คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการกินอาหารเป็นพิเศษระหว่างการตั้งครรภ์
กินเพื่อลูกน้อยในครรภ์ (Mother&Care)
โดย : นพ.นทดล ชูเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น
สารอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยในการบำรุงสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรง เจริญเติบโตสมบูรณ์ โดยสารอาหารต่าง ๆ ที่คุณแม่ได้รับตลอดช่วงระหว่างที่ตั้งครรภ์จะถูกเก็บสะสมไว้ เพื่อใช้เป็นพลังงานในการคลอดและผลิตน้ำนมให้ลูกน้อยต่อไป ดังนั้น คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการกินอาหารเป็นพิเศษระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะหากคุณแม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และไม่เหมาะสมแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งคุณแม่และลูกน้อยไปด้วย
สารอาหารดี ๆ ของแม่ตั้งครรภ์
สารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี กรดโฟลิก ไอโอดีน สังกะสี ธาตุเหล็ก แคลเซียม โอเมก้า 3 โดยแหล่งสารอาหารที่สามารถกินได้ มีดังนี้
สารอาหาร | พบมากในอาหาร |
โปรตีน | ไข่ เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ นมและนมถั่วเหลือง งา โยเกิร์ต |
คาร์โบไฮเดรต | ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต มันฝรั่ง งา เผือก ถั่วแดง คอร์นเฟลกซ์ |
วิตามินเอ | นม ไข่แดง ใบยอ บรอกโคลี ผักโขม แครอท ใบบัวบก ใบแมงลัก ผักคะน้า ดอกแค มะละกอ |
วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 | เนื้อหมู ตับหมู ถั่วเหลือง งา จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ไข่แดง นม กล้วยน้ำว้า ปลาหมึก หอย |
วิตามินซี | ส้ม มะนาว สตรอว์เบอร์รี มะเขือเทศ มะละกอ ฝรั่ง กีวี ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี |
กรดโฟลิก | ผักโขม ผักคะน้า ไข่แดง อะโวคาโด เนื้อหมูสันใน เนื้ออกไก่ |
โฟเลต | เนื้อปลาดุก มะละกอสุก |
ไอโอดีน | เกลือทะเลหรือเกลือสมุทร อาหารทะเล นม สาหร่ายทะเล |
สังกะสี | ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ กุ้ง ตับ ซี่โครงหมู |
ธาตุเหล็ก | เนื้อหมู เนื้อปลา ไข่ ผักโขม ใบขี้เหล็ก ใบตำลึง งาดำ งาขาว |
แคลเซียม | นมสด กุ้งฝอย ปลากรอบต่าง ๆ งา ไข่ กะปิ มะขามผักสด อัลมอนด์ โยเกิร์ตรสผลไม้ |
โอเมก้า 3 | ปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาโอ ปลาแซลมอน ปลาทู |
กินอย่างไรให้เกิดผลดี
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับอาหารหลักครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม โดยพลังงานที่แม่ตั้งครรภ์ต้องการคือประมาณ 2,500 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งคุณแม่ควรจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัมตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ หากน้ำหนักเพิ่มน้อยเกินไป อาจส่งผลให้ลูกในครรภ์น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ และอาจคลอดก่อนกำหนดได้ หากน้ำหนักตัวเพิ่มมากจนเกินไปก็อาจจะส่งผลให้ลูกในครรภ์ตัวใหญ่ จนมีปัญหาในการคลอดลำบากทางช่องคลอด และอาจเกิดปัญหาครรภ์เป็นพิษได้
สิ่งสำคัญคือ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงขณะตั้งครรภ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ รวมทั้งคุณแม่ได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น แอลกอฮอล์ น้ำชา กาแฟ ผงกรอบ (bora) ผงชูรส อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ ยาจีน ยาหม้อ
สุดท้ายอาหารที่จะแนะนำคุณแม่ควรกินหลังคลอดเพื่อช่วยในการเพิ่มน้ำนมให้กับลูกน้อยได้อย่างเพียงพอ เช่น เม็ดขนุน ขิง หัวปลี ผักโขม กุยช่าย มะละกอ ฟักทอง ใบกะเพรา และใบแมงสัก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.11 No.121 มกราคม 2558