แม่ท้องลดอาการท้องผูก ได้ด้วยอาหาร

แม่ท้องท้องผูก

          อาการท้องผูกในแม่ท้องเป็นเรื่องปกติ เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้ มาแนะนำคุณแม่ท้องที่มีอาการท้องผูก ด้วยการปรับเปลี่ยนการกินอาหารอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณแม่ไม่รู้สึกอึดอัดและสบายท้อง ส่วนจะมีอาหารอะไรบ้างนั้นเราไปดูจาก นิตยสาร MODERNMOM กันเลยค่ะ ^^


          แม่ท้องมักมีอาการท้องผูก สาเหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้กระบวนการย่อยของอาหารช้าลง และทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำในปริมาณที่มากเกินไป และเมื่อมดลูกขยายตัวการหดรัดตัวกดทับลำไส้ ทำให้การทำงานของลำไส้เคลื่อนไหวช้าลงอุจจาระจึงจับตัวเป็นก้อนแข็ง

ท้องผูกป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่มีเส้นใย

          เริ่มจากไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์แม่ท้องควรได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอ วันละ 20-30 กรัม เพื่อเพิ่มปริมาณกากอาหาร เมื่อเรากินอาหารที่มีเส้นใยสูง ใยอาหารเหล่านั้นจะถูกส่งผ่านต่อไปยังลำไส้ เนื่องจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไม่สามารถย่อยใยอาหารได้ ใยอาหารที่อยู่ในลำไส้จะช่วยอุ้มน้ำไว้ ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม มีน้ำหนักและปริมาณเพิ่มขึ้น อุจจาระจึงเคลื่อนผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่มีการบีบตัวบ่อย ลักษณะอุจจาระที่ออกมาจะไม่เป็นก้อนแข็ง อาหารที่มีเส้นใยสูงมาจากการกินอาหารประเภทผักผลไม้ ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าว แป้งที่ไม่ขัดสีเป็นประจำ

เป้าหมายต้องพิชิต

          กินผักให้ได้วันละ 200-300 กรัม เช่น มะเขือ ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบ คะน้า ผักกระเฉด ฟักทอง ผักหวาน ใบยอ เห็ด ผักบุ้ง กินผลไม้วันละ 2-3  ชนิด เช่น กล้วยน้ำว้าสุก ลูกพรุน มะละกอ ส้มโอ แก้วมังกร ฝรั่งสุก ส้มเขียวหวาน กินธัญพืชที่มีเส้นใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ข้าวโอ๊ต ลูกเดือย ข้าวโพด กินถั่วเมล็ดแห้งสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง

แม่ท้องท้องผูก

1. ดื่มน้ำสะอาด วันละ 8-10 แก้ว

          น้ำช่วยให้อาหารที่ย่อยแล้วผ่านไปที่ลำไส้ได้เร็วขึ้น ทำให้กากใยอาหารอ่อนตัว อุจจาระจึงอ่อนนุ่ม แม่ท้องควรดื่มน้ำทีละน้อย จิบบ่อย ๆ ดื่มก่อนที่จะรู้สึกว่ากระหาย เพราะนั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายขาดน้ำแล้ว แม่ท้องควรเลือกดื่มน้ำเปล่าเป็นอันดับแรก สลับด้วยเครื่องดื่มสมุนไพร หรือน้ำผลไม้อื่น ๆ ที่ไม่หวานจัด เช่น

       น้ำผัก ผลไม้ : น้ำมะนาว น้ำส้มสด น้ำมะเขือเทศ น้ำลูกพรุน น้ำผัก

       น้ำสมุนไพรที่ไม่หวานจัด : น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะขาม น้ำเก๊กฮวย น้ำมะตูม น้ำมะขาม น้ำใบบัวบก

       น้ำผลไม้ปั่น : สมูทตี้กล้วยหอม แครอทปั่นผสมโยเกิร์ต

2. เคี้ยวอาหารทุกคำให้ละเอียด

          มดลูกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นของแม่ท้องไตรมาสที่ 2-3 จะไปกดทับกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้ทำงานช้าลง การเคี้ยวอาหารละเอียดช่วยให้อิ่มเร็ว อาหารย่อยง่ายขึ้น ป้องกันอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง

3. แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ

          มีอาหารว่างคั่นระหว่างมื้ออาหารหลัก 1-2 มื้อเสมอ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารดูดซึมและไม่ต้องทำงานหนัก

4. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

          เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน : เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เนื่องจากเครื่องดื่มประเภทนี้เร่งการขับน้ำออกจากร่างกาย ทำให้อุจจาระแข็ง

           อาหารที่มีไขมันสูง : จะทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ย่อยยากมีผลโดยตรงต่อการขับถ่าย เช่น อาหารทอดกรอบ เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป กะทิ

           อาหารกึ่งดิบกึ่งสุก : เช่น ลาบ ปลาดิบ อาหารดิบ ย่อยยากกว่าอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ถ้าทำไม่ถูกวิธี วัตถุดิบ มีการปนเปื้อนแบคทีเรียอาจทำให้ท้องเสียได้ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ

          แม่ตั้งครรภ์มีฮอร์โมนเปลี่ยนไป และร่างกายมีการปรับสรีระ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีอาการท้องผูก การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.234 เมษายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่ท้องลดอาการท้องผูก ได้ด้วยอาหาร อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2558 เวลา 11:16:09 6,247 อ่าน
TOP
x close