เมื่อลูกเริ่มไม่สนใจ พ่อแม่ควรทำยังไงดี ?

เรื่องน่ารู้คุณลูก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นและให้ความสำคัญกับพ่อแม่ลดน้อยลง คุณพ่อคุณแม่ควรแก้ปัญหาลูกไม่ค่อยสนใจด้วยวิธีไหนดี เรามีคำแนะนำมาให้ลองทำตามกันดูค่ะ

          จากที่เคยเป็นจุดศูนย์กลางของลูกในช่วงที่เขายังเป็นเด็กน้อยแสนซน แต่พอลูกเริ่มโตเป็นวัยรุ่น ความสำคัญในตำแหน่งพ่อและแม่ที่เคยมีกลับถูกลดบทบาทลงมาทีละนิดละหน่อย จนแทบจะหลุดวงโคจรของลูกไปซะเฉย ๆ เอ้า ! ในเมื่อลูกไม่สนใจพ่อแม่อย่างที่เคยเป็นมา คุณพ่อคุณแม่คงต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีต่อไปนี้แล้วล่ะ

1. เข้าใจลูกให้มากขึ้น

          การที่ลูกเริ่มมีโลกส่วนตัว อยากมีเวลาและใช้ชีวิตด้วยตัวของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นนะคะ เนื่องจากเมื่อเขาเติบโตขึ้นสังคมภายนอกก็เข้ามาสอดแทรกอยู่ในชีวิตเขาทุกวัน พร้อมกันนั้นตัวเขาเองก็อยากมีอิสระทางความคิดและอิสระในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ต่างกับเราในช่วงที่เป็นวัยรุ่นเหมือนกัน ทว่าลึก ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ยังคงเป็นที่หนึ่งในใจของเขาเสมอ เพียงแต่โอกาสที่เขาจะเข้ามาออดอ้อนหรืออยู่ติดกับคุณทั้งวันเริ่มหาได้ยากขึ้นเท่านั้นเอง

2. หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ

          หากว่าคุณเป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้านอย่างเดียว ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน เมื่อลูกเริ่มไปโรงเรียนก็คงรู้สึกเหงาอย่างห้ามไม่ได้ ทว่าทางที่ดีลองมองหากิจกรรมอื่น ๆ ทำในช่วงที่ลูกเริ่มโตและไปโรงเรียนบ้างดีกว่าค่ะ เพราะขืนอยู่เฉยกับบ้านอาจเกิดอาการนอยด์เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจจากลูกเหมือนเดิม และอย่าลืมว่ายิ่งโตขึ้นลูกก็คงไม่ติดคุณเหมือนตอนที่เขายังเป็นเด็กเล็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยถนัดอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นคุณแม่ลองหากิจกรรมที่ชื่นชอบมาช่วยคลายเหงา หรือจะกลับไปหางานประจำทำเลยก็น่าจะเวิร์ก

3. คอยดูแลลูกอยู่ห่าง ๆ

          แม้ลูกอยากจะมีอิสระกับการใช้ชีวิตมากแค่ไหน แต่ในยามที่เขาเจอปัญหาหรือต้องการคำปรึกษา คุณพ่อและคุณแม่จะยังคงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ลูกวิ่งมาหาไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นคุณก็แค่ทำหน้าที่สแตนด์บายอยู่ข้าง ๆ เขาเสมอ และรอให้เขาเป็นฝ่ายเข้ามาหาคุณเองโดยไม่ไปก้าวก่าย หรือตามจิกซะจนลูกรู้สึกอึดอัดก็พอ เพียงเท่านี้ลูกรักก็จะไม่หนีห่างคุณไปไหนไกลอย่างแน่นอน

4. ปล่อยให้เขามีอิสระอย่างแท้จริง

          อิสระอย่างแท้จริงของเด็ก ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองจะปล่อยให้เขาทำอะไรได้ตามอำเภอใจโดยไม่สนใจกรอบศีลธรรมอันดีงาม ทว่าอิสระในที่นี้หมายถึงการที่คุณพ่อคุณแม่ได้คอยตามติดลูกไปในทุกสถานการณ์ ไม่สอดแทรกตัวเองเข้าไปในชีวิตของลูก ไม่ตีเนียนไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน ๆ ของลูก หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่ยอมปล่อยให้เขาได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างที่ควรจะเป็นเลย ซึ่งหากคุณพ่อคุณทำตัวติดหนึบลูกรักขนาดนั้น ต่อให้เขายังคงรักคุณโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ แต่เจอเข้าแบบนี้เด็ก ๆ ก็อยากเลี่ยงและคงแอบเบื่อกับความจู้จี้จุกจิกของคุณไม่เบา ดังนั้นเข้มงวดกับเขาในระดับที่พอดี ไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนจนเหมือนปล่อยปละละเลยคงดีกว่า

5. อย่ายึดติดว่าลูกยังเป็นเด็ก

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสายตาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมเห็นลูกรักเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ในอ้อมกอดอยู่วันยังค่ำ แม้ทุกวันนี้ลูกจะเติบโตเป็นเด็กวัยรุ่นจนทำบัตรประชาชนไปแล้วก็ตาม ทว่าหากยังยึดติดกับความคิดว่าเขาเป็นเด็กอยู่อย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่สบายใจเมื่อเห็นลูกรักมีสังคมอื่น ๆ นอกเหนือจากสังคมครอบครัว ส่วนลูกก็จะรู้สึกอึดอัดเหมือนโดนพ่อแม่ตีกรอบชีวิตให้ตลอดเวลาเช่นกัน ฉะนั้นพ่อแม่ก็น่าจะมองปัจจุบันมากกว่าภาพแห่งความทรงจำ และคิดถึงอนาคตของลูกไว้เสมอว่าสักวันลูกจะต้องเติบโตและประสบความสำเร็จตามวิถีของตัวเขาเอง มีวันที่เขาเรียนจบและรับปริญญา ทำงานและมีสังคมที่ทำงาน ยาวไปถึงในวันที่เขาสร้างครอบครัว มีสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่มในครอบครัวของคุณ

6. สนุกกับอิสระในชีวิตที่เพิ่มขึ้น

          เมื่อลูกโตขึ้น ไม่ใช่แค่เขาเท่านั้นที่จะมีอิสระในชีวิตมากกว่าเดิม แต่คุณพ่อและคุณแม่เองก็มีอิสระมากขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องคอยดูแลลูกเหมือนช่วงที่เขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้อีกแล้ว ดังนั้นเทนที่จะนอยด์เมื่อลูกสนใจเรื่องตัวเองมากกว่าตัวคุณ คุณพ่อคุณแม่ก็เอาเวลาไปช้อปปิ้ง ไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ สนุกกับงานและอิสระที่มากขึ้นบ้างดีกว่า

7. ทำหน้าที่พ่อและแม่ให้ดีที่สุด

          หน้าที่ของพ่อและแม่ คือ เลี้ยงดูและสั่งสอนให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและประสบผลสำเร็จ ซึ่งการที่เขาหันไปเรียนรู้ชีวิตจากโลกภายนอกมากขึ้นจนให้เวลากับคุณได้น้อยลงก็นับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการหล่อหลอมความแข็งแกร่งให้เขาด้วยเหมือนกัน แล้วอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องกังวลอะไรอีกล่ะคะ

          เอาเข้าจริง ๆ ลูกรักก็ยังคงเห็นความสำคัญของพ่อแม่เสมอ เพียงแต่ปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญกับชีวิตของเขาก็เพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นเพียงแค่ปรับจูนความเข้าใจกันเล็กน้อยก็หมดปัญหาน่าเป็นห่วงแล้วล่ะเนอะ

 
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อลูกเริ่มไม่สนใจ พ่อแม่ควรทำยังไงดี ? อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2557 เวลา 16:37:39 10,181 อ่าน
TOP
x close