การเปลี่ยนแปลงในร่างกายเมื่ออายุครรภ์คุณแม่มากขึ้นเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งอาการปวดร้าวหว่างขาไปจนถึงอวัยวะเพศในแม่ตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ การดูแลตัวเองในช่วงน้ำหนักครรภ์มากขึ้น มาฝากคุณแม่ตั้งครรภ์ พร้อมแล้วไปดูวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นจากนิตยสาร MODERNMOM กันเลยดีกว่าค่ะ ^^
ในช่วงของการตั้งครรภ์ คุณแม่มักเกิดความไม่สุขสบายได้หลายอย่างด้วยกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ รวมทั้งการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เองด้วย ตัวอย่างเช่น อาการแพ้ท้องในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก อาการบวมจากการไหลเวียนเลือดไม่ดีในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เป็นต้น
อาการไม่สุขสบายอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ อาการปวดเมื่อยร่างกาย ซึ่งมักจะเกิดเมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนตอนก่อนตั้งครรภ์ จากอิทธิพลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างขณะตั้งครรภ์ ทำให้อาการต่าง ๆ เป็นมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ท้องคุณแม่จะยื่นมากขึ้น ทำให้หลังแอ่น รวมทั้งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น สามารถทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังและขาได้ง่าย นอกจากนั้นทารกในครรภ์ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น และดิ้นแรงมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งอาจส่งเสริมให้เกิดความไม่สุขสบายมากขึ้นไปด้วย
อาการเจ็บหว่างขาร้าวถึงอวัยวะเพศจึงเป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อย ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ครับ การปวดบริเวณหว่างขา หรือขาหนีบ รวมทั้งอาการปวดร้าวไปบริเวณอวัยวะเพศนั้น โดยทั่วไปไม่ได้เป็นอาการที่ผิดปกติแต่อย่างไร โดยอาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบนั่นเอง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะน้ำหนักคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น ท้องที่โตขึ้น รวมทั้งลูกน้อยในท้องที่ตัวโตมากขึ้น การดิ้นของลูกที่แรงมากขึ้น นอกจากนั้นการที่ลูกในท้องมักจะมีศีรษะเป็นส่วนนำ และอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก คือบริเวณหัวหน่าวนั่นเอง ศีรษะทารกที่กดอยู่บริเวณนั้นจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหรือปวดเมื่อยบริเวณ ดังกล่าว รวมทั้งปวดร้าวไปยังบริเวณอวัยวะเพศได้มากขึ้น นอกจากนั้นการที่เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดการบวม หรือดึงบริเวณอวัยวะเพศได้อีกด้วย
การดูแลตัวเองในกรณีนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ คุณแม่อาจลองปรับเปลี่ยนท่าทางในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานให้สะดวกสบายมากขึ้น หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนาน ๆ พยายามพักผ่อนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการนอนพักหรือนั่งเอนตัวในท่าที่สบาย หลีกเลี่ยงการกดทับบริเวณหัวหน่าว เช่น การนั่งนาน ๆ การก้มเงยบ่อย ๆ เป็นต้น ถ้าเป็นมากคุณแม่สามารถกินยาแก้ปวดได้ตามความจำเป็นนะครับ รวมทั้งอาจใช้วิธีนวดเบา ๆ หรือประคบน้ำอุ่น ก็อาจช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกันครับ
โดยสรุปแล้ว คุณแม่ไม่ต้องกังวลอะไรมากมายกับอาการที่เกิดขึ้นนะครับ เป็นเรื่องที่ไม่มีอันตรายอะไร เพียงแต่เป็นความไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นได้ตามปกติเท่านั้น ทนรออีกสักนิดก็จะได้เห็นหน้าลูกน้อยแล้ว ซึ่งคุ้มค่ากับการที่คุณแม่ต้องอดทนกับความไม่สุขสบายต่าง ๆ มาตลอดการตั้งครรภ์แน่นอนครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.20 No.233 มีนาคม 2558