เมื่อเจ้าตัวเล็กมีไข้ ต้องระวัง

อาการไข้ในเด็ก
 อาการไข้หรือตัวร้อน แสดงว่าอุณหภูมิร่างกายลูกสูงเกินกว่าปกติ

เมื่อเจ้าตัวเล็กมีไข้ (Mother&Care)

          เมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือคุณลูกรู้สึกไม่สบาย สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดถึง คืออาจมีไข้หรือตัวร้อน การมีไข้หรือตัวร้อน แสดงว่าอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่าปกติ

          โดยอุณหภูมิร่างกายปกติคนเรา คือ 37 องศาเซลเซียส (อาจมากหรือน้อยกว่านี้ครึ่งองศา) หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ (อาจมากหรือน้อยกว่านี้ 1 องศา) โดยทั่วไปร่างกายเด็กจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญต่อเมื่อมีอุณหภูมิได้อย่างน้อย 102 องศาฟาเรนไฮต์ โดยการวัดปรอททางปาก หรือ 103 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่อวัดปรอททางก้นในผู้ใหญ่ อุณหภูมิสูงเกินกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลให้เหมาะสม

อาการไข้ เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้


          เมื่อเจ้าตัวเล็กมีไข้หรือตัวร้อน แสดงว่าอุณหภูมิร่างกายลูกสูงกว่าปกติ (ปกติ 37 องศาเซลเซียส หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์) หากวัดโดยใช้ปรอทวัดไข้จะได้ค่าอุณหภูมิที่ถูกต้อง เด็กที่มีไข้อาจพบอาการแสดงอื่น ๆ ร่วมด้วย ตามสาเหตุของการเกิดไข้ และอายุ เช่น เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลีย เป็นต้น

          หากมีไข้สูงมาก ระหว่าง 103-106 องศาฟาเรนไฮต์ อาจมีอาการประสาทหลอน เพ้อสับสน หงุดหงิด กระวนกระวาย ในเด็กบางคนอาจเกิดอาการชักได้ (เพราะไข้สูงพบได้ร้อยละ 2-5 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีคนในครอบครัวมีประวัติชักจากไข้สูง) หลังจากวัดไข้และพบว่าลูกมีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียสหรือ 100 องศาฟาเรนไฮต์ ควรให้ยาลดไข้ ตามขนาดของชนิดยาลดไข้ที่มีอยู่

          หากไม่แน่ใจควรปรึกษาคุณหมอหรือไปโรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่า และหากอุณหภูมิของลูกวัดได้ 38.5 องศาเซลเซียส (101.5 องศาฟาเรนไฮต์) ต้องเช็ดตัวให้ลูกด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น น้ำอุณหภูมิห้อง โดยใช้ฟองน้ำหรือผ้าเนื้อนุ่มเช็ดให้ทั่วโดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ จนกว่าไข้จะลดหรืออย่างน้อย 20 นาที หากไข้ลดลงถึง 38.5 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่าและวัดไข้ทุก 30 นาที พยายามให้ลูกได้รับน้ำอย่างเพียงพอ การให้น้ำผลไม้ น้ำแข็งเกล็ด จะช่วยให้ลูกได้รับน้ำมากขึ้น หากการช่วยเหลือลูกเบื้องต้นไม่ได้ผล ไข้ไม่ลด หรือลดลงไม่เป็นที่พอใจ หรือมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ชัก ซึม ร้องกวน งอแงมาก กินได้น้อยลง อาเจียน ปวดศีรษะ รุนแรง ปวดท้อง หรือความผิดปกติอื่น ควรรีบปรึกษาคุณหมอหรือพาลูกไปโรงพยาบาลสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน หากมีอุณหภูมิวัดทางก้นได้ 38 องศาเซลเซียส (100.5 องศาฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่า ควรรีบปรึกษาคุณหมอแม้เด็กไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ

ไข้สูงต้องระวัง

          ในเด็กเล็กการมีอุณหภูมิสูงเพียงเล็กน้อยกว่าปกติอาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อรุนแรงได้ เมื่อเด็กมีไข้ อาการแสดงอื่น ๆ อาจช่วยบ่งชี้สาเหตุของไข้ได้ เช่น เมื่อเด็กมีไข้ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน อาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรือการมีไข้ร่วมกับอาการไอและหอบอาจบ่งชี้ถึงการเกิดปอดอักเสบ เป็นต้น

          หากไม่ทราบว่า ไข้มีสาเหตุจากอะไร การให้ยาลดไข้ทันทีที่เด็กมีไข้อาจบดบังอาการของโรค ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญอาจคิดว่า การลดไข้ สามารถขัดขวางการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เมื่อเกิดมีไข้หรือตัวร้อน อาการแสดงที่อาจพบร่วม เช่น เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลีย ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของเด็กและสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้

ปรึกษาคุณหมอหรือไปโรงพยาบาลเมื่อใด

          การที่เด็กมีไข้เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่เหตุผลที่จะปรึกษาคุณหมอโดยทันที ควรรีบปรึกษาคุณหมอในกรณีต่อไปนี้

        เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน และวัดอุณหภูมิทางก้นได้ 100.5 องศาฟาเรนไฮต์ หรือมากกว่า แม้เด็กไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัย

        เด็กอายุเกิน 3 เดือน มีอุณหภูมิสูง 102 องศาฟาเรนไฮต์ หรือมากกว่า โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เช่น หลังได้รับการฉีดวัคซีน

        เด็กมีไข้ร่วมกับมีอาการหงุดหงิด งอแง หาสาเหตุไม่ได้ เช่น ร้องกวนมากผิดกติ เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้า หรือเมื่อเด็กขยับตัว หรือมีอาการซึม ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งเร้า หากสงสัย อย่าลังเลรีบปรึกษาคุณหมอ หรือพาไปโรงพยาบาล อย่ารอให้เช้าก่อนหรือให้พ้นวันหยุดก่อน

        สำหรับเด็กโตจะทนต่อการมีไข้ได้ดีกว่าเด็กเล็ก หากเด็กสามารถดื่มน้ำได้มาก เล่นได้ดี ไม่ถือเป็นเรื่องกังวลว่าจะเป็นโรครุนแรง หากพบว่า เด็กมีอาการหงุดหงิด งอแง อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้อง ควรรีบปรึกษาคุณหมอ ถ้าเด็กมีไข้ต่ำ อุณหภูมิวัดได้ 99 องศาฟาเรนไฮต์ถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ อาจเช็ดตัวและสังเกตอาการ ไม่แนะนำให้ยาลดไข้ นอกจาคุณหมอแนะนำเท่านั้น

การดูแลอาการไข้ในเด็ก

         เมื่อมีไข้ ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ จำเป็นต้องให้เด็กได้รับน้ำเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอสามารถให้น้ำผลไม้และน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ได้

         เมื่อมีไข้ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์) ไม่ควรให้ยาลดไข้ เว้นแต่เป็นคำแนะนำของคุณหมอ

         อาบน้ำอุ่นได้ และใช้เครื่องนุ่งห่มที่บางเบา สามสบายไม่อบความร้อน

         หากมีไข้ 38 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่า ให้ยาลดไข้พาราเตามอลหรือไอบูโปรเฟน ตามน้ำหนักเด็ก (10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)

         กรณีไม่แน่ใจขนาดและชนิดของยาที่มีอยู่ (ยาลดไข้มีหลายชนิดและหลายขนาด) ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ อย่าให้ยาเกินขนาด เพราะอาจเกิดพิษต่อไตและตับได้

         หลังให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ไม่ควรให้ยาเพิ่ม ควรรีบปรึกษาคุณหมอ

          การมีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส (101.5 องศาฟาเรนไฮต์) ให้ยาลดไข้ตามขนาดน้ำหนักตัวเด็กและระยะเวลาที่คุณหมอแนะนำพร้อมกับเช็คตัว โดยใช้น้ำอุ่นอุณหภูมิห้อง  อาจใช้ฟองน้ำหรือผ้าเนื้อนุ่มเช็ดตัวเด็กให้ทั่ว โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และวัดอุณหภูมิเป็นระยะจนกว่าไข้จะลดถึง 38 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์) หรือต่ำกว่า จึงหยุดเช็ดตัว หลังจากนี้วัดไข้ทุก 30 นาที ถ้าเด็กมีอาการหนาวสั่นขณะเช็ดตัวให้เช็ดตัวให้แห้งรอสักครู่ก็จะหาย หากไข้ลดลงไม่เป็นที่พอใจหรือเด็กมีอาการชักให้รีบนำส่งโรงพยาบาล



        



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.10 No.114 มิถุนายน 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อเจ้าตัวเล็กมีไข้ ต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2557 เวลา 14:53:10 39,835 อ่าน
TOP
x close