี้ ถึงเป็นแม่ท้องก็ยังห่วงเรื่องความสวย ฉะนั้น เมื่อเกิดอาการปัญหาเรื่องผิวพรรณขึ้น เช่น รอยคล้ำใต้ตา รักแร้ หน้าท้องลาย ฯลฯ จึงทำให้บรรดาแม่ ๆ กังวลใจไม่แพ้เรื่องลูก และหลายคนก็กำลังประสบอยู่กังวลว่าหลังคลอดจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่เรื่องนี้มีคำตอบค่ะ
Positive Thinking
รอยคล้ำต่าง ๆ ที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ รวมทั้งเรื่องสิว ฝ้า นั้นเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน กระตุ้นให้เซลล์เม็ดสีทำงานมากขึ้นบางบริเวณเห็นขัดถึงความเปลี่ยน เช่น รักแร้ได้คอ ลานหัวนม วิธีที่ช่วยได้ คือหมั่นออกกำลังกาย เพื่อยืดกล้ามเนื้อแต่ละส่วนของร่างกาย เมื่อคลอดแล้วรอยคล้ำต่างๆ ก็จะหายไปส่วนเรื่องหน้าท้องลายนั้น ไม่ต้องกังวลมากเกินไปนัก เพราะเรื่องท้องลายอยู่ที่สภาพผิวของแต่ละคนจะช่วยได้บ้างคือ ให้ทาโลชั่นถนอมผิวตั้งแต่ครรภ์ยังอ่อน ๆ
6. เดือนที่ 6
นอกจากรูปร่างจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเห็นได้ชัด เช่น หน้าอกขยายใหญ่ ท้องเริ่มนูนเห็นได้ชัด น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลให้คุณเกิดอาการอ่อนเพลียหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อย เป็นลมได้บ่อย
Positive Thinking
ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เดินเล่นในเวลาที่อากาศดีๆ แกว่งแขน เดินช้าๆ หรือเดินในน้ำระดับหน้าอก โยคะ (มีผู้เชี่ยวชายแนะนำ) ออกกำลังกายอย่างที่ตัวเองชอบ ก็จะช่วยผ่อนคลายอาการเมื่อยล้าได้เป็นอย่างดี และยังทำให้คุณแม่สดชื่นอีกด้วยค่ะ
7. เดือนที่ 7
แม่หลายคนกังวลกับบทบาทการเป็นแม่ เช่น กลัวว่าจะเลี้ยงลูกไม่ดี กังวลกับการเตรียมตัวเพื่อเลี้ยงลูก และการกลับไปทำงานช่วงหลังคลอด สารพันคำถามเหล่านี้ มีผลไม่น้อยกับความรู้ของแม่เราจึงมีข้อมูล วิธีการคิดบวกมาบอก
Positive Thinking
การเลี้ยงลูกถึงไม่ใช่งานง่าย แต่คุณแม่ทั่วโลกสามารถผ่านด่านตรงนี้มาได้ เพียงแต่คุณแม่ต้องวางแผน เตรียมมองหาพี่เลี้ยงหรือคนช่วยดูแล ตามความเหมาะสมของครอบครัว จะช่วยให้คุณไม่ต้องกังวลกับเรื่องลูกมากเกินไปช่วงหลังคลอด การหาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด คุณแม่ที่มีประสบการณ์ หนังสือ คู่มือต่าง ๆ ไม่ต้องกังวล หรือนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมากเกินไปนัก
8. เดือนที่ 8
ไตรมาสสุดท้ายจองการตั้งครรภ์ มักพบว่า คุณแม่พรั่งพรูไปด้วยคำถาม ข้อสงสัย เช่น ความปลอดภัยในการคลอด การเตรียมตัวของแม่ และความสมบูรณ์ของลูกน้อยหลังคลอด เป็นความกังวลใจที่อาจทำให้เกิดอาการเครียดกันเลยก็มี
Positive Thinking
วิธีจัดการความรู้สึกช่วงนี้ คือ การเตรียมความพร้อมความเข้าใจในเรื่องการคลอด อาจจะเข้าคอร์สอบรมตามโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีการจัดขึ้นมาเพื่อคุณแม่โดยเฉพาะ คุณจะได้จินตนาการออกว่าจะเกิดอะไร อย่างไรบ้าง ที่สำคัญ ช่วยลดความกังวลที่มีอยู่ให้คุณรู้สึกดีขึ้น และควบคุมตัวเองได้อย่างมั่นใจ
9. เดือนที่ 9
ถึงช่วงเวลาที่คุณนับถอยหลังเฝ้ารอพบลูกน้อยก็ว่าได้ เรียกว่าเป็นความรู้สึกตื่นเต้น ที่เจือปนด้วยความกังวลอย่างบอกไม่ถูกไปพร้อมๆ กัน เรามีวิธีผ่อนคลายความกังวลมาฝากค่ะ
Positive Thinking
ถ้ารู้สึกตื่นเต้น กังวลมาก ๆ อาจชวนคุณพ่อมาเช็กลิสต์ สิ่งของเครื่องใช้จำเป็นของคุณและลูก แล้วก็ให้คุณพ่อเป็นผู้ช่วย จัดเตรียมกับเรื่องนี้คุณแม่จะได้สบายใจ ได้กำลังใจดี ๆ จากคุณพ่ออีกด้วย และจากนี้ต่อไป ขอให้คุณมีความสุขกับการเป็นคุณแม่ให้ลูกน้อยรับรู้ความสุขพลังด้านบวกของคุณค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.81 กันยายน 2554