ควรหลีกเลี่ยงการห่อตัวลูก หากไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เขาขยับแขนขาได้ไม่เต็มที่
จำกัดพื้นที่ ปิดกั้นพัฒนาการเบบี้ (รักลูก)
เรื่อง : ศรัญญา เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.นลินี เชื้อวณิชชา กุมารเวชด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ
เบบี้ก็ต้องการพื้นที่เพื่อขยับแข้งขยับขาเหมือนกันนะ หากคุณแม่จำกัดพื้นที่ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ที่คุณแม่อาจคาดไม่ถึงนอกจากทำให้เบบี้ขัดใจแล้ว ยังไปขัดขวางพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งเป็นแกนสำคัญของพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเบบี้ด้วยค่ะ
เบบี้ตัวเล็ก แต่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ต้องแข็งแรง
กล้ามเนื้อมัดใหญ่คือ รากฐานของเด็กแรกเกิดถึง 1 ปีนะคะ การนอน นั่ง คลาน ยืน เดิน วิ่ง กระโดด รวมทั้งการมีสมาธิจดจ่อสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ หากต้องการให้เด็กนิ่ง สนใจ จดจ่อเพื่อเรียนรู้ได้นั้นจะต้องมี physical attention ซึ่งมาจากกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรง โดยมีผลมาจากการอุ้ม การนอน การวางลูกที่ถูกท่ามาตั้งแต่เป็นเบบี้
ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นในการทำกิจกรรมของกล้ามเนื้อมัดเล็ก อย่างการเขียน การพูด และส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นของเด็กอีกด้วย เช่น ด้านสติปัญญา ด้านการเข้าใจภาษา การใช้ภาษา การช่วยเหลือตัวเองและสังคม รวมทั้งการที่เด็กสามารถวางแผนการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหา หรือ Multistep Action จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการสมมติและการแก้ปัญหา พร้อมกับการได้ลองลงมือทำ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองของเขาด้วย
เพราะฉะนั้นการจำกัดพื้นที่ด้วยพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างของคุณพ่อคุณแม่ มีส่วนที่ทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเขาไม่แข็งแรงและมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ค่ะ
"อย่า" จำกัดพื้นที่เบบี้ด้วย "การห่อตัว"
เมื่อคุณแม่คลอดเจ้าตัวเล็กออกมาแล้ว เขาต้องการพื้นที่ในการยืดเหยียดแขนขา ให้กล้ามเนื้อข้อต่อได้ขยับอย่างอิสระหลังจากที่นอนขดอยู่ในมดลูกของคุณแม่มาอย่างยาวนาน คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยได้ยืดเหยียด และเตรียมความพร้อมต่อการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเขา โดยเปิดโอกาสให้ลูกนอนบนพื้นผิวเรียบ และมีความแน่นนุ่ม แต่ต้องไม่นุ่มจนเกินไป ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการห่อตัวลูก หากไม่จำเป็นค่ะ เพราะจะทำให้เขาขยับแขนขาได้ไม่เต็มที่
"อย่า" จำกัดพื้นที่เบบี้ด้วย "Car seat"
คุณแม่ยุคใหม่ มักมีตัวช่วยในการดูแลลูกเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในตัวช่วยนั้นก็คือ Car seat คุณแม่สามารถให้เจ้าตัวเล็กนั่ง Car seat ในเวลาที่จำเป็นอย่างเวลาเดินทางด้วยรถยนต์ได้เสมอค่ะ แต่ต้องไม่ให้ลูกนั่งนานจนเกินไปนะคะ โดยสลับให้ลูกได้ยืดเส้นยืดสายโดยอุ้มออกมานอก Car seat บ้าง เวลาที่ต้องเดินทางไกล และหลีกเลี่ยงการหิ้วลูกที่นั่งใน Car seat ไปไหนมาไหน แต่ให้ใช้การอุ้มตัวแทน เพราะการที่ลูกนั่งอยู่ในพื้นที่จำกัดเป็นเวลาต่อเนื่องกันนาน ๆ ทำให้เขาอยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อยึดติด ไม่สามารถยืดเหยียดได้เต็มที่ ซึ่งเป็นการขัดขวางพัฒนาการการเคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ของเด็กได้ค่ะ
"อย่า" จำกัดพื้นที่เบบี้ด้วย "เก้าอี้โยกเด็ก"
หลีกเลี่ยงการให้ลูกนอนหลับบนเก้าอี้โยกเป็นเวลานาน ๆ นะคะ หากใช้เก้าอี้นี้เพื่อกล่อมให้ลูกหลับ แต่เมื่อลูกหลับแล้วก็ควรย้ายลูกไปนอนที่เบาะนอนอันแน่นนุ่มของลูกแทนจะดีที่สุด เพื่อให้ร่างกายของลูกได้ยืดเหยียด นอนหงายหลังตรง ได้มีโอกาสพลิกตัวไปมาอย่างอิสระ และในรถเข็นเด็กควรสลับอุ้มลูกด้วยตัวเอง หรือใช้เป้อุ้มเด็กแทนการให้นั่งในรถเข็นตลอดเวลา เพราะไม่เช่นนั้นเด็กอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อยึด และยืดเหยียดได้ไม่สุด กระทบต่อการทรงท่าเพื่อยืนหรือเดินได้
"อย่า" จำกัดพื้นที่เบบี้ด้วย "เตียงของผู้ใหญ่"
โดยเฉพาะเตียงผู้ใหญ่ปูด้วยผ้าปูเตียงที่ลื่น เวลาลูกเคลื่อนที่ไปบนเตียงของผู้ใหญ่ จึงทำให้เขาไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้อย่างมั่นคง เพราะจะลื่นไปตามเนื้อผ้า ทางที่ดีควรมีเตียงสำหรับเจ้าตัวเล็กโดยเฉพาะ ที่ทำให้เขาเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นใจ หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม ก็ต้องไม่ลื่นค่ะ อาจจะปูเบาะสำหรับคลาน หรือแผ่นยางคล้ายเสื่อโยคะแต่หนากว่าไว้เป็นพื้นที่กลิ้ง ดิ้น คลานของลูกอย่างเต็มที่แทนค่ะ
"อย่า" จำกัดพื้นที่เบบี้ด้วย "การอุ้มผิดท่า"
การอุ้มเจ้าตัวเล็กเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะพื้นที่ของการอุ้มลูกจะอยู่ที่ตัวของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก การอุ้มนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย และสัมผัสได้ถึงความรักความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่แล้วการอุ้มที่ถูกต้องจะทำให้ลูกสามารถยืดเหยียดข้อต่อและกล้ามเนื้อได้อย่างเหมาะสม เป็นพื้นฐานที่ดีก่อนที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่จะพัฒนา นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก สติปัญญาสังคม และอารมณ์ในช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้นของลูกด้วย หากคุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกผิดท่า จะทำให้ขัดพัฒนาการของลูกได้ เด็กบางคนอาจมีปัญหาเรื่องของการนั่ง ปัญหากล้ามเนื้อหลังของลูกยึดตึง หรือกล้ามเนื้อหัวไหล่ไม่แข็งแรง เป็นต้น
"อย่า" จำกัดพื้นที่เบบี้ด้วย "เก้าอี้เด้งดึ๋ง"
อุปกรณ์ช่วยคลายเหนื่อยสำหรับคุณแม่ มาพร้อมเสียงเพลงและของตกแต่งสีสันสวยงาม และความเด้งดึ๋ง ไม่ควรใช้เร็วเกินไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี) ไม่ควรใช้บ่อยและใช้นานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อการนั่ง การเดิน ที่เด็กบางคนอาจเดินเขย่งหรือจิกปลายเท้าได้ เพราะเขาไม่ได้ลงน้ำหนักเต็มฝ่าเท้า รวมทั้งในเด็กบางคนเกร็งกล้ามเนื้อหลังและขาไว้ไม่ยอมนั่ง ทรงตัวในท่านั่งไม่ได้ นั่งแล้วจะเด้งขึ้นมายืนหรือกระโดด ซึ่งจริง ๆ แล้วก่อนที่ลูกน้อยจะกระโดดได้นั้น เขาต้องเดินได้ก่อน และการจะเดินได้ดีนั้น กล้ามเนื้อหลัง หรือกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวของเขาจะต้องแข็งแรงเสียก่อนค่ะ
ในเด็กอายุ 6 เดือนบางคนเขาอาจงอ และเหยียดข้อสะโพกเพื่อกระโดดดึ๋ง ๆ บ้างแล้ว คุณแม่สามารถช่วยประคองที่สะโพกของเขาเวลาที่กระโดด และให้เขาลงน้ำหนักให้เต็มฝ่าเท้าค่ะ
เรื่องพื้นที่เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับเจ้าตัวเล็กมีความสำคัญชนิดที่คุณพ่อคุณแม่ คาดไม่ถึงเลยใช่ไหมคะ ทราบอย่างนี้แล้วต้องนำไปใช้กับเจ้าตัวเล็ก เพื่อพัฒนาการที่ดีและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงของลูกค่ะ
แม่และเด็ก การตั้งครรภ์ อาหารเด็ก นิทาน ตั้งชื่อลูก เรื่องน่ารู้คุณแม่ คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 378 กรกฎาคม 2557