เมื่อน้ำหนักครรภ์คุณแม่ท้องมากขึ้น การดูแลสุขภาพเท้าคุณแม่เป็นเรื่องที่ต้องดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับน่ารู้ การดูแลสุขภาพเท้าของคุณแม่มาฝากกันค่ะ พร้อมแล้วไปดูเคล็ดลับการดูแลสุขภาพเท้าของคุณแม่กับนิตยสาร Mother & Care กันเลยค่ะ ...
เท้า ส่วนที่อยู่ล่างสุดของร่างกายนั้น บางครั้งเราอาจลืมนึกถึงหรือใส่ใจไม่มากพอ เหมือนส่วนอื่นที่เห็นเด่นชัด เช่น ใบหน้า แขนขา ทั้งยังอาจมีสิทธิ์เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพเท้าในแม่ท้องได้ด้วย มาเรียนรู้วิธีดูแลสุภาพเท้ากันดีกว่าค่ะ
1. เส้นเลือดขอด
เมื่อครรภ์ขยายจนกดทับเส้นเลือดดำขนาดใหญ่ในช่องท้อง การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก เห็นชัดเจนบริเวณต้นขา น่อง และข้อเท้า เพราะเป็นบริเวณที่อยู่ด้านล่างของร่างกายเลือดไหลมารวมกัน
Mom can do :
อาการที่เกิดเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ วิธีดูแลจึงเป็นเพียงบรรเทาอาการให้เกิดได้น้อยลงคุณแม่เลี่ยงอิริยาบถจากท่ายืนหรือนั่งนาน ๆ เป็นการนอนพักหรือนอนในท่าตะแคง เลือดจะกลับไปที่หัวใจได้ดีขึ้น
2. กลิ่นเท้า
เพราะต่อมเหงื่อที่เท้าทำงานตลอดเวลา เมื่อความชื้นผสมกับแบคทีเรียที่อยู่บนผิวทำให้เกิดกลิ่น ดังนั้น การใส่ถุงเท้า รองเท้าตลอดวัน โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อนหรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย เป็นต้น จะทำหี้เหงื่อได้ง่ายและแบคทีเรียเติบโตได้ดี
Mom can do :
ล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง หลังจากกิจกรรมที่ต้องเสียงเหงื่อ โดยเฉพาะซอกนิ้ว เป็นจุดอับที่ไม่ควรละเลย
ทำความสะอาดรองเท้าเป็นประจำ เช่น นำไปผึ่งแดด หรือหากถอดซักได้ก็ควรทำสัปดาห์ละครั้ง
เล็บเท้า เป็นส่วนที่เพาะเชื้อได้ง่ายมากควรทำความสะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วก็หมั่นตัดเล็บด้วยค่ะ
3. นวดเท้า
เท้าเป็นส่วนที่รับน้ำหนักตัวเรามาตลอดวัน จนทำให้รู้สึกปวดหรือเมื่อยล้ากันเลยทีเดียว ฉะนั้น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนขาและเท้าด้วยการนวด จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้หมุนเวียนได้ดี
Mom can do :
สำหรับการนวดเท้าแบบกดจุด คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก และ 3 เดือนสุดท้ายควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด แต่ถ้าต้องการนวด ควรนวดแบบผ่อนคลาย โดยใช้ท่าทางดังนี้
นวดเท้า ใช้มือประคองข้อเท้าคุณแม่ไว้ แล้วใช้มืออีกข้างนวดฝ่าเท้าคุณแม่เรื่อย ๆ จากปลายเท้าลงมาจนถึงส้นเท้า ห้ามกดนวดลงบนส้นเท้าและข้อเท้าโดยตรง เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์ได้
นวดนิ้วเท้า ใช้อุ้งมือรองรับส้นเท้าคุณแม่ และใช้มืออีกข้างจับนิ้วเท้าทั้งหมดไว้ ออกแรงดัดไปข้างหน้าข้างหลังเบา ๆ มือ จากนั้นจับนิ้วเท้าทีละนิ้วหมุนวนไปมา
4. เลือกรองเท้า
ยิ่งครรภ์แก่ขึ้น เท้าก็ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เพราะระบบการไหลเวียนของเลือดที่ไม่คล่องตัวจึงทำให้เกิดอาการเท้าบวม ฉะนั้น ควรเลือกสวมใส่รองเท้าที่เดินสบายไม่บีบรัด และไม่ลื่น
Mom can do :
เลือกรองเท้าที่ใส่สบายไม่คับแน่นหรือหลวมไป และควรเปลี่ยนรองเท้าตามขนาดเท้าที่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละช่วงอายุครรภ์ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน คุณแม่ควรเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ด้วย โดยเลือกรองเท้าที่พื้นรองเท้าเกาะพื้นได้ดี เพื่อช่วยป้องกันการลื่นล้ม
5. เท้าแตก
การใส่รองเท้าเปิดส้นนาน ๆ เช่น รองเท้าแตะ เหมือนเป็นการเปิดผิวให้สัมผัสอากาศมากไปจนขาดความชุ่มชื่น
ห้องปรับอากาศจะมีความชื้น ความเย็นทำให้ผิวแต่ละส่วนขาดความชุ่มชื่น รวมไปถึงบริเวณส้นเท้าที่แห้งกร้าน แตกง่าย
อายุที่มากขึ้นก็มีเอี่ยว ทำให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมสภาพ ความชุ่มชื่นน้อยลง พบปัญหานี้ในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนและวัยสูงอายุ
ภาวะบางอย่าง เช่น ผิวแห้งง่าย โรคอ้วน ผิวที่บริเวณส้นเท้ารับน้ำหนักมากเกินจนทำให้เกิดปัญหาส้นเท้าแตก
Mom can do :
ใช้โลชั่น ครีม หรือน้ำมัน ทาบริเวณส้นเท้าบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น
แช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 10 นาที เช็ดให้แห้ง แล้วนวดด้วยโลชั่นหรือน้ำมัน ก็เป็นวิธีทำสปาเท้าง่าย ๆ ที่ทำได้เอง
ถ้าอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศควรใส่รองเท้าหุ้มส้น สวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าลำลอง ก็ช่วยปกป้องลดปัญหาส้นเท้าแตกได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.11 No.123 มีนาคม 2558