ทางแก้ลูกติดน้ำอัดลม (modernmom)
เรื่อง : รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์
น้ำอัดลม 1 กระป๋องหรือขวดให้พลังงาน 140 กิโลแคลอรี่ มีน้ำตาล 10-12.5 % มีกลิ่นโคล่า 0.06 % หรือแต่งกลิ่นธรรมชาติ มีคาเฟอีน 40-50 มิลลิกรัม อาจมีเกลือในบางยี่ห้อ แต่ไม่มีโปรตีน กรดไขมันจำเป็นวิตามินและสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ลองนึกดูว่าถ้าลูกดื่มเข้าไปมาก ๆ จะเป็นอย่างไร
น้ำอัดลมหวานซ่อนอันตราย
Empty Calorias = พลังงานจากน้ำตาล เพราะมีแต่พลังงานจากน้ำตาล แต่ไม่มีสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงเป็นเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนกิน
ทำให้มีการหลั่งสาร Dopamine จึงรู้สึกพึงพอใจและติดรสหวานไม่ยอมกินอาหารที่รสไม่หวาน ทำให้ลูกกินอาหารน้อยลงผอมและเป็นโรคขาดสารอาหารได้
ถ้าลูกกินอาหารมากพออยู่แล้ว ดื่มน้ำอัดลมเพิ่มอีกจะทำให้ได้รับพลังงานมากเกินเป็นโรคอ้วนและเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแข็ง และหัวใจขาดเลือดในอนาคต
น้ำตาลในน้ำอัดลมจะถูกดูดซึมเข้าไปในเลือดอย่างรวดเร็ว และจะกระตุ้นทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินและทำงานหนัก ถ้ากินทุกวันและเป็นเวลานานจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ชนิด 2 ได้
ทำให้ฟันผุ
น้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอริก ซึ่งจะไปจับแคลเซียม ทำให้แคลเซียมถูกดูดซึมได้น้อยลง สูญเสียแคลเซียมในกระดูก และมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแตกหักง่ายในอนาคต
คาเฟอีนในน้ำอัดลมทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น นอนไม่หลับและปัสสาวะบ่อย ทำให้เสียน้ำ เกลือแร่และแคลเซียมออกทางปัสสาวะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกลือแร่ และแคลเซียม
กันไว้ดีกว่าแก้
1. พ่อแม่และทุกคนในครอบครัวต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกโดยการไม่ดื่มน้ำอัดลม
2. งดซื้อน้ำอัดลมไว้ในบ้านหรือตู้เย็น เพราะจะทำให้ลูกสามารถเข้าถึงและหยิบดื่มได้ง่ายตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมได้
3. ให้ลูกดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำจนเป็นนิสัย ไม่ให้ลูกดื่มน้ำหวานเพราะจะทำให้ลูกติดหวานและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากดื่มน้ำอัดลม
4. โรงเรียนทุกโรงเรียนควรมีโครงการปลอดน้ำอัดลมทั้งใน และบริเวณหน้าโรงเรียน
5. เล่านิทาน อ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นบทบาทสมมติถึงโทษของน้ำอัดลมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะช่วยให้ลูกรู้ถึงผลเสียของน้ำอัดลมและมีทัศนคติที่ไม่อยากดื่มน้ำอัดลม
ถึงติด (น้ำอัดลม) ก็ยังแก้ได้
1. พ่อแม่และทุกคนในครอบครัวต้องตกลงกันทำเป็นตัวอย่างอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องและไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่ง ห้ามแต่อีกคนยอม จะทำให้การแก้ไขไม่ได้ผล
2. ไม่ซื้อน้ำอัดลมเก็บไว้ในบ้านหรือตู้เย็น
3. ถ้าลูกไม่ยอม ร้อง ดิ้น อาละวาด พ่อแม่และคนในครอบครัวทุกคนต้องวางเฉย แล้วลูกจะหยุดร้องไปเองเมื่อรู้ว่าวิธีร้อง ดิ้นใช้ไม่ได้ผล
4. ต้องระลึกไว้เสมอว่าการแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นต้องใช้เวลาและความอดทนจึงจะสำเร็จ
5. ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ในบางสถานการณ์ เช่น ในงานเลี้ยงควรทำข้อตกลงกับลูกก่อนว่าลูกจะต้องกินข้าว อาหารและดื่มน้ำเปล่าเสร็จก่อนจึงจะดื่มน้ำอัดลมได้ และกำหนดปริมาณที่ยอมให้ลูกดื่ม
เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกต้องร่วมมือกันครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.19 No.222 เมษายน 2557