บันได 9 ชั้น 35 UP แม่ท้องสุขภาพดี (modernmom)
เรื่อง : พรดี จันทรเวชชสมาน
ปรากฏการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ตอนอายุหลัง 35 ปีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คุณแม่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพทั้งของแม่และลูก เพราะรู้ดีว่าปัญหาต่าง ๆ มีมากกว่าการตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อยกว่านี้ อย่าวิตกจนเกินไปค่ะ วิทยาการด้านการแพทย์พัฒนาอยู่ตลอดเวลา แล้วความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ก็มีมากกว่าเดิม
คุณแม่อาจเลือกท้องในช่วงที่ดีที่สุดไม่ได้ เพราะมัวแต่ยุ่งหัวฟูอยู่กับการงาน พอเงยหน้าขึ้นมากับเขาสักหน่อย อ้าว! อายุเรา 30 กว่าแล้วนี่ เจอชายในฝันโค้งสุดท้าย ก็ต้องสร้างครอบครัวกันเวลานี้แหละ
ไลฟ์สไตล์และสภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่วงจรชีวิตตามธรรมชาติไม่ได้เปลี่ยนตามค่ะ การตั้งครรภ์ เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปจึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเข้าข่ายการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ถึงแม้ว่าผู้หญิงวัยนี้ภายนอกอาจยังดูสาวสดใสไร้ริ้วรอยก็ตาม
ทำไมต้องดูแลเป็นพิเศษ
พออายุ 35 ปีไปแล้วสภาวะร่างกายเอื้ออำนวยต่อการตั้งครรภ์ลดลง มีไข่ตกน้อยลง คุณภาพของไข่ก็ลดลงด้วยค่ะ บางคนอาจพบโรคเกี่ยวกับอวัยวะภายในของผู้หญิง เช่น เกิดพังผืดหรือเนื้องอกในมดลูก และช็อกโกแลตชีสต์ ฯลฯ การตั้งครรภ์ในวัย 35 ปีขึ้นไปมีสิ่งที่ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างด้วยกัน เช่น ระหว่างตั้งครรภ์ แม่จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ภายในครรภ์อาจพบปัญหารกเกาะต่ำ ครรภ์เป็นพิษ หรืออาจจะคลอดยากต้องผ่าคลอดแทนการคลอดเอง มีโอกาสแท้งมากขึ้นกว่าตอนอายุยังน้อย 5-6 เท่า เป็นต้น
ส่วนลูกน้อยในครรภ์คุณแม่ก็มีความเสี่ยงจากการคลอดก่อนกำหนด คลอออกมาอาจมีน้ำหนัก ตัวน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ หลังคลอดมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือการหายใจเร็วเพราะมีน้ำคั่งในปอด และอาจพบความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง ซึ่งที่พบบ่อยก็คือดาวน์ซินโดรม
ก่อนจะรู้สึกว่ามีแต่เรื่องน่ากลัวไปซะหมด ต้องบอกว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับคุณแม่ทุกเรื่อง และไม่ได้เกิดกับคุณแม่ทุกคน เพียงแต่ต้องระวังไว้เพราะโอกาสเสี่ยงนั้นมี ถ้าก่อนตั้งครรภ์คุณแม่ปรึกษาคุณหมอว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หรือระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ดูแลสุขภาพตัวเองรับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 9 เดือน ความเสี่ยงเหล่านี้จะบรรเทาเบาบางลงไปได้ด้วย 9 ขั้นตอน
1.ตรวจครรภ์ตามนัด
ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรพบคุณหมอตามนัด เพื่อจะได้ทราบสิ่งที่ปกติหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น และแก้ไขทันท่วงที คุณแม่บางท่านอาจมีความเสี่ยงบางประการ คุณหมอก็จะดูแลใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแท้ง
สำหรับคุณมีอายุ 35 ปีขึ้นไป คุณหมอต้องตรวจครรภ์อย่างละเอียด เช่น มีตรวจเลือดตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตร้าซาวนด์หลายครั้ง ตรวจเจาะน้ำคร่ำเพื่อดูโครโมโซมว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติ อย่างเช่น ดาวน์ซินโดรมหรือไม่ การตรวจเหล่านี้มีความสำคัญค่ะ คุณแม่อย่าลืมไปตามนัด
2.เลือกอาหารมีประโยชน์
อาหารครบ 5 หมู่ เป็นพื้นฐานการดูแลสุขภาพที่ง่ายที่สุด ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายจะได้ไม่ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผักผลไม้ จะช่วยให้คุณแม่สดชื่น ช่วยเรื่องขับถ่าย และอุดมไปด้วยวิตามิน อาหารพวกแป้งสำคัญ อย่ากินเกินแต่ก็อย่างด ถ้ากลัวอ้วนเลือกแป้งที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง มัน ข้าวโพด หรือธัญพืชต่าง ๆ กินสลับสับเปลี่ยน เพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารหลากหลาย
นอกจากนั้น คุณแม่ควรได้รับโปรตีนพอเพียงเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายยิ่งดี จำกัดการกินไขมันให้น้อย ๆ และอย่าลืมดื่มน้ำ ช่วงนี้คุณแม่อาจนึกอยากอาหารบางอย่าง โดยเฉพาะอาหารรสเปรี้ยว ควรจะเลือกชนิดที่มีประโยชน์ไม่เกิดโทษด้วยนะคะ ส่วนอาหารรสจัด หรืออาหารที่เคยแพ้ ก็ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย
3.กินโฟลิกให้พอเพียง
กรดโฟลิกช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ของทารกเจริญเติบโตได้อย่างเป็นปกติ อาหารในธรรมชาติที่มีโฟลิกเอซิด เช่น ผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง แครอท กล้วย ถั่ว ฯลฯ คุณหมออาจสั่งให้กินชนิดเม็ด หรือถ้าคิดจะกินเองต้องปรึกษาคุณหมอก่อน เพราะมีเรื่องปริมาณการกินกำหนดเวลามาเกี่ยวข้องด้วย
4.ตัดใจเพื่อลูก
บุหรี่ และแอลกอฮอล์ ก็เป็นที่รู้กันดีว่าต้องงดแน่ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาและกาแฟ ชาจะทำให้แม่ท้องที่มักจะมีปัญหาท้องผูกอยู่แล้ว ท้องผูกง่ายขึ้น ส่วนกาแฟดื่มแล้วอาจทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยขับน้ำออกจากร่างกาย อย่ามองข้ามช็อกโกแลตด้วย เพราะมีคาเฟอีนอยู่ ควรกินแต่น้อย
สิ่งที่ควรจะงดเว้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ก็คือ การโหมงานเหนื่อยหนักจนเกินไป การเดินทางไกล ๆ หรือโดยสารรถแล้วกระเทือนมาก ๆ ควรงดการออกกำลังกาย และเพศสัมพันธ์ เพราะอาจทำให้แท้งได้ ในวัยนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ จึงควรป้องกันไว้ก่อนค่ะ
5.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายดีกับทุกเพศทุกวัย รวมทั้งแม่ท้องด้วย เพราะจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง การทรงตัวดีคล่องแคล่ว ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี คลายเครียด ช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยให้นอนหลับสบาย
พอพ้นไตรมาสแรก คุณแม่ควรเริ่มออกกำลังกาย เพื่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายพร้อมสำหรับตั้งครรภ์และการคลอด แต่ไม่ควรออกกำลังกายในแบบหนัก ๆ หรือจะปรึกษาคุณหมอก่อนว่า สามารถออกกำลังกายได้หรือยัง และออกกำลังกายวิธีไหนอย่างไรจึงจะปลอดภัย
6.ระวังการกินยา
เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องการกินยา เพราะยามากมายหลายชนิด สามารถส่งผ่านจากแม่ และมีผลอันไม่พึงประสงค์ต่อลูกในท้อง หรืออาจทำให้แท้งได้ เพราะฉะนั้นหลักการก็คือ อย่าซื้อหายามากินเอง ถึงแม้ยานั้นจะเคยใช้เป็นประจำดูไม่น่ามีผลร้ายก็ตาม ควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น และควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา แม้กระทั่งอาหารเสริมวิตามินต่าง ๆ ก็ควรบอกคุณหมอให้ละเอียด เพราะอาหารเสริมบางอย่างก็อาจไม่เหมาะนัก
7.พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนจำเป็นมาก สำหรับคุณแม่ค่ะ ถ้าพักผ่อนพอเพียงจะดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของแม่ ซึ่งจะส่งผลไปยังลูกในท้องด้วย ระยะนี้คุณแม่ควรลดงานลง หรือถ้าทำงานเป็นกะอาจขอแลกเวรกับเพื่อนร่วมงาน คุณแม่ควรจะได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่มอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง แต่ละคนต้องการนอนมากน้อยต่างกัน จะกี่ชั่วโมงก็ตามถ้าตื่นแล้ว รู้สึกว่านอนอิ่มตื่นขึ้นมาแจ่มใสมีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันก็แปลว่านอนพอค่ะบ่าย ๆ หาเวลางีบหลับชาร์จแบตเล็กน้อยเพื่อความสดชื่น แต่อย่านอนเกินบ่าย 3 โมงนะคะ เพราะกลางคืนจะไม่หลับค่ะ
8.ควบคุมน้ำหนัก
น้ำหนักตัวคุณแม่ตลอดการตั้งครรภ์จะขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัมโดยประมาณ บางคนอาจเพิ่มได้มากกว่านี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเดิมของแต่ละคน คุณหมอจะคอยเตือนหากคุณแม่น้ำหนักเกิน คุณแม่ที่กินเพลินแล้วอ้างว่ากินเผื่อลูกอาจอ้วนเกิน แทนที่น้ำหนักจะไปอยู่กับลูกกลับมาอยู่กับแม่มากกว่า อย่าปล่อยให้อ้วนมากนะคะ ความอ้วนจะนำโรคและอาการแทรกซ้อนอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษมาสู่คุณแม่ค่ะ
9.ผ่อนคลายอารมณ์
จิตใจ อารมณ์ของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์มีผลต่อร่างกายทั้งของแม่และลูกมาก คุณแม่อาจมีความกังวลทั้งจากการตั้งครรภ์ และเรื่องอื่นอยู่หลายกระบุง จะห้ามให้หยุดคิดเหมือนปิดสวิตช์เลยคงไม่ง่ายนัก เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงซะ จะได้ไม่ต้องคิด หันไปทำอย่างอื่นที่รู้สึกรื่นรมย์ มีของที่ชอบไว้ใกล้ ๆ หาหนังสือดี ๆ ภาพสวย ๆ เพลงเพราะ ๆ อาหารอร่อย ดอกไม้สีสดใส ฯลฯ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย หาความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อม แต่อย่าหมกมุ่นในข้อมูลมากเกินไป หรือกลัวสิ่งที่รู้ เราควรรับเพื่อรู้ นำความรู้ที่ได้มาดูแลตัวเองให้ดีที่สุดไงคะ
ขอให้คุณแม่และคุณลูกมีสุขภาพแข็งแรงกันถ้วนหน้านะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.16 No.187 พฤษภาคม 2554