มาใส่ใจดูแลสุขภาพของคุณแม่เวิร์กกิ้งมัมในที่ทำงานกันดีกว่า
5 อาการ Working Mom ต้องระวัง (Mother&Care)เรื่อง : ออมจัง
สภาพแวดล้อมในการทำงาน ก็สามารถเป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพได้นะคะ ว่าแล้วอย่างรอช้า มาเรียนรู้วิธีใส่ใจดูแลสุขภาพในที่ทำงานของคุณแม่เวิร์กกิ้งมัมที่เรากำลังจะบอกต่อไปนี้ค่ะ
1. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
การใช้ชีวิตประจำวันที่ผิด ๆ เช่น การนั่งทำงานนาน ๆ จนลืมเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ การกลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำน้อย แต่ละเรื่องที่ว่ามาเป็นการเก็บเชื้อโรคเอาไว้ โดยไม่ปล่อยทิ้งออกมา จึงเกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ
อาการ
ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีขุ่น หรือมีเลือดปน
ปัสสาวะบ่อยแต่กะปริบกะปรอย รู้สึกปัสสาวะไม่สุด
ปวดท้อง รู้สึกแสบหรือระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศเวลาปัสสาวะ
การดูแลตัวเอง
ควรปัสสาวะก่อนทำธุระหรือเดินทาง จะได้ไม่กลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น และดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว รวมถึงดูแลเรื่องสุขอนามัยความสะอาดด้วยค่ะ
พบคุณหมอทันทีหากมีความผิดปกติ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 เพราะการติดเชื้อกระเพาะปัสสาวะที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาทำให้กรวยไตอักเสบ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ต้องคลอดก่อนกำหนด
2. กรดไหลย้อน
นอกจากกินอาหารไม่เป็นเวลา เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หรืออาการเครียด ที่ส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงตั้งท้อง ก็ทำให้คุณมีความเสี่ยงเกิดปัญหาเรื่องนี้ได้ง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนเขาไปในหลอดอาหาร
อาการ มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวเหมือนมีก้อนอะไรติดที่ลำคอ กลืนอาหารลำบาก กลืนแล้วเจ็บคอเปรี้ยวในปาก และเรอบ่อย
การดูแลตัวเอง
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความมัน รสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรืออาหารย่อยยาก
ควรกินทีละน้อย ๆ ให้บ่อยมื้อขึ้นจะดีกว่ากินครั้งละมาก ๆ
ไม่ควรนอนทันทีหลังกินอาหาร ทิ้งเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ สบาย ๆ จะได้ไม่อึดอัด
3. อาการปวด
ปวดคอ ปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการทำงานประเภทอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์การอยู่ในท่านั่ง ท่ายืนนาน ๆ ยิ่งแม่ท้องที่ต้องอยู่ในท่าแอ่นท้องเพื่อรับน้ำหนัก ทำให้กล้ามเนื้อหลังถูกยึดตึงประกอบกับเอ็นและข้อต่อของเชิงกรานหย่อน ทำให้คนท้องพบกับปัญหาปวดหลังได้นั่นเอง
อาการ มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ แขน ขา หรือปวดหลัง
การดูแลตัวเอง
เปลี่ยนอิริยาบถจากท่าเดิม ๆ ที่ทำอยู่ประจำ หรือบริหารร่างกายแบบทำได้เองง่าย ๆ เช่น การบริหารต้นคอ โดยไขว้แขนขวาไปด้านหลังเอียงคอไปด้านซ้าย แล้วเอื้อมมือซ้ายข้ามศีรษะไปวางแนบด้านข้างของศีรษะด้านขวา แล้วทำเช่นเดียวกันนี้อีกข้างหนึ่ง
จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการทำงานก็ช่วยได้ เช่น ความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ที่นั่ง ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับสายตา วิธีการนั่งที่ถูกวิธี ล้วนมีผลต่อกล้ามเนื้อคอหรือไหล่ เป็นต้น
หากลองทำสารพัดวิธีแล้วไม่หาย ต้องไปพบคุณหมอค่ะ
4. ปวดศีรษะเรื้อรัง
การพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงแดด ความร้อน และคนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ มักมีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งปริมาณเลือดในร่างกายที่เพิ่มขึ้นเลือดส่วนหนึ่งถูกส่งไปเลี้ยงลูกน้อยในท้อง เส้นเลือดมีอาการตึงตัว จนทำให้ปวดเกร็งที่ขมับ ปวดร้าวไปที่ต้นคอ ยิ่งเป็นไมเกรนอยู่หากดื่มน้ำน้อย เจออากาศร้อน ๆ ก็จะยิ่งปวดมากขึ้นกว่าเดิม
อาการ เวลานั่งทำงานเครียด ๆ จะรู้สึกปวดหัว บริเวณขมับด้านหน้าศีรษะ หรือหลังต้นคอ อาการจะหายไปชั่วคราวแต่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
การดูแลตัวเอง
พักผ่อนให้เพียงพอ หรือใช้วิธีผ่อนคลายสไตล์คุณ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น
การนอนหนุนหมอนสูง การอยู่ในห้องที่เย็นสบายอากาศถ่ายเทก็ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่
ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการกินยาแก้ปวดเพียงอย่างเดียว และควรปรึกษาคุณหมอก่อนการใช้ยา
5. น้ำหนักเกิน
เป็นปัญหาน้องใหม่ที่พบว่าคนวัยทำงานเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ชอบทำงานไปด้วยกินไปด้วย หรือมีเวลาออกกำลังกายน้อย ซึ่งผู้หญิงสามารถอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชายด้วยค่ะ ฉะนั้นคงไม่ดีแน่หากคุแม่ หรือใครที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมดังกล่าว เพราะความอ้วนเป็นบ่อเกิดโรคตามมา เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในหลอดเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
แนวทางดี ๆ ที่ทำได้คือ ดูแลใส่ใจเรื่องอาหารการกิน เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายวันละนิดทำจิตใจให้แจ่มใส ง่าย ๆ แค่นี้คุณก็เป็นคุณแม่สุขภาพดีแล้วค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.10 No.119 พฤศจิกายน 2557