แม่มือโปร...คุณก็เป็นได้ (รักลูก)
โดย: ธิดาโดม
เพราะการเป็น "แม่" คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตผู้หญิงเราค่ะ รักลูกขอเชิดชู "แม่" ทุกท่านด้วยทุกตัวอักษรต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้ "แม่" เปี่ยมความหมายด้วยความสามารถในการปฏิบัติค่ะ
1. โปร...ตั้งแต่เตรียมเป็นแม่
เมื่อตัดสินใจแต่งงานเริ่มต้นชีวิตคู่แล้ว ก่อนจะเป็นแม่ ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ กันก่อนค่ะ ซึ่งการเตรียมตัวก่อนมีลูกจะช่วยให้คุณแม่จัดการเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ง่ายขึ้น เรื่องที่คุณแม่ไม่ควรพลาดในการเตรียม เช่น
เตรียมวางแผนครอบครัวไว้ล่วงหน้า
การวางแผนครอบครัวเป็นการตกลงกันระหว่างสามีภรรยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตคู่ เพราะถ้าไม่มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัวก็อาจจะไม่มั่นคง หรือในบางกรณีหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น การวางแผนครอบครัวล่วงหน้า จะช่วยให้คุณสามารถตั้งรับและปรับตัวได้ทันค่ะ
เตรียมร่างกายให้พร้อม
เพราะสุขภาพร่างกายของแม่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพของลูก ดังนั้นก่อนที่จะตั้งครรภ์ คุณแม่จึงต้องตรวจร่างกายให้พร้อมเสียก่อน และหากคุณแม่มีโรคประจำตัวที่ต้องทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรค SLE ฯลฯ คุณหมอจะได้รีบทำการรักษาหรือให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะยาบางชนิดไม่สามารถทานได้ในระหว่างตั้งครรภ์
เตรียมจิตใจให้เข้มแข็ง
คุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คนมักจะเป็นกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูก จนบางครั้งอาจหลงลืมไปว่า ความเครียดส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ไม่น้อย
ดังนั้นก่อนที่คุณแม่จะตั้งครรภ์ ต้องเตรียมใจยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และต้องมั่นใจว่าสามารถทำหน้าที่ของแม่ที่ดีได้ ต้องเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ค่ะ
เตรียมความรู้ให้เท่าทัน
คุณแม่มือโปรต้องมีข้อมูลค่ะ อย่าเสี่ยงเลี้ยงลูกตามมีตามเกิด เราต้องหาข้อมูลเตรียมเอาไว้เสมอ โดยเฉพาะสมัยนี้ข้อมูลความรู้หาได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เรียกได้ว่าเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ข้อมูลอะไรต่าง ๆ ที่ต้องการทราบ ก็จะปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือโดยทันที
2. ดูแลครรภ์อย่างมือโปร
หลังจากเตรียมตัวมาอย่างดีแล้ว ตอนนี้ก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญอีกช่วงหนึ่ง นั่นคือช่วงตั้งครรภ์นั่นเอง เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและดีใจไม่น้อย เมื่อพบว่าในร่างกายของเรามีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ อยู่ ซึ่งคุณแม่ต้องดูแลสุขภาพครรภ์อย่างดีด้วย เช่น
ฝากครรภ์ เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าตั้งครรภ์ สิ่งที่คุณแม่ควรทำเป็นอย่างแรกก็คือการฝากครรภ์ เพราะคุณหมอจะตรวจสุขภาพและเช็กประวัติของคุณแม่ ซึ่งหากคุณแม่มีคำถามหรือข้อสงสัยอะไรก็ควรจะสอบถามคุณหมอทันทีค่ะ
วัคซีน เมื่อผลตรวจออกมาว่าคุณแม่ไม่ได้มีพาหะของโรคต่าง ๆ หรือไม่ได้มีโรคประจำตัวที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้นก็จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับคนท้องค่ะ
อัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจเช็กพัฒนาการของลูก ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะตรวจอัลตราซาวนด์ให้กับคุณแม่เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลูก แต่ก็จะมีการตรวจคัดกรองความผิดปกติบางอย่างที่เร็วกว่านี้ คือ ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ จะมีการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม โดยหากตรวจพบคุณหมอจะได้ทำการรักษาหรือยุติการตั้งครรภ์ได้ทันค่ะ
3. โปร...เรื่องเลี้ยงลูก
หลังจากที่เจ้าตัวเล็กออกมาลืมตาดูโลกภายนอกแล้ว คุณแม่คือผู้สร้างเกราะป้องกันให้กับเขาค่ะ โดยเฉพาะเมื่อแรกเกิด ยิ่งรู้จักลูกได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งสร้างเกราะคุ้มกันให้ลูกได้เร็วเท่านั้น
รู้จักลูกตั้งแต่แรกเกิด
เป็นเรื่องที่น่ายินดีและมีความสุขมากเลยนะคะ กับการได้เห็นหน้าลูกครั้งแรก ได้อุ้ม ได้โอบกอด แล้วก็ให้เขาได้ดูดนมจนหลับไป และนับจากนี้ต่อไป มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ลูกน้อยจะต้องเรียนรู้ ขณะเดียวกันคุณแม่เองก็ต้องเรียนรู้ไปกับเขาด้วยเช่นกันค่ะ โดยสิ่งที่คุณแม่ต้องทำความรู้จัก เช่น
สายสัมพันธ์แรกคลอด เป็นสิ่งแรกที่คุณแม่จะต้องรู้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกก็คือสัมผัสต่างๆ จากตัวของแม่ โดยสัมผัสแรกที่ลูกจะได้รับคือความอบอุ่นจากการโอบกอด สัมผัสต่อมาคือความอบอุ่นจากรสของอาหารมื้อแรก ซึ่งก็คือน้ำนมจากอกของคุณแม่นั่นเอง
ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ แรกคลอด ลูกจะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับได้ดีหรือไม่นั้น คุณแม่สามารถสังเกตได้โดย
1. ให้ลูกดูดนมแม่หลังคลอด เพื่อเช็กปฏิกิริยาการดูด (Sucking reflex) โดยจะมีการสังเกตใน 3 ลักษณะด้วยกัน คือลูกสามารถดูดนมได้เร็ว ดูดได้ถูกวิธี และดูดได้เกลี้ยงเต้า หากลูกไม่สามารถทำได้ อาจหมายความว่าเขากำลังมีปัญหาทางด้านสมอง ซึ่งคุณหมอจะต้องเช็กอย่างละเอียดให้อีกครั้ง
2. การคว้า จับ หรือกำ (Grasp reflex) เมื่อคุณแม่เอานิ้วแหย่เข้าไปในฝ่ามือของลูก เขาจะคว้า จับ หรือกำไว้อย่างแน่น แม้ว่าจะดึงนิ้วขึ้น แต่มือของเจ้าตัวเล็กก็ยังจะกำนิ้วคุณแม่แน่นอยู่อย่างนั้น
3. การทำให้ลูกตกใจ (Moro reflex) โดยการส่งเสียงดังในระดับหนึ่ง ซึ่งเขาก็จะตอบสนองด้วยการกางแขนกางขาแผ่ออกและโผเข้าหาตัวอีกครั้ง เป็นการบอกว่าลูกกำลังรู้สึกตกใจ
หากลูกไม่มีการตอบสนองใด ๆ เขาก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพฤต หรืออัมพาตได้ค่ะ
การนอนและการหายใจ เด็กทารกมักจะนอนหลับมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยเฉพาะในวันแรกๆ หลังคลอด แต่ถึงจะนอนมากอย่างไร ลูกก็จะนอนได้ไม่ยาวนานนัก
คุณแม่เองก็ต้องระวังเรื่องของท่านอนของลูกด้วย เพราะท่านอนของลูกสัมพันธ์กับจังหวะการหายใจ หากให้ลูกนอนคว่ำหรือนอนในลักษณะที่ไม่สบาย ลูกมีโอกาสเสียชีวิตได้
รู้จักพัฒนาการตามวัยของลูก
พ่อแม่คือผู้ที่จะกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ดีที่สุด ผ่านวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ คือ
การกอด ซึ่งเป็นการสัมผัสที่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะช่วงวัย 1 ปีแรก ที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าแม่รักลูกมากแค่ไหน
การพูดคุย คือช่วงเวลาที่คุณแม่จะได้สบตากับลูก ได้เห็นกิริยาท่าทางต่างๆ ได้สังเกตพฤติกรรมและอากัปกิริยาของลูก ได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของลูก ได้เรียนรู้ด้านอารมณ์และจิตใจของลูก และนอกเหนือจากการจะให้ลูกมาเข้าใจเราแล้ว การพูดคุยกับลูกยังทำให้คุณแม่ได้เข้าใจลูกอีกด้วยค่ะ
การเล่นกับลูกตามวัย จากการศึกษา Brain Scan โดย Dr. Kathlern Alfano พบว่าเด็กที่มีโอกาสเล่น จะมีการเชื่อมโยงระบบประสาทและระบบสมองที่สมบูรณ์กว่าเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่มีโอกาสเล่นมากกว่าก็จะมีความสุขกว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตในโรงเรียน มากกว่าเด็กที่ขาดโอกาสเล่น ซึ่งของเล่นที่ดีที่สุดของลูกก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ
รู้ทันสุขภาพลูก
โภชนาการ แม่มือโปรจะต้องทราบว่าลูกต้องการโภชนาการอย่างไรในแต่ละช่วงวัย วัยไหนควรให้อาหารเสริม อาหารชนิดไหนที่เสี่ยงต่อการทำให้ลูกแพ้ หรืออาหารอะไรที่ลูกกินแล้วดีมีประโยชน์ คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตและคอยส่งเสริมค่ะ
โรคภัยไข้เจ็บ แม่มือโปรต้องรู้ทันโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค่ะ ยิ่งในปัจจุบันที่พบว่ามีโรคต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งโรคเก่าโรคใหม่ การอ่านหนังสือ นิตยสาร หรือการติดตามข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ จะช่วยให้คุณแม่รู้ทันโรคภัยไข้เจ็บของลูกได้เป็นอย่างดี
ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้ลูก
เป็นแบบอย่างที่ดี หากอยากให้ลูกเป็นแบบไหน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นเช่นนั้นก่อนค่ะ เช่น อยากให้ลูกเป็นคนซื่อสัตย์เราก็ต้องซื่อสัตย์ให้ลูกเห็น อยากให้ลูกเป็นคนอ่อนโยน มีน้ำใจ เมตตาปราณี ก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง เป็นต้น
4. มือโปรต้องจัดการเป็น
นอกจากจะรู้และเชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงลูกแล้ว แม่มือโปรต้องสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาให้ได้ด้วยนะคะ เพราะถ้าหากเลี้ยงลูกเป็น แต่จัดการปัญหาไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งลูกและครอบครัวเราด้วย โดยคุณแม่จะต้อง...
จัดการได้ทุกสถานการณ์
แม่มือโปรต้องรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวันได้ ทั้งที่คาดเดาได้และที่อยู่เหนือการคาดเดา เช่น ปัญหาการจราจรในตอนเช้า คุณแม่ working mom บางคนใช้วิธีตื่นเช้า ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติด แต่คุณแม่อีกกลุ่มเลือกใช้ช่วงเวลารถติดในการพูดคุย อบรมสั่งสอน เล่านิทาน และเล่นกับลูกในช่วงเวลานั้น
จัดการภาวะอารมณ์เก่ง
คุณแม่มือโปรต้องจัดการภาวะอารมณ์ของตนเองให้ได้ค่ะ เช่น ถ้าคุณแม่หงุดหงิดที่ลูกร้องงอแง ก็อาจจับหรืออุ้มลูกไม่นุ่มนวลเท่าในขณะที่อารมณ์ดี ซึ่งลูกสามารถรับรู้ได้แม้จะเป็นทารก หรือทุกเช้าที่ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าต้องเจอสภาพปัญหาจราจรที่ติดขัดทุกวัน ถ้าคุณแม่หงุดหงิด ขี้บ่น หรือโมโห ลูกก็จะซึมซับพฤติกรรมของคุณแม่ไปค่ะ
จัดการครอบครัวได้
ครอบครัวมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดค่ะ คุณแม่จะเป็นแม่มือโปรได้ก็ต้องอาศัยครอบครัวเป็นแรงสนับสนุน ขณะเดียวกันคุณแม่เองก็ต้องสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ในครอบครัวตนเองได้
เชื่อว่าด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ + ความใส่ใจ + พลังรักอันยิ่งใหญ่ที่คุณแม่มีให้ลูกน้อย จะเป็นแรงส่งให้คุณเป็น "แม่มือโปร" ได้อย่างสบาย ๆ นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก