x close

ออทิสติก ป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์

ปัญหาคนตั้งครรภ์

          ปัญหาคนตั้งครรภ์ แม้จะมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ค่ะ โดยเฉพาะโรคออทิสติกที่คุณแม่ป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ และวันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้จากนิตยสาร Mother & Care และวิธีป้องกันให้ลูกในครรภ์ห่างไกลโรคออทิสติกมาแนะนำคุณแม่กันค่ะ

          เมื่อปลายปี 2554 Center for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า จำนวนเด็กออทิสติกได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 188 คือ ในเด็กทั้งหมด 88 คน จะมีเด็กออทิสติก 1 คน

          จำนวนนี้แสดงถึงประชากรออทิสติกที่เพิ่มมากขึ้นถึง 23% ในระยะเวลา 2 ปี หรือเท่ากับ 78% ในระยะเวลา 5 ปี จากการศึกษาพบด้วยว่า เด็กชายมีแนวโน้มเป็นออทิสติกมากกว่าเด็กหญิงถึง 5 เท่า หรือจะให้ชัดเจนกว่านั้นคือ ในเด็กชายจะเป็นออทิสติก 1:54 ส่วน เด็กหญิงโอกาสเป็นออทิสติกจะน้อยลงบ้าง คือประมาณ 1:252 คน คำถามคือเกิดอะไรขึ้น ?

          ถึงแม้ว่าศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ จะเขียนคำแนบต่อท้ายว่า เหตุผลที่จำนวนเด็กออทิสติกเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "คนตระหนักถึงความผิดปกติมากขึ้น รวมถึงการวินิจฉัยก็ทำได้ดีขึ้น" แต่ตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นถึง 1:88 คน นั้นก็ยังทำให้เป็นที่น่ากังขาว่า อะไรที่เป็นเหตุผลทำให้ภาวะบกพร่องทางพฤติกรรม และการเข้าสังคมหรือออทิสติกนั้นระบาดได้อย่างรวดเร็วและมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

          ขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ สาขา ได้ทำการวิจัยอย่างเข้มงวดนั้น ในช่วงแรกวัคซีนถือว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะออทิสติกนี้ จนเมื่อไม่นานมานี้งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นแสดงให้เห็นว่า มีเด็กจำนวนไม่มากนักที่ได้รับวัคซีนแล้วจึงแสดงอาการคล้ายออทิสติก นั่นทำให้ข้อสงสัยในประเด็นนี้ค่อนข้างเบาบางลง (แต่ก็ไม่หมดสิ้นเสียทีเดียว เนื่องจากนักวิจัย บางส่วนได้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนบางชนิดกับออทิสติกเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า ในวัคซีนบางประเภทยังมีการใส่สารโลหะหนักบางอย่างที่อาจส่งผลต่อเส้นใยประสาทได้)

          ประเด็นเรื่องออทิสติกตอนนี้จึงพุ่งเป้าไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คำถามก็คือ แล้วสิ่งแวดล้อมตัวใดที่ทำให้เกิดออทิสติกได้ คุณพ่อคุณแม่อาจตั้งคำถามว่า เราเคยได้ยินเรื่องในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว แต่ทำไมเราจึงยังไม่ทราบอย่างชัดเจนเสียทีว่าสิ่งแวดล้อมที่หมายถึงนี้คืออะไรบ้าง

          ซึ่งเรื่องนี้มีการถกเถียงมาอย่างยาวนาน และแน่นอนว่าจะยังมีการถกเถียงกันต่อไป นั่นก็เป็นเพราะ :

          1. ยากที่จะทำการวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบางครั้งสิ่งแวดล้อมก็ยากที่จะควบคุมได้

          2. สิ่งแวดล้อมในที่นี้มีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นประเภทของสารเคมี สภาพสังคม อาหารที่กิน ยาที่ใช้ระหว่างตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์

          3. การทำงานวิจัยมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

          4. การแพทย์สายหลักมองว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงมีตัวแปรอีกมากถ้าเทียบกับการวิเคราะห์หาสาเหตุทางพันธุกรรม

          5. ถึงแม้จะทราบว่าสิ่งแวดล้อมในมุมกว้างแล้ว ก็ยังยากจะวิเคราะห์อีกว่าเป็นตัวไหนกันแน่

ป้องกันออทิสติก ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ได้อย่างไร

          Dr.Martha Herbert ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ด้านระบบประสาท จาก Harvard Medical School ได้ยกตัวอย่างเคสในการประชุมประจำปีของลูก 2 คนแรกของเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกไว้ว่า :

          การตั้งครรภ์ การให้กำเนิด และช่วงวัยเตาะแตะ ล้วนมีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่สมองรวมถึงระบบย่อยต่าง ๆ ได้รับการพัฒนา รวมไปถึงเป็นช่วงที่เด็กได้สัมผัสกับโลกภายนอกเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่เรากลับรู้เรื่องต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสมองและระบบย่อยต่าง ๆ ของตัวอ่อนในครรภ์ได้น้อยมากเหลือเกิน เราทราบเพียงแต่ว่า แอลกอฮอล์สารเสพติด รวมถึงยาบางชนิด ล้วนเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แต่สิ่งที่นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสูบบุหรี่ การกินอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน การไม่เพิ่มน้ำหนักมากจนเกินไป รวมถึงการกินวิตามินรวม เป็นเรื่องที่คุณแม่แต่ละคนคงต้องพิจารณาเอาเอง

          เรื่องของคุณแม่รายนี้เกิดขึ้นเมื่อเธอมีลูก 2 คนก่อนหน้านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติก เธอไม่รู้ว่าเธอทำอะไรผิดพลาดในระหว่างตั้งครรภ์ (หรือก่อนการตั้งครรภ์กันแน่) สิ่งหนึ่งที่เธอทำหลังจากที่พบว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 3 ก็คือ เธอเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันภาวะออทิสติก ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลไม่ได้มีมากมายอย่างที่คิด หลังจากที่เธออ่านงานวิจัยที่ทำขึ้นเมื่อไม่นานมานี้บ้าง อ่านบทความที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะออทิสติกทั้งที่เกี่ยวโดยตรงและไม่เกี่ยวโดยตรงบ้าง มีประเด็นที่ทำให้เธอสนใจ คือ การเปลี่ยนแปลงการกินอาหาร (ซึ่งเธอพยายามเลือกกินอาหารออร์แกนิก รวมถึงพยายามทำอาหารกินเองมากขึ้น) ไม่กินอาหารแปรรูป หลีกเลี่ยงสารเคมีรวมถึงสารทำความสะอาดประเภทเข้มข้น และยาฆ่าแมลงทุกชนิด

          สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ท่านนี้อ่านพบก็คือ ระหว่างตั้งครรภ์นั้น การอักเสบไม่ว่าจะส่วนไหนของร่างกายจะส่งผลต่อลูกในครรภ์ เธอจึงกินน้ำมันปลา วิตามินรวม และหลีกเลี่ยงการฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ เธอบอกว่า เธอตัดสินใจถูกที่ผ่าต่อมทอนซิล ออก เพราะตอนที่เธอตั้งครรภ์ 2 ครั้งแรก เธอเกิดต่อมทอนซิลอักเสบทั้ง 2 ครั้ง

          Dr.Martha ถามว่า ทำแบบนี้แล้ว คุณแม่สบายใจขึ้นแล้วใช่ไหม ? เธอกลับตอบว่า ถึงแม้เธอจะเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอคลายความกังวลลงได้เลย เธอกังวลตลอดการตั้งครรภ์เสียด้วยซ้ำ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อวันนัดอัลตร้าซาวด์ เพราะเธอรู้ว่า ขนาดศีรษะของทารกในครรภ์นั้นเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงของภาวะออทิสติกอย่างหนึ่ง เธอกล่าวด้วยว่า ลูกชายทั้ง 2 คนก่อนหน้านี้มีขนาดศีรษะใหญ่เกินปกติ ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็ใหญ่อยู่ดี

          เธอเลือกที่จะคลอดวิธีธรรมชาติ (ที่สหรัฐฯ แพทย์จะเลือกวิธีคลอดแบบธรรมชาติให้ ยกเว้นในกรณีที่มีความผิดปกติในการตั้งครรภ์จึงจะเลือกใช้วิธีผ่าคลอด) หลังจากผ่าน due date มาแล้ว 2 สัปดาห์ สัญญาณเตือนการคลอด เช่น น้ำเดิน และปากช่องคลอดเปิดก็เกิดขึ้น ซึ่งเธอใช้เวลาในการเบ่งประมาณ 15 นาที ลูกชายคนนี้แข็งแรงสมบูรณ์ และสูงกว่าพี่ชายทั้ง 2 คนเกือบ 3 นิ้ว เลยทีเดียว

โภชนาการ

          เหมือน ๆ กับทุกช่วงอายุ สิ่งที่สำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คือ การกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นต้นว่า ผักหลายสี ผลไม้ ธัญพืช รวมถึงโปรตีน หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูปและสารปรุงแต่งอาหาร ถึงแม้จะได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็ตาม เพราะอย่าลืมว่า สารปรุงแต่งอาหารเหล่านี้มักจะไม่ได้รับการทดสอบว่าส่งผลต่อพัฒนาการจริงหรือไม่

          คุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์ มักจะส่งต่อปัญหาเหล่นี้ไปยังลูกเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่คุณแม่ควรจะกินวิตามินรวม และวิตามินที่ได้รับการแนะนำว่าควรกินเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่งผลต่อทารกในครรภ์ก็คือ โฟลิก กรดไขมัน และวิตามินดี มีงานวิจัยรองรับด้วยว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้กินวิตามินระหว่างตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงจะมีบุตรเป็นออทิสติกถึง 60% และจะยิ่งเสี่ยงมากกว่านั้นถ้าคุณแม่มีปัญหาเรื่องของพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย

ความเครียด

          ความเครียดถือว่าเป็นปัญหาต้น ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ที่เราทราบกันว่าส่งผลต่อพัฒนาการทั้งระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน ดังที่เคยเกริ่นในตอนก่อน ๆ

          ส่วนวิธีการลดความเครียดที่ได้ผลดีและส่งผลดีต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างมากก็คือ การออกกำลังกายและการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ คุณแม่ควรจะหาเวลาเรียนรู้การผ่อนลมหายใจ ซึ่งในท้ายที่สุดจะช่วยคลายความเจ็บปวดระหว่างที่คลอดบุตรอีกด้วย

การติดเชื้อ

          การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์จะเป็นตัวกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคให้ทำงานมากจนเกินไป เป็นการเพิ่มอัตราเสี่ยงของพัฒนาการทางระบบประสาทให้ทำงานบกพร่อง แม้ว่างานวิจัยจะยังไปไม่ถึงว่าเชื้อประเภทไหนที่จะส่งผลต่อระบบประสาทโดยตรงบ้าง แต่งานวิจัยที่มีอยู่ทำให้เราทราบว่า การป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด

          คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะหลีกเลี่ยงการป่วย ไม่ว่าจะเป็นการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ พยายามล้างมือบ่อย ๆ ยิ่งโดยเฉพาะก่อนกินอาหาร ควรใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น ถ้าเป็นไปได้ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดก่อนที่จะตั้งครรภ์

          อีกประการหนึ่งคือ แมวสามารถส่งต่อเชื้อ toxoplasmosis ที่ส่งผลต่อความบกพร่องของสมองทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นถ้าคุณแม่เลี้ยงแมวที่บ้าน ควรจะหาคนมาทำความสะอาดกล่องขับถ่ายของแมวแทนที่จะทำด้วยตัวเองจะดีที่สุดค่ะ

สารพิษ

          คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสารพิษ และสารเคมีให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด และยาฆ่าแมลง ถ้ามีความจำเป็นให้พยายามใช้ยาฆ่าแมลงแบบธรรมชาติจะดีที่สุด

          อย่าลืมว่า ช่วงเวลาตั้งครรภ์ไม่ควรเป็นช่วงเวลาปรับปรุงตกแต่งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรื้อผนัง เปลี่ยนพื้น และการซ่อมแก้ใหญ่ ๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง การใช้สารเคมีในช่วงนี้ ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายผ่านจมูก ปอด ปาก ผิวหนัง (และนั่นหมายถึงสามารถเข้าไปในระบบหมุนเวียนโลหิต) และส่งตรงถึงทารกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องซ่อมแซมบ้าน คุณแม่ก็ควรจะหาที่อยู่อื่นชั่วคราวจนกว่าจะซ่อมแซมบ้านเรียบร้อย

          นอกเหนือจากการปรับปรุงตกแต่งบ้านแล้ว การทำศัลยกรรมต่าง ๆ เช่น การฉีดโบท็อกซ์ หรือการทำจมูก เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง อย่างน้อยก็ควรจะเป็นระยะเวลา 6-12 เดือนก่อนตั้งครรภ์จึงจะปลอดภัยที่สุด

          ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะทำเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์คือ การที่แม่พยายามหลีกเลี่ยงสารเคมีต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กินอาหารปลอดสารพิษ และปลอดจากการฉีดยาฆ่าแมลง กินแป้งไม่ขัดสีเพื่อป้องกันการแพ้โปรตีนจากแป้ง หลีกเลี่ยงน้ำตาลหรือน้ำผลไม้แบบใส่น้ำเชื่อม ไม่เครียด หลีกเลี่ยงความเสี่ยงของเชื้อโรค รวมถึงได้รับวิตามินดีให้เพียงพอ แค่นี้ก็ช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะออทิสติกได้แล้วค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.132 ธันวาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ออทิสติก ป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 18 มกราคม 2559 เวลา 16:27:02 69,996 อ่าน
TOP