รับมืออาการยามท้อง 3 ไตรมาส (modernmom)
เรื่อง : พญ.กันดาภา ฐานบัญชา
คุณแม่หลายท่านที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ คงกังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ บางท่านกังวลว่าอาการเหล่านี้จะเป็นสัญญาณบอกเหตุลูกจะผิดปกติ หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขณะตั้งครรภ์ พานให้เครียดนอนไม่หลับกันเลยทีเดียว เรามาทำความเข้าใจ และรู้จักอาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อการรับมือที่ถูกวิธีกันค่ะ
ไตรมาสแรก 0-14 weeks
คุณแม่บางท่านอาจจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ประจำเดือนจะยังไม่ขาดหายไป คุณแม่แต่ละท่านมีอาการไม่เหมือนกัน บางท่านไม่มีอาการอะไร บางท่านอาจมีอาการมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละท่าน รวมถึงปริมาณฮอร์โมนที่แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
มีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณไม่มาก เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก มักเกิดขึ้น 6-12 วันหลังการปฏิสนธิ บางท่านอาจรู้สึกปวดหน่วงเล็กน้อยบริเวณท้องน้อย อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 1-2 วันค่ะ
คัดเต้านมและเจ็บหน้าอก เต้านมจะบวมตึง อาจเห็นเส้นเลือดขยายเป็นสีน้ำเงินใต้ผิวหนัง อาการนี้อาจเกิดขึ้น 1-2 สัปดาห์ หลังการปฏิสนธิ ควรเลือกชุดชั้นในที่ค่อนข้างกระชับและมีซับใน
เหนื่อย อ่อนเพลีย มีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ตั้งแต่สัปดาห์แรก หลังการปฏิสนธิอาจรู้สึกหัวใจเต้นแรงและเร็ว ควรพักผ่อนมาก ๆ และควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินย่อยอาหาร 10-15 นาที วันละ 1 ครั้ง
คลื่นไส้ อาเจียน อาการนี้พบได้บ่อยที่สุดค่ะ อาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2-8 หลังการปฏิสนธิ จะลดน้อยลงและหายไป เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 คุณแม่บางท่านมีอาการคลื่นไส้มาก กินอาหารไม่ได้และมีอาการยาวนานตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ คุณแม่ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อ เลือกที่มีความมันน้อยและย่อยง่ายดื่มน้ำมาก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง หากดื่มน้ำเปล่าแล้วคลื่นไส้ ลองดื่มน้ำขิงอุ่นๆ หรือน้ำหวานจะช่วยได้ และหากคลื่นไส้มาก มีอาการหน้ามืดเวลาลุก ยืน เดิน คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ
ปวดหลัง พบอาการปวดหลังแบบดื้อ ๆ เล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการที่มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกรานมากขึ้น มดลูกเกิดการบีบตัวเล็กน้อยจากการฝังตัวที่ผนังมดลูก
ปัสสาวะบ่อย ประมาณ 6-8 สัปดาห์ มดลูกจะเริ่มขยายตัวจนกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
หัวนม ลานนมมีสีเข้ม รู้สึกแหลม ๆ บริเวณหัวนม
มีความอยากหรือไม่อยากอาหารบางประเภทอย่างมาก อาจมีความรู้สึกอยากกินอาหารที่ตัวเองไม่เคยชอบมาก่อน อาหารที่เคยชอบ รู้สึกไม่ชอบขึ้นมาเฉย ๆ
เสียดช่องอกและท้องผูก ในระหว่างตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้การเคลื่อนตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ช้าลง เพื่อให้มีการดูดซึมสารอาหารเข้าไปในกระแสเลือดไปถึงลูกได้มากขึ้น ทำให้เกิดอาการของกรดไหลย้อน เสียดช่องอกและท้องผูก ควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว กินอาหารมื้อเล็ก ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว น้ำอัดลม และออกกำลังกายเบา ๆ สม่ำเสมอ
เวียนศีรษะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำในร่างกาย ความเครียดความหิว และความอ่อนเพลีย ทำให้อาการนี้เป็นมากขึ้น คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการยืนท่าเดิมนาน ๆ เวลาลุกขึ้นยืนหลังจากการนอนหรือนั่งควรทำช้า ๆ หากมีอาการขณะขับรถควรจอดพักข้างทางสักครู่ ยืดแขนขาและดื่มน้ำ หากมีอาการขณะยืน ควรนั่งหรือนอน หากอาการเป็นมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ
อารมณ์แปรปรวน คุณแม่หลายท่านเล่าว่า เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์รู้สึกดีใจ ตื่นเต้น กังวล อ่อนเพลีย หมดแรงและเครียดในเวลาเดียวกัน จนบางครั้งบอกไม่ถูกว่าสบายใจหรือไม่ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความกังวลว่าลูกจะผิดปกติ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและสามี งานและอีกมากมาย ทางที่ช่วยได้คือ การดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด การตั้งครรภ์เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของมนุษย์ คุณพ่อควรมีบทบาทช่วยประคับประคองจิตใจของคุณแม่ด้วย
ไตรมาส 2 14-28 weeks
ไตรมาสนี้คุณแม่จะรู้สึกสบายมากขึ้น อาการคลื่นไส้อาเจียนเริ่มน้อยลง กินอาหารได้ เริ่มปรับตัวกับการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น ขนาดของมดลูกก็ไม่ใหญ่จนทำให้อึดอัด แต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายจะเริ่มเห็นได้ชัดขึ้น
ขนาดเต้านมขยายใหญ่ จากการถูกกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมจะเริ่มขยายขนาด และมีการสะสมของไขมันมากขึ้น ควรเปลี่ยนขนาดของชุดชั้นในให้เหมาะสมกับเต้านมที่ขยายขึ้นค่ะ
ท้องโตขึ้นเห็นได้ชัด ผิวหนังเปลี่ยนไป ผิวจะเข้มขึ้น โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณรอบเต้านม ใบหน้าบางส่วน และมีเส้นคล้ำ ๆ บริเวณหน้าท้องจากสะดือถึงหัวเหน่าปรากฏเห็นชัดขึ้น ผิวหนังที่ขยายอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคัน ควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์ทาผิว เพื่อป้องกันการแตกลาย
มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน ปริมาณน้ำและเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีเลือดกำเดาไหลได้ เวลาแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันอาจจะมีเลือดออกตามไรฟัน ซึ่งไม่อันตราย คุณแม่ควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม และรักษาความสะอาดของช่องปาก หากมีเหงือกอักเสบหรือฟันผุ ควรรีบพบแพทย์
ตะคริวที่ขา มดลูกที่ขนาดใหญ่ขึ้นจะกดทับเส้นเลือดในอุ้งเชิงกราน ขัดขวางการไหลกลับของเลือดดำที่ไปเลี้ยงส่วนล่างของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็ง เป็นตะคริวที่ขา 2 ข้าง โดยจะเป็นมากในตอนกลางคืน คุณแม่ไม่ควรยืนหรือเดินนานในช่วงกลางวัน หากเป็นตะคริวที่น่องในเวลากลางคืน ให้คุณแม่งอเข่าและกระดกปลายเท้าขึ้นพร้อมกับนวดบริเวณน่องเบา ๆ หากคุณแม่ไม่สามารถยกขาเองได้ ให้ปลุกคุณพ่อมาช่วยค่ะ
หายใจไม่อิ่ม ขณะตั้งครรภ์ปอดต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปที่รกและทารกให้เพียงพอ ซึ่งทำให้คุณแม่หายใจเร็วและสั้นลง รู้สึกเหมือนหายใจไม่อิ่ม ไม่เต็มปอด
มีตกขาวมากขึ้น จากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น คุณแม่จะมีน้ำขาว ๆ ไหลออกจากช่องคลอดมากขึ้นบางครั้งทำให้กางเกงชั้นในแฉะขึ้นได้ แต่หากตกขาวนั้นมีกลิ่นคาวผิดปกติ มีสีเขียว หรือเหลือง และมีอาการแสบคันที่ช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอดจากเชื้อรา หรือแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งต้องรักษาค่ะ
ไตรมาส 3 28-40 weeks
ในที่สุดก็ถึงไตรมาสสุดท้ายแล้วค่ะ อีกไม่นานก็จะได้เห็นหน้าลูกรักแล้ว ไตรมาสนี้ท้องของคุณแม่ใหญ่ขึ้นมาก เคลื่อนไหวลำบาก อึดอัด นอนหลับไม่ค่อยสบาย แต่ขอให้อดทนอีกนิดค่ะ ใกล้จะคลอดแล้ว อาการที่พบบ่อยในไตรมาสที่ 3 มีดังนี้ค่ะ
ปวดหลัง เนื่องจากน้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นมาก ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะทำให้ข้อต่อต่าง ๆ หลวมขึ้น โดยเฉพาะบริเวณกระดูกเชิงกราน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อหลัง หากคุณแม่ต้องยืนนาน ๆ ให้วางเท้าข้างหนึ่งไว้บนเก้าอี้ตัวเล็กๆ จะบรรเทาอาการปวดหลังได้ หากต้องนั่งนานๆ ควรหาเก้าอี้ที่พยุงหลังหรือมีเบาะรองหลัง ถ้าปวดมากอาจประคบน้ำอุ่น ขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อให้ช่วยนวดหลัง ควรใส่รองเท้าส้นสูงประมาณ ½-1 นิ้ว และควรมีแผ่นรองอุ้งเท้าด้วยค่ะ
เส้นเลือดขอด ริดสีดวงทวาร การเพิ่มขึ้นของเลือด น้ำ และแรงดันในช่องท้องส่งผลให้เมื่อมองผ่านผิวหนัง จะเห็นเส้นใยของหลอดเลือดดำเล็กชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะบริเวณคอ หน้า และแขน ส่วนบริเวณขา อาจเห็นเป็นเส้นเลือดขดใหญ่ มีอาการปวดขาควรใส่ถุงน่องประเภทซัพพอร์ต งดการเดินหรือยืนนาน ๆ หากมีอาการท้องผูกมาก ต้องเบ่งถ่ายเป็นประจำ อาจจะทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนักและถ่ายเป็นเลือดสดได้ ควรดื่มน้ำมาก ๆ กินโยเกิร์ตที่มีแบคทีเรียที่ช่วยการขับถ่าย เลือกอาหารที่มีเส้นใย เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูกค่ะ
เต้านมขยายใหญ่ขึ้นมาก น้ำหนักเต้านมของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นถึง 1 กิโลกรัม คุณแม่บางท่านอาจมีน้ำนมสีเหลืองเข้มมันๆ ไหลออกมา ซึ่งคือนมน้ำเหลืองนั่นเอง ควรเตรียมชุดชั้นในที่เหมาะสม และเป็นแบบเปิดเต้า เพื่อให้นมลูกได้ค่ะ
ท้องแข็งเป็นพัก ๆ ถึงตอนนี้มดลูกก็เริ่มซ้อมบีบตัวแล้วค่ะ คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องแข็งเป็นพัก ๆ แต่ไม่เจ็บและการแข็งตัวไม่สม่ำเสมอ นอนพักก็จะหาย แต่หากการแข็งตัวถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ร่วมกับมีมูกเลือดออกจากช่องคลอด น่าจะเป็นการเจ็บครรภ์จริงค่ะ ซึ่งต้องรีบไปพบแพทย์ค่ะ
ตกขาวมากขึ้น เมื่อใกล้คลอดจะมีตกขาวมากขึ้น มีน้ำออกจากช่องคลอดมากขึ้น คุณแม่ควรสังเกตให้ดีว่าเป็นลักษณะของตกขาวหรือมีน้ำเดิน หากน้ำที่ไหลออกจากช่องคลอดออกตลอดเวลา และเป็นน้ำใสหรือขุ่นเล็กน้อย ควรรีบพบแพทย์ ว่าเป็นตกขาวปริมาณมากหรือน้ำเดิน ซึ่งเป็นอาการของการเข้าสู่การตลอดค่ะ
ส่วนอาการหายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับเสียดจุกแน่นช่องอก กรดไหลย้อน จะมีอาการต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 จะมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอให้คุณแม่รับมือกับอาการต่าง ๆ อย่างมีสตินะคะ และหากมีความกังวลหรือไม่แน่ใจควรรีบปรึกษาแพทย์เวลา 9 เดือนดูเหมือนนาน แต่เมื่อลูกคลอดออกมาน่ารัก แข็งแรงสมใจ คุณแม่จะพบกับความสุข และเมื่อระลึกถึงตอนท้องก็จะเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.16 No.190 สิงหาคม 2554