x close

ผ่าตัดคลอด กับ 10 เรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่ ทั้งก่อน-หลังการผ่าคลอด

          ผ่าตัดคลอด หรือ การผ่าคลอด อีกทางเลือกสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีเรื่องอะไรควรรู้บ้าง ตามไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดคลอด ตั้งแต่ก่อนและหลังผ่า จะได้เตรียมตัวคลอดลูกอย่างไร้กังวล
ตั้งครรภ์

          ตั้งแต่คุณแม่ทราบว่ามีชีวิตน้อย ๆ อยู่ในท้องของเรา เชื่อว่าความสุขจะมาเยือนทุกคนในครอบครัวอย่างแน่นอน แต่ยิ่งใกล้ถึงกำหนดวันที่เจ้าหนูน้อยจะได้ลืมตาดูโลกมากขึ้นเท่าไร คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนก็มักจะมีสิ่งที่ทำให้กังวลใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือเรื่องคลอดลูก โดยเฉพาะวิธี “ผ่าตัดคลอด” หรือ การผ่าคลอดทางหน้าท้อง ซึ่งแม้ทุกวันนี้การแพทย์จะเจริญก้าวหน้าไปมาก แต่ด้วยความกลัวการคลอดตามธรรมชาติ ความเชื่อถือเรื่องโชคลางและฤกษ์คลอด รวมไปถึงความสะดวกสบายเรื่องการจัดการเวลา ทำให้การผ่าตัดคลอดเป็นทางเลือกใหม่ที่มีความนิยมสูงขึ้นสำหรับคุณแม่ยุคนี้
 

          ก่อนที่วันสำคัญจะมาถึง คุณแม่อาจมีข้อสงสัยเรื่องการผัดตัดคลอดอยู่หลายเรื่องด้วยกัน วันนี้เราได้รวบรวมคำถามยอดฮิตที่แม่ผ่าคลอดต้องรู้มาฝาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังผ่าคลอด จะได้คลายความวิตกและเตรียมตัวได้อย่างเบาใจค่ะ

1. ผ่าตัดคลอด ตั้งครรภ์แบบไหนที่ต้องผ่า

          ไม่ใช่ทุกการตั้งครรภ์จะเหมาะกับวิธีผ่าคลอดนะคะ อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะแนะนำให้คลอดตามธรรมชาติ และผ่าคลอดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น โดยจะพิจารณาจากความเสี่ยงและปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
 

  • ภาวะอุ้งเชิงกรานแคบ คือภาวะที่ขนาดอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ไม่พอดีกับตัวเด็ก มักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่ตัวเล็ก แล้วเด็กมีขนาดตัวใหญ่กว่าขนาดของอุ้งเชิงกราน ทำให้ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้
     
  • เด็กไม่กลับหัว ไม่เอาศีรษะลง อาจจะก้นเป็นส่วนนำ หรือนอนขวาง ทำให้ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ เพราะจะทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ
     
  • ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติหรืออยู่ในภาวะคับขัน
     
  • มีภาวะรกเกาะต่ำ ปกติแล้วรกจะเกาะอยู่ข้างบน เมื่อรกเคลื่อนตัวลงมาปิดปากมดลูก ซึ่งโดยปกติควรจะต้องเปิดเพื่อให้เด็กออกมา จึงทำให้คลอดตามธรรมชาติไม่ได้
     
  • พบเนื้องอกอยู่ในจุดสำคัญ เช่น อุ้งเชิงกราน ปากมดลูกหรือช่องคลอด ทำให้ขัดขวางช่องทางคลอดไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้
     
  • ครรภ์แฝด ไม่นิยมคลอดธรรมชาติ เนื่องจากเมื่ออีกคนคลอดออกมาแล้ว คนที่ยังไม่ออกมาจะกลิ้งและกลับหัวในระหว่างอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวเด็ก ควรผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัย
     
  • มีโรคที่เป็นอันตราย เช่น มีเชื้อเอดส์ หรือเป็นเริมที่อวัยวะเพศในช่วงเจ็บท้องคลอด รวมถึงมีความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือมีอาการครรภ์เป็นพิษ

    เมื่อคุณหมอพบความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายของทั้งแม่และลูกแล้ว จะทำการนัดผ่าคลอดซึ่งจะนัดผ่าตัดคลอดหลังคุณแม่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ
ตั้งครรภ์

2. การผ่าคลอดมีกี่แบบ

          สำหรับการผ่าคลอด มี 2 ลักษณะ คือ
 

  • ผ่าคลอดแนวตั้ง แนวผ่าตัดจะเริ่มตั้งแต่ใต้สะดือลงมาถึงช่วงกลางหัวหน่าว โดยจะมีการผ่าลงลึกไปถึง 7 ชั้น จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก ยกเว้นกรณีคุณแม่มีภาวะฉุกเฉิน เช่น ลูกน้อยในครรภ์กำลังขาดออกซิเจน ภาวะรกเกาะต่ำมีเลือดออกมาก เป็นต้น
     
  • ผ่าคลอดแนวนอน หรือ แนวบิกินี เป็นที่นิยมมาก เพราะเจ็บน้อยกว่า รอยแผลสวยงาม และดูแลรักษาได้ง่ายกว่า โดยแพทย์จะลงมีดแนวขวาง และโค้งเล็กน้อยบนลำตัวคุณแม่บริเวณเหนือหัวหน่าวหรือที่เรียกว่าเส้นบิกินี่ ความยาวของแผลผ่าตัดส่วนใหญ่จะประมาณ 12-15 ซม.

3. ผ่าตัดคลอด ใช้เวลากี่นาที

          การผ่าคลอดไม่ต้องรอให้ปากมดลูกเปิดเหมือนการคลอดธรรมชาติ คุณแม่จึงไม่ต้องคอยนานเพื่อที่จะเห็นหน้าลูกน้อย โดยปกติการผ่าคลอดใช้เวลาราว 45 นาที - 1 ชั่วโมงเท่านั้น เรียกว่าไวทันใจมาก ๆ ค่ะ พอนำเด็กออกมาแล้ว คุณหมอจะยกรกออกมาด้วย และฉีดสารออกซิโตซินกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ลดการเสียเลือด พร้อมกับป้องกันการตกเลือดหลังคลอด จากนั้นจะเย็บปิดแผลที่มดลูก ชั้นกล้ามเนื้อ และผิวหนังบริเวณหน้าท้องตามลำดับ

4. ขั้นตอนการผ่าตัดคลอด บล็อกหลังเจ็บไหม

          การผ่าคลอด แพทย์มักจะฉีดยาชาแก้ปวดหรือบล็อกหลัง ซึ่งเป็นการฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ เพื่อให้คุณแม่มีสติอยู่ตลอดเวลาระหว่างทำคลอด โดยไม่มีความรู้สึกเจ็บตั้งแต่ช่วงเอวลงไปถึงขาทั้งสองข้างในขณะผ่าตัด คุณแม่จึงสามารถสื่อสารกับคุณหมอและพยาบาลได้ค่ะ หลังจากคุณแม่ถูกระงับความรู้สึกแล้ว แพทย์จะใช้มีดผ่าตัดที่ผนังหน้าท้อง แล้วผ่าเปิดมดลูก จากนั้นจึงนำลูกน้อยและรกที่อยู่ในมดลูกออก
 

          นอกจากไม่เจ็บปวดขณะคลอดแล้ว การบล็อกหลังยังไม่มีผลทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหลังอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจผิด แต่อาการปวดหลังของคุณแม่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการนั่งให้นมลูกนานในท่าที่ไม่สบาย ก้มตัว หลังงอ เก็บของหรือยกของหนักผิดท่านั่นเองค่ะ

ตั้งครรภ์

5. ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ถึงจะไม่อันตราย

          การผ่าคลอดสามารถทำได้หลายครั้ง แต่หากผ่าเกินครั้งที่ 3 ขึ้นไป คุณแม่จะเริ่มมีความเสี่ยงในการผ่าตัดมากขึ้น เพราะทุกครั้งที่ผ่าตัดจะมีพังผืดเป็นแผลเป็นเกิดขึ้นที่อวัยวะภายใน พังผืดนี้จะดึงรั้งอวัยวะภายในที่อยู่ใกล้กับมดลูกเข้ามาใกล้เมื่อมีการผ่าตัด ทำให้มีความเสี่ยงที่จะผ่าโดนอวัยวะข้างเคียงมากขึ้น ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร

6. ผ่าคลอดใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน

          คุณแม่ผ่าคลอดจะเจ็บแผลและใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ หากไม่มีอาการแทรกซ้อน คุณแม่ก็จะฟื้นตัวภายใน 12 ชั่วโมง และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 4-5 วัน ซึ่งหลังจากออก รพ. แล้วคุณแม่ควรจะดูแลแผลผ่าตัดเป็นอย่างดี เพราะแผลผ่าตัดเป็นแผลสด มีโอกาสที่จะติดเชื้อ อักเสบ และปริได้ ทั้งนี้ รอยแผลเป็นบริเวณหน้าท้องคุณแม่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อรักษาให้หายดีและแห้งสนิท

7. ผ่าตัดคลอด ดูแลตัวเองอย่างไรดี

          การดูแลแผลผ่าคลอดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้แผลอักเสบติดเชื้อและไม่เป็นแผลเป็นง่าย คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
 

  • เวลาลุกนั่ง ยืน หรือเดิน ควรทำอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้แผลที่หน้าท้องตึงเกินไป ซึ่งอาการปวดแผลส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ทุเลาลงหลัง 48 ชั่วโมง
     
  • การใส่ผ้ารัดหน้าท้อง จะช่วยให้อาการเจ็บแผลผ่าตัดบรรเทาลง และไม่ให้แผลผ่าตัดถูกดึงรั้งจากผนังหน้าท้องที่ยังหย่อน
     
  • ห้ามแกะแผล และระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ ก่อนแพทย์นัดตรวจแผลผ่าตัด หลังจากตัดไหม หรือแผลแห้งดีแล้ว หากโดนน้ำควรใช้ผ้าสะอาดซับน้ำ หรือเช็ดแผลเบาๆ เท่านั้น
     
  • รับทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ
     
  • ไม่ยกของหนักหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง งดเว้นการบริหารที่ต้องยืดกล้ามเนื้อจนกว่าแผลจะหาย เพราะจะทำให้แผลอักเสบ และมีอาการเจ็บแผลได้
     
  • หากมีอาการปวดแผล มีการอักเสบ บวมแดง แผลฉีกขาด หรือมีหนอง มีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ตั้งครรภ์

8. ผ่าตัดคลอด อยู่ไฟได้ไหม

          คุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดสามารถอยู่ไฟได้เช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ แต่ต้องรอให้แผลผ่าตัดแห้งสนิท หายดีก่อน และร่างกายฟื้นตัวดีแล้วหลังผ่าตัดประมาณ 30-45 วัน และควรตรวจหลังคลอดตามแพทย์นัด ดังนั้นก่อนการอยู่ไฟ คุณแม่ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ

9. ผ่าตัดคลอด ห้ามกินอะไรบ้าง

          หลังผ่าคลอดคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ 24 ชั่วโมง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย คุณหมอจะให้เริ่มจิบน้ำหรือรับประทานอาหารเหลว เช่น ซุป น้ำแกงใส ๆ โจ๊ก ทีละนิด หลังจากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารย่อยง่ายรสจืด พยายามเลี่ยงการดื่มนมหรือน้ำอัดลม เพราะจะทำให้ท้องอืด รวมถึงงดอาหารรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารหมักดอง แอลกอฮอล์ กาแฟ ชา และน้ำอัดลมหรือมีคาเฟอีน
 

          ส่วนความเชื่อที่มีมากันตั้งแต่โบราณ ว่าหลังผ่าคลอดห้ามกินไข่ ห้ามกินข้าวเหนียว ในทางการแพทย์มีการออกมาชี้แจงว่า ไข่เป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มของโปรตีน ที่มีส่วนช่วยให้แผลแห้งและหายเร็ว มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป ส่วนข้าวเหนียว จัดเป็นอาหารจำพวกแป้ง กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานสูง ซึ่งไม่มีผลทำให้แผลอักเสบ หรือทำให้แผลหายช้าแต่อย่างใดค่ะ

10. ผ่าตัดคลอด เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

          คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อน้ำคาวปลาหมด แผลหายดี และมดลูกกลับสู่ขนาดใกล้เคียงกับช่วงก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่หลังจากคลอดแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ แต่ต้องให้แพทย์ตรวจแผลก่อนทั้งแผลด้านนอกและแผลด้านในว่าแห้งสนิทดีหรือไม่ เพราะถ้ายังไม่แห้งหากมีเพศสัมพันธ์จะเจ็บซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่ดีกับการมีเพศสัมพันธ์ได้
 

          ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ หรือ ผ่าตัดคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรศึกษาและเตรียมตัวให้ดี ปรึกษาคุณหมอ และไปตรวจครรภ์ตามกำหนด ไม่ต้องตื่นเต้นหรือกลัวมากเกินไป เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดีสำหรับตัวเองและลูกน้อยค่ะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : sikarin.com, phyathai.com, paolohospital.com, bangkokhospital.com, samitivejhospitals.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผ่าตัดคลอด กับ 10 เรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่ ทั้งก่อน-หลังการผ่าคลอด อัปเดตล่าสุด 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:47:57 18,244 อ่าน
TOP