แม่ท้องต้องระวัง 8 อันตราย! (รักลูก)
โดย : ก้านแก้ว
คุณแม่ที่อายุครรภ์อยู่ในไตรมาสสุดท้ายการเดินเร็วๆ หรือเคลื่อนไหวเร็วๆ ทำให้ลูกที่ลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำกระทบกับผนังมดลูกในท้อง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้อง และหากมดลูกเกิดการบีบตัวมากๆ ลูกอาจคลอดก่อนกำหนดได้
ประสาทหูของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงยังไม่สามารถฟังเสียงที่ดังเกินไป และด้วยพื้นที่ในท้องของคุณแม่ที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ ลูกน้อยจึงไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงเสียงเหล่านั้นได้ เด็กอาจจะเกิดความเครียด ส่งผลต่อการถดถอยของพัฒนาการได้
เรื่องพื้นฐานทั่ว ๆ ไป ในชีวิตประจำวันของคุณแม่ท้อง อาจนำอันตรายมาสู่คุณแม่และลูกน้อยในท้องได้แบบคาดไม่ถึงเลยล่ะค่ะ โดยเฉพาะ 8 เรื่องต่อไปนี้
1.กินเร็ว
การที่คุณแม่กินเร็วนั่นหมายถึงได้เคี้ยวน้อยลง อาหารที่คุณแม่กลืนลงกระเพาะจึงเป็นอาหารที่ยังไม่ละเอียดคุณแม่ที่กินเร็วเกินไป จะทำให้แน่นจุกเสียดท้องได้ง่าย เพราะพื้นที่ของกระเพาะอาหารมีน้อยจึงต้องทำงานหนักในการย่อยอาหารต้องใช้เวลานานกว่าปกติ ทำให้อาหารตกค้างในกระเพาะอาหารนานขึ้น ส่งผลให้ท้องอืดและหากมีอาหารค้างอยู่ในลำไส้ เมื่อถึงมื้อต่อไปคุณแม่ก็จะไม่รู้สึกหิว ยิ่งท้องอืดมากๆ จะส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลง ลูกในท้องก็จะได้รับสารอาหารน้อยลง เพราะการดูดซึมสารอาหารของคุณแม่ทำได้ไม่ดี ดังนั้นควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกครั้ง และไม่ต้องกินจนอิ่มเกินไปค่ะ
2.เดินเร็ว เคลื่อนไหวเร็ว
ถ้าเป็นคุณแม่ที่อายุครรภ์น้อย ๆ คงไม่เป็นอันตรายอะไร แต่หากเป็นคุณแม่ที่อายุครรภ์อยู่ในไตรมาสสุดท้ายการเดินเร็ว ๆ อาจทำให้ลูกคลอดก่อนกำหนดได้ เพราะขณะที่คุณแม่เคลื่อนไหวนั้น ลูกน้อยในท้องที่ลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำก็จะเคลื่อนไหวตามและกระทบกับผนังมดลูกในท้อง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้อง หากมดลูกเกิดการบีบตัวมาก ๆ ลูกอาจคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
ในกรณีที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง ควรเสี่ยงการเดินเร็ว เพราะหัวใจต้องทำงานหนัก ออกซิเจนที่จะเหลือไปถึงลูกก็ลดลง อาจทำให้ลูกไม่แข็งแรง และเติบโตช้าในครรภ์
3.เลี้ยงน้องหมาน้องแมวในบ้าน
อย่างที่ทราบกันดีค่ะ ว่าน้องหมาน้องแมวช่วยทำให้เรามีความสุขและผ่อนคลายได้ แต่พวกเขาก็มีขนยาวที่อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นกันค่ะ นอกจากนี้อาจมีเชื้อโรคจากอุจจาระและปัสสาวะของน้องหมาน้องแมวที่จะมาติดคุณแม่ได้รวมทั้งเห็บหมัดตัวเล็ก ๆ ที่อาจเล็ดรอดสายตาคุณแม่เข้ามาอยู่ในบ้าน ก็อาจนำเชื้อโรคมาสู่เราได้โดยที่ไม่รู้ตัว
แต่ก็มีคุณแม่หลายคนที่ยังให้น้องหมาน้องแมวอยู่ใกล้ชิดตัวเองเสมอ ดังนั้น ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ด้วยการให้สัตว์เลี้ยง นอนนอกบ้าน หรือจัดพื้นที่แยกส่วนให้ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้กีดกันไม่ให้เจอกันเลยนะคะ เพียงแต่ต้องระวังเรื่องความสะอาดค่ะ
4.ให้นมแม่ระหว่างตั้งครรภ์
การให้นมแม่นอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมออกมากขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวหรือมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ซึ่งถ้าคุณแม่มีลูกเล็กพร้อมกับตั้งครรภ์ไปด้วย ควรหยุดให้นมแม่ เพราะอาจทำให้ลูกในท้องคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะเนื่องจากมดลูกถูกกระตุ้นให้บีบรัดตัวอยู่เสมอ จากากรดูดนมแม่
และงดการกระตุ้นสัมผัสที่หัวนม เช่น การนวดสัมผัส หรือการกระตุ้นหัวนมระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ถ้าหากคุณแม่อยากให้ลูกกินนมแม่ ควรวางแผนการตั้งครรภ์ให้มีความห่างมากพอที่ลูกคนโตจะหยุดกินนมแม่แล้วค่ะ
5.ฟันผุซี่เดียว คลอดแล้วค่อยรักษา
แม้อาการเหงือกบวม เหงือกร่น จะเป็นเรื่องธรรมดาของคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดช่องปากได้อย่างทั่วถึง จนอาจมีเชื้อแบคทีเรียสะสม บางรายลุกลามจนถึงขั้นรากฟันหรือเหงือกเป็นหนอง ซึ่งหากมีอาการติดเชื้อรุนแรง เชื้อแบคทีเรียจากช่องปากคุณแม่ อาจติดเชื้อในกระแสเลือดไปสู่ลูกน้อย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ
ดังนั้น นอกจากดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากแล้ว ถ้าพบว่ามีฟันผุ คุณแม่ก็ควรรีบรับการรักษาทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ค่ะ
6.ช็อปปิ้งเพลิน ๆ บังเอิญของหนัก
คุณแม่ท้องที่ชอบไปเดินช็อปปิ้งพร้อมกับถือข้าวของพะรุงพะรังจนไม่รู้ตัว เป็นภาพที่เห็นได้บ่อย ๆ มารู้สึกตัวก็ตอนนั่งเหนื่อยหอบยกของแทบไม่ไหว ด้วยน้ำหนักของท้องที่ใหญ่ขึ้นทำให้คุณแม่ต้องแบกไปด้วยทุกวัน รวมกับของหนัก ๆ ที่ช็อปมา แบบนี้ต้องระวังแล้ค่ะ เพราะการถือของหนัก ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อหลังของคุณแม่ต้องทำงานหนักมากขึ้นด้วยการยืดเหนี่ยวให้หลังตรงไม่ให้เอนไปด้านหน้า พร้อม ๆ กับกล้ามเนื้อขา และข้อต่าง ๆ ที่ต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น คุณแม่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้ การแบกของหนักยังกระตุ้นให้เกิดโรคด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนัก อย่าคิดว่าแค่ถือถุงไม่กี่ใบ จะไม่เป็นอันตราย หาผู้ช่วยถือของดีกว่าค่ะ
7.อยากให้ลูกฟังเพลงดัง ๆ
คุณแม่หลายคนเห็นว่าการให้ลูกฟังเพลง จะช่วยให้ลูกผ่อนคลายและอารมณ์ดี จึงเลือกเปิดเพลงคลอเบา ๆ เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายทั้งคุณแม่และลูก ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดค่ะ แต่การให้ลูกฟังเพลงชัด ๆ เสียงดัง ๆ ด้วยการนำหูฟังไปแนบที่ท้องพร้อมกับเร่งเสียงให้ดัง ๆ เพราะกลัวว่าลูกจะไม่ได้ยินนั้นเป็นอันตรายค่ะ เพราะการเปิดเสียงเพลงดัง ๆ ให้ลูกฟังจะไปรบกวนลูกน้อยในท้อง เนื่องจากประสาทหูของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงยังไม่สามารถฟังเสียงที่ดังเกินไปได้ และด้วยพื้นที่ในท้องของคุณแม่ที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ ลูกน้อยจึงไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงเสียงเหล่านั้นได้ เด็กอาจจะเกิดความเครียด ส่งผลต่อการถดถอยของพัฒนาการได้ค่ะ
ทางที่ดีคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกด้วยเสียงของคุณแม่เอง เพราะจะทำให้ลูกจดจำเสียงคุณแม่ได้เมื่อคลอดออกมาแล้วโดยไม่ต้องห่วงว่าลูกจะไม่ได้ยินคุณแม่พูดนะคะ เพราะเสียงของคุณแม่นั้นสามารถผ่านเข้าไปในตัวคุณแม่และไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างแน่นอน โดยสามารถเริ่มพูดคุยกับลูกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป เพราะพัฒนาการด้านการฟังของลูกจะเริ่มทำงานในช่วงเดือนนี้ค่ะ
8.ปั่นจักรยานในหมู่บ้าน
การปั่นจักรยานอยู่กับที่ในฟิตเนสหรือในบ้าน เป็นการออกกำลังกายสำหรับแม่ท้องที่ดีค่ะ แต่หากคุณแม่ต้องปั่นจักรยานไปข้างนอกในบริเวณใกล้ๆ หรือแม้แต่ปั่นในหมู่บ้านไม่แนะนำ เพราะด้วยพื้นถนนที่ขรุขระ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะกระทบกระเทือนต่อการตั้งครรภ์ได้ ถ้าเป็นคุณแม่ท้องแก่การทรงตัวในการขึ้นลงจักรยานก็ทำได้ยากขึ้น อาจเกิดอุบัติเหตุจนล้มได้ นอกจากนี้ท่านั่งในการปั่นจักรยาน ยังเป็นการกดทับหน้าท้องและกระเพาะปัสสาวะด้วยค่ะ
รู้อย่างนี้แล้วก็ต้องระมัดระวังตัวเอง บางเรื่องก็ต้องละ ลดหรืองดไปเลยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 343 สิงหาคม 2554