กลืนน้ำตาลคนท้องคืออะไร ทำความเข้าใจอาการคนท้องและภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ พร้อมวิธีการตรวจอย่างถูกต้อง เพื่อการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
ในขณะที่ตั้งครรภ์ คุณแม่มักมีอาการคนท้องหลายอย่างที่ต้องเผชิญ และต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ อีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังคือ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้ จึงต้องมีการตรวจคัดกรองด้วยการกลืนน้ำตาล ซึ่งหลายคนก็อาจจะยังสงสัยว่า กลืนน้ำตาลคนท้องคืออะไร กระปุกดอทคอมขอพาไปไขข้อสงสัยกันค่ะ
กลืนน้ำตาลคนท้อง คืออะไร
การกลืนน้ำตาลในคนท้อง คือ การตรวจเพื่อคัดกรองว่าคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งการกลืนน้ำตาลทำเพื่อเช็กว่าร่างกายหลั่งอินซูลินออกมาตามปกติไหม โดยอินซูลินมีหน้าที่เก็บน้ำตาลเข้าเซลล์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูง แต่ในคนท้องร่างกายจะดื้อต่ออินซูลิน จึงต้องตรวจภาวะเบาหวานตอนท้อง เนื่องจากเกิดผลเสียทั้งต่อคุณแม่และทารกมากมายตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยไปจนถึงอาจจะส่งผลถึงชีวิตได้
กลืนน้ำตาลคนท้อง ทำยังไง
การกลืนน้ำตาลในคนท้อง คือการตรวจเบาหวานแบบ 2 ขั้นตอน (Two Step Screening) ดังนี้
- กลืนน้ำตาล 50 กรัม GCT (Glucose Challenge Test) ขั้นตอนนี้คุณแม่ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร แต่จะให้กินน้ำตาล 50 กรัม และหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล ถ้าค่าที่ได้มากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ และควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม โดยใช้เกณฑ์ 100 กรัม OGTT
- กลืนน้ำตาล 100 กรัม OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยเกณฑ์นี้จะประกอบด้วยหลายขั้นตอน ดังนี้
- เจาะเลือดหลังจากที่อดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง
- ให้คุณแม่ตั้งครรภ์กินน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม ซึ่งโดยมากจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วย เพื่อลดอาการคลื่นไส้-อาเจียนที่อาจเกิดขึ้นได้
- ทำการเจาะเลือดในชั่วโมงที่ 1 2 และ 3 หลังกินน้ำตาลไปแล้ว ถ้าพบว่าระดับน้ำตาลมีความผิดปกติจะให้การรักษาตามเกณฑ์การวินิจฉัย โดยระดับน้ำตาลปกติของการตรวจวินิจฉัยคือ 95, 180, 155, 140 mg/dl หากผลการตรวจสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่จะต้องรักษาควบคู่กับการดูแลครรภ์ต่อไปด้วยการควบคุมอาหาร และอาจใช้อินซูลินร่วมด้วย
ทราบกันแล้วว่าคนท้องทำไมต้องกลืนน้ำตาลในการตรวจครรภ์ เพราะภาวะเบาหวานในคนท้องเกิดขึ้นง่ายมาก ดังนั้น คุณแม่ควรดูแลตัวเองดี ๆ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และอย่าลืมควบคุมปริมาณน้ำตาลนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลบางปะกอก-รังสิต2, bangkokhospital.com, phyathai.com