ทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกน้อย ช่วยให้ลูกมีความพร้อมรอบด้านได้ไม่ยาก
5 พัฒนาการของหนู...ที่คุณแม่กังวล (รักลูก)คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนกำลังกังวลใจ การที่ลูกน้อยวัย 1-3 ปี มีพฤติกรรมที่เราคาดไม่ถึง เช่น นั่งพูดคนเดียว ชอบปาข้าวของ แอบขโมยของ ซ่อนของ หรือชอบถามทำไมทั้งวัน จนบางครั้งทำเอาคุณพ่อคุณแม่ปวดหัวตอบเจ้าตัวเล็กไม่ทันกันเลยล่ะค่ะ
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติไหมและจะส่งผลต่อพัฒนาการ 5 ด้านของลูกน้อย คือ ด้านการเรียนรู้ ด้านการเคลื่อนไหว ด้านการสื่อสาร และด้านอารมณ์ เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการของลูกมากขึ้น พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์พัฒนาการเด็ก รพ.กรุงเทพ มีคำตอบมาให้ค่ะ
พัฒนาการตามช่วงวัย ที่คุณแม่กังวล
ลูกชอบโยนของ
เด็กวัย 6-8 เดือน จะเริ่มคว้าจับสิ่งของและปล่อยลงพื้นหรือขว้างทิ้ง เพราะช่วงวัยนี้เด็กเริ่มเรียนรู้ว่าเขาสามารถเคลื่อนไหวได้ เริ่มรู้ตัวเองว่าสามารถหยิบของแล้วโยนออกไปได้เอง ถ้าขว้างลงพื้นแล้วของเล่นกระดอน หรือเด้งดึ๊งขึ้นมาจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขามาก เด็กจะรู้สึกสนุก มีความสุข หัวเราะร่าเริง และอีกสาเหตุ คือเป็นการเรียกร้องความสนใจ เมื่อเขาโยนของทิ้งคุณแม่ก็จะมาเก็บให้ พอคุณแม่เก็บของเล่นแล้วยื่นให้ก็จะรู้สึกพอใจแล้วก็โยนให้คุณแม่เก็บอีกนั่นเองค่ะ
ส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหว
คุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อย ด้วยการเล่นโยนของเล่นไปมาให้ลูกโยนมาแล้วคุณแม่โยนกลับให้เขารับ เขาจะรู้สึกมีความสุขและยังช่วยฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การทำงานประสานกันของสายตากับการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้สมองเกิดการเชื่อมต่อใยประสาทนำไปสู่การเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด
หนู ๆ นั่งพูดคนเดียว
เด็กวัย 2-3 ปี มักจะชอบพูดคนเดียวหรือเล่นบทบาทสมมติ เพราะเด็กช่วงวัยนี้จะมีจินตนาการ เวลาอ่านนิทานเรื่องเจ้าหญิงก็จะสมมติว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิง และมีจินตนาการสูงถึงขั้นแต่งเป็นเรื่องราว มีสิงโตอยู่ในสวนหลังบ้าน มีแม่มดอยู่ในบ้านและกำลังปราบแม่มดใจร้ายอยู่ สิ่งเหล่านี้เกิดจากเขายังแยกสิ่งที่อยากให้เป็นกับสิ่งที่เป็นจริงไม่ออก ดังนั้น ในช่วงวัยนี้เวลาเห็นลูกนั่งเล่นพูดคนเดียวก็อย่าไปดุหรือตำหนิมากเกินไป เป็นพัฒนาการตามวัยที่เด็ก ๆ จะมีจินตนาการของเขา เมื่อโตขึ้นพฤติกรรมเหล่านี้จะหายไปเองค่ะ
ส่งเสริมทักษะการสื่อสาร
การเล่นบทบาทสมมติจะช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยมีจินตนาการดี ได้ฝึกการพูด และการสื่อสารกับตัวเองและผู้อื่น ดังนั้น คุณแม่ควรส่งเสริมด้วยการหานิทานเล่มโปรด หรือให้ลูกเล่าเรื่องราวที่เขาสนใจมาเล่าให้แม่ฟัง ลูกจะเรียนรู้เรื่องภาษาและคำศัพท์ต่าง ๆ ได้ดีค่ะ
เจ้าหนูขี้สงสัย
เด็กวัย 3-4 ปี เป็นวัยที่เริ่มอยากรู้อยากเห็นขี้สงสัย การที่เขาพบเจอสิ่งใดแล้วมีคำถามมาถามคุณพ่อคุณแม่ตลอดจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว อยากลอง เมื่อเจออะไรใหม่เขาก็จะถามว่านี่คืออะไร ทำไมถึงเป็นแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหาคำตอบมาตอบลูกและควรเป็นคำตอบที่สมเหตุสมผล ไม่ควรแสดงกิริยารำคาญ หรือไม่ฟังลูก เพราะจะทำให้เขาไม่มั่นใจและไม่กล้าถาม ขัดขวางการเรียนรู้ของเขาได้ค่ะ
ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้
ลูกวัยนี้เริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว อยากรู้อยากเห็นเขาจึงมีคำถามอยู่ตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมกระตุ้นให้เขาได้คิด เช่น ชวนกันเล่นเกมปัญหาทายคำ เล่นเกมจับคู่สิ่งของ ชวนกันจัดของในบ้านให้เป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่จะกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ เกิดความจำที่ดี และรู้จักแก้ปัญหาได้ดีด้วยค่ะ
ชอบเอาของเข้าปาก
เด็กวัย 1-2 ปี ที่คว้าจับสิ่งของได้แล้ว พอหยิบปุ๊บ ก็มักจะอมเข้าปาก พอห้ามก็ร้องงอแง จริง ๆ เป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะเด็กช่วงวัยนี้เป็นวัยที่กำลังมีฟันน้อย ๆ ขึ้นมา เจ้าตัวเล็กจะมีอาการเจ็บเหงือก คันเหงือก ไล่งับสิ่งของไปหมด ดังนั้น การที่เขาคว้าจับสิ่งของได้และเอาเข้าปากเป็นเพราะรู้สึกมีอาการคันเหงือก การงับกัดสิ่งของจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือกได้ และยังเป็นการระบายอารมณ์ลดความเครียดจากการเจ็บเหงือกของเจ้าตัวเล็กด้วยค่ะ
ส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์
เวลาที่ลูกน้อยเจ็บเหงือก เขาจะมีอาการหมั่นเขี้ยว คุณแม่จึงควรหาของเล่นที่เป็นยางนิ่ม ๆ หรือผ้านิ่ม ๆ ให้เขาถือเล่นงับ ๆ กัด ๆ ได้ เพื่อลดความเจ็บปวดของเขาได้ แต่ควรเลือกที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีเจือปน หรือคุณแม่อาจจะช่วยนวดเหงือกเพื่อบรรเทาความเจ็บของเขา ที่สำคัญทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจว่ามีแม่คอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ ด้วยค่ะ
ชอบแย่งของเพื่อน
เด็กวัย 3-4 ปี เป็นวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียนและรู้ตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือเป็นวัยที่ลูกน้อยเริ่มที่จะเลือกเป็นนั่นเองค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการช่วงวัยนี้ แต่เด็กช่วงวัยนี้จะยังไม่เข้าใจกฎกติกาการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เวลาเห็นสิ่งของที่อยากได้เขาก็จะหยิบมาโดยที่ไม่รู้ว่าต้องขออนุญาตก่อน เช่น หยิบของจากมือคนอื่นมาโดยที่ไม่ได้ขออนุญาต หยิบของเพื่อนใส่กระเป๋ากลับมาบ้านได้ค่ะ
ส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์
หากลูกมีพฤติกรรมชอบหยิบของคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกลูก และมีกฎระเบียบชัดเจนว่าไม่ให้หยิบของคนอื่นเพราะอะไร ก่อนหยิบต้องขออนุญาตก่อน เพราะไม่ใช่ของเรา ถ้าเขาไม่เชื่อฟังต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับวัยของเขาแล้ว เขาจะเข้าใจมากขึ้น ที่สำคัญคุณแม่อาจจะสอนเรื่องการแบ่งปัน ถ้ามีของใช้หลายอันให้เอาไปแบ่งเพื่อนที่โรงเรียน ลูกจะรู้จักการแบ่งปัน รู้จักให้ ส่งผลให้ไม่แย่งหรืออยากได้ของของคนอื่นค่ะ
พฤติกรรมต่าง ๆ เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่เพียงเข้าใจ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการพร้อมดูแลโภชนาการที่เหมาะสม ก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยมีความพร้อมสู่ความเป็นอัจฉริยะรอบด้านได้ไม่ยากค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 379 สิงหาคม 2557