5 คำถาม เพื่อพัฒนาการลูกน้อย (Mother & Care)
ลูกเป็นแรงผลักดันให้คุณทำทุกสิ่งทั้งค้นคว้าข้อมูล การปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉาพะเรื่องพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ ที่คุณหมอแนะนำแล้วว่า แม่ทุกคนสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ สร้างความฉลาด ได้ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์
เราจึงหยิบคำถามที่แม่อยากรู้ ข้อมูลเรื่องพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์มาเป็นตัวตั้ง พร้อมนำเสนอแนวทางง่าย ๆ ที่ช่วยส่งเสริมลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มาฝากค่ะ
Question 1 ฟังเพลงตั้งแต่ตั้งครรภ์ พัฒนาลูกได้จริงหรือ?
ถ้าใช้ความรู้สึกตัดสินกันง่ายๆ ก็ได้ว่า เสียงเพลงช่วยผ่อนอารมณ์และความรู้สึกของคนฟัง และถ้าใช้ข้อมูล ผลวิจัยเรื่องเพลงก็พบว่า องค์ประกอบของเสียงเพลง จังหวะ ทำนอง เสียงร้องมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นสมองส่วนความรู้สึก ความคิด รวมถึงเรื่องจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ที่ล้วนเป็นเรื่องดีช่วยส่งเสริมพัฒนาการการได้ยิน ดังต่อไปนี้ค่ะ
คลื่นเสียงจะกระตุ้นให้เครือข่ายใยประสาทการได้ยินของลูก ทำงานได้ดีขึ้น
ช่วยทำให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยิน มีการทำงานเชื่อโยงต่อกัน ส่งเสริมพัฒนาการและเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด (โดยเฉพาะเสียงคุณแม่คุณพ่อ ที่พูดคุยกับลูกบ่อยๆ)
การได้ยินเสียงเพลงที่เหมาะสม ช่วยให้คุณและลูกอารมณ์ดีสมองเปิดรับสิ่งต่างๆ ได้ดีและมีสมาธิ มีส่วนกระตุ้นให้สมองส่วนระบบความจำของทำงานได้ดีไปด้วย
กิจกรรมการฟังเพลงของแม่ท้อง จึงเป็นเรื่องดีจริง สอดคล้องกับความสามารถการได้ยินของทารก ที่คุณเริ่มพัฒนาได้ตั้งแต่ช่วยสัปดาห์ที่ 16-20 และเป็นวิธีง่ายๆ ที่แม่ท้องควรเลือกปฏิบัติ
Mom Can Do
เพลงที่แม่ชอบ ที่แม่อยากฟังไม่ว่าเพลงเด็ก เพลงไทย เพลงคลาสสิก ที่มีโทนเสียงสบาย ๆ มีความไพเราะมีทำนองช้า ๆ สบาย ๆ เปิดให้ลูกฟังความดังพอประมาณ หรือเลือกร้องเพลง ใช้เสียงของคุณพ่อคุณแม่ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล (ลูกคุ้นเคย) ก็เป็นเพลงดี ๆ มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูก
Question 2 แม่ท้องนั่งเก้าอี้โยกดีต่อพัฒนาการด้านร่างกาย ?
เมื่อคุณเคลื่อนไหวร่างกาย ลูกน้อยที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ ก็ได้รับแรงการเคลื่อนไหว (เอน เอียงตามจังหวะการเคลื่อนไหวของคุณ) โดยผ่านการรับรู้ได้จากผิวหนังของลูก ที่สัมผัสกับผนังด้านในของมดลูก ส่วนแม่ท้องนั่งเก้าอี้โยกส่งเสริมพัฒนาการลูกอย่างไรนั้น สามารถอธิบายได้ว่า การนั่งโยกหน้าแล้วเอนไปด้านหลังอย่างสม่ำเสมอ เป็นการช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ และปรับตัวตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว เท่ากับช่วยพัฒนาเซลล์สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ระบบประสาทสัมผัสทำงานได้ดี
ที่สำคัญ สมองส่วนนี้จะทำงานมีประสิทธิภาพได้ดีหลังคลอด เมื่อมีการกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ
Mom Can Do
ถ้าคุณแม่อยู่บ้านก็อาจนั่งเก้าอี้โยก โดยโยกช้า ๆ เพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าระหว่างวัน ออกกำลังข้อเท้าและขา หรือเลือกกิจกรรมการออกกำลังกายในแบบที่เหมาะกับคุณ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ เป็นต้น
แล้วอย่าลืมเพิ่มความระมัดระวัง นึกถึงเรื่องความปลอดภัยเติมเข้าไปด้วยค่ะ เพราะขณะที่คุณตั้งครรภ์เนื้อเยื่อและข้อเอ็นต่าง ๆ มีความอ่อนนุ่มมาก การหักโหมมากเกินไป อาจทำให้คุณบาดเจ็บ ได้ง่ายกว่าปกติ
Question 3 ส่องไฟหน้าท้องต้องทำอย่างไร ?
วิธีการส่องไฟเป็นการกระตุ้นให้ลูกกะพริบตา ตอนสนองต่อแสงไฟที่คุณส่อง (มองตามแสงไฟ) และช่วยให้เซลล์มอง และเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็น มีพัฒนาการที่ดี เป็นกระบวนการง่าย ๆ ในการเตรียมพร้อมเรื่องการมองเห็นให้กับลูกน้อยในอนาคต
พัฒนาการด้านนี้ของลูกน้อย จะเริ่มปฏิบัติการในช่วงสัปดาห์ที่ 29 หรือช่วงเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์ ด้วยผนังมดลูกของคุณจะเริ่มบางลง ลูกน้อยจึงสามารถลืมตาเห็นสิ่งต่าง ๆ ในมดลูกได้ เห็นแสงจากภายนอกที่ส่องผ่านมามาที่ท้องคุณแม่ค่ะ
Mom Can Do
การส่งเสริมพัฒนาการลูกด้วยการส่องไฟ ถ้าคุณแม่ทำแต่พอดี ก็ไม่มีผลแง่ลบอะไรหรอกค่ะ และมีหนึ่งข้อปฏิบัติที่คุณแม่ควรเข้าใจกับเรื่องการส่องไฟที่ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานมาก เพียงกะระยะห่างจากบริเวณหน้าท้องเล็กน้อย และมีแสงที่ไม่จ้าจนเกินไป เท่านี้ก็สามารถฝึกทักษะเรื่องการมองเห็นของลูกได้
Question 4 สัมผัสแบบไหน ลูกถึงรับรู้ ?
การลูบหน้าท้อง จัดว่าเป็นวิธีแสนง่ายในการกระตุ้นการรับรู้เรื่องผิวสัมผัส ดีต่อพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสและสมองส่วนการรับรู้ความรู้สึก โดยเฉพาะข้อดีเรื่องความรู้สึกจากการสัมผัส ที่ผ่านการลูบหน้าท้องนั้น คือพลังความรักที่ลูกรับรู้ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกเป็นอย่างดี
Mom Can Do
ส่วนมากแล้ววิธีการลูบหน้าท้อง จะเป็นลักษณะวงกลม จะลูบจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน แบบไหนก่อนก็ได้ค่ะ แต่เงื่อนไขสำคัญ การสัมผัสที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ เกิดประสิทธิภาพคือ ต้องใช้หัวใจและความรู้สึกดี ๆ สัมผัสส่งต่อ เพื่อให้ลูกน้อยรับรู้ถึงความรักและเรื่องราวดี ๆ ของคุณแม่
Question 5 การกินของแม่ มีผลกับลูกแค่ไหน ?
คุณแม่มือใหม่หลายคน กังวลกับเรื่องกินประมาณว่า กินได้ กินไม่ได้ กินแล้วดีหรือไม่ดี ซึ่งข้อมูลด้านโภชนาการของแม่ท้องนั้น ถ้าพูดแบบครอบคลุมทั้งหมดอาจไม่พอเนื้อที่ที่มี จึงเป็นเพียงวิธีการกินอาหารอย่างคร่าว ๆ ที่ดีต่อสุขภาพคุณแม่และลูกน้อย ด้วยหลักการกินที่ว่า กินดี มีสุข จะเป็นอย่างไร ไปดูวิธีการกันค่ะ
กินดี
อันดับแรกควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในแต่ละวัน กินสลับสับเปลี่ยนกันไป ไม่เน้นกินอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ถ้ากังวลเรื่องรูปร่างก็เลือกอาหารที่ผ่านการปรุงแบบต้ม นึ่ง หนึ่งทางเลือกเรื่องการกิน ที่ทำให้แม่ท้องสบายใจได้บ้าง
คุณแม่คอกาแฟ ชา เครื่องดื่มแบบมีคาเฟอีน บอกจากใจว่า ควรลด ละ เลิก หันมาดื่มน้ำเปล่าอย่างพอเพียง เพื่อสุขภาพจะดีกว่า
คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง กินได้น้อยหรือไม่รู้สึกหิว ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างค่ะ แนะนำว่า ควรหาขนมปังแครกเกอร์ติดเอาไว้ หรือแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ กินครั้งละน้อย ๆ ก็ช่วยให้ได้รับสารอาหาร ไม่ต้องผืนใจกับเรื่องกินเกินไป
มีสุข
ช่วงเวลาการตั้งครรภ์ร่างกายของคุณจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกได้ ฉะนั้นเรื่องความสุข ความรู้สึกดี ๆ ทางจิตใจนั้น สำคัญกับแม่ท้อง เพราะอย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่แม่ทำ ล้วนถูกถ่ายทอดไปถึงลูก สำหรับวิธีสร้างสุขที่เหมาะสมถูกต้องเป็นอย่างไร คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ก็แค่คุณแม่ปฏิบัติดี รู้สึกดีมีความสุขกับการตั้งครรภ์ ลูกน้อยก็มีความสุขมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ดีไปด้วย
พอจะมองเห็นแนวทางแล้วใช่ไหมคะ ว่าอะไรที่ทำแล้วมีความสุข ผลงานที่ออกมาก็มักจะงดงามสำเร็จเป็นที่พอใจ และน่าจะเป็นหลักการคิดที่ใช้ได้กับทุก ๆ เรื่องของคุณ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.75 มีนาคม 2554