อาการปวดท้องในเด็กที่ต้องรู้ (Mother&Care)
อาการปวดท้องในเด็ก พบได้ทั้งแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดท้องเฉียบพลัน ซึ่งมักมีสาเหตุต้องทำการผ่าตัดด่วน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ นั้น คงยากที่จะบอกอาการคุณพ่อคุณแม่ได้ ฉบับนี้ มาค้นหาสาเหตุพร้อมวิธีการดูแลอย่างเหมาะสมเบื้องต้น จากข้อมูลต่อไปนี้
ปวดท้องแบบเฉียบพลัน
ลำไส้กลืนกัน (Intussusception)
อาการ : เกิดจากลำไส้เล็กส่วนปลายดันเข้าไปในลำไส้ใหญ่ส่วนต้น มักพบในเด็กอายุ 5-8 เดือน เด็กจะแข็งแรงดีมาก่อนแล้วเริ่มปวดท้องแบบโคลิก (colicky pain) ร้องเสียงดัง งอแง จะงอขาเข้าหาลำตัว อาเจียน อาการปวดท้องมักนาน 2-3 นาที แล้วหยุดพัก 15-20 นาที อุจจาระเป็นมูกปนเลือดคล้ายเยลลี่สีแดงโดยไม่มีเนื้ออุจจาระ เด็กดูซีดมาก อาจคลำพบก้อนลำไส้ที่กลืนกันแข็งคล้ายไส้กรอกที่ด้านขวาของช่องท้อง
การดูแล : เป็นโรคที่ต้องการผ่าตัดโดยรีบด่วน
ไส้ติ่งอักเสบ (Acute Appendicitis)
อาการ : ระยะแรกตำแหน่งปวดท้องจะไม่ชัดเจน มักปวดท้องบริเวณรอบสะดือ หลังจากนั้น 12-24 ชั่วโมง จึงปวดชัดบริเวณไส้ติ่งคือด้านขวาล่างของช่องท้อง อาจมีไข้ อาเจียนร่วมด้วย
การดูแล : เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กที่ปวดท้องแบบเฉียบพลัน และต้องทำการผ่าตัดโดยรีบด่วนเช่นกัน
อาการปวดท้องที่ไม่ต้องผ่าตัด
ปวดท้องแบบโคลิก (Infantile colic)
อาการ : การปวดท้องในเด็กอายุ 2-3 เดือนแรก โดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เด็กจะร้องแล้วหยุดร้องเป็นพัก ๆ นานเป็นชั่วโมง บางรายอาจนานถึง 5-6 ชั่วโมง มักเป็นตอนเย็นถึงตอนค่ำคืน ขณะปวดท้องจะหน้าตาเหยเก เท้าเกร็ง
การดูแล : การอุ้มพาดบ่าหรือพาเดินพูดปลอบโยน อาการปวดท้องจะทุเลา รายที่ร้องอยู่นาน การห่อตัวเด็กหรือจับนอนตะแคง จะทำให้เด็กรู้สึกคล้ายยังอยู่ในครรภ์มารดา ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และหยุดร้องได้ เมื่ออายุเกิน 3 เดือน มักไม่มีอาการปวดท้องอีก
อันตรายที่อาจเกิดขึ้น
การที่เด็กร้อง ๆ หยุด ๆ นานเป็นชั่วโมง ผู้ดูแลจะกังวลหากอุ้มเขย่าตัวเด็กอย่างแรงเพื่อให้เด็กหยุดร้อง จะเป็นผลเสียทำให้สมองเคลื่อนไหวแรงในกะโหลกศีรษะ อาจทำให้เส้นเลือดในสมองฉีกขาดได้ จึงไม่ควรเขย่าตัวเด็กอย่างแรง ให้อุ้มกอดและโยกตัวไปมาเบา ๆ เท่านั้น เด็กก็จะสงบได้
ภาวะอุจจาระร่วงหรือท้องเสีย
อาการ : พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะอายุ 6 เดือนแรก มักมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อโรต้า การให้วัคซีนป้องกันเชื้อโรต้าจึงมีประโยชน์ แต่วัคซีนยังมีราคาสูงอยู่ เด็กจะถ่ายอุจจาระเหลวปนน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 1 วัน และอาเจียน มีไข้
การดูแล : คือการให้สารละลายเกลือแร่ และลดปริมาณการให้นมลง
ท้องผูก
อาการ : คือการถ่ายอุจจาระแข็งแห้งและเหนียว ร่วมกับการถ่ายอุจจาระลำบาก มักถ่ายอุจจาระน้อย 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ถ้าอุจจาระค้างในลำไส้นานหลายวันจะทำให้ลำไส้ขยายใหญ่มากขึ้น การบีบตัวของลำไส้จะลดลง น้ำในกากอาหารจะดูดซึมกลับเข้าร่างกายเพิ่มขึ้น อุจจาระจึงแห้งแข็งมากขึ้นทำให้ถ่ายลำบาก และก้อนอุจจาระจะครูดบาดกับเยื่อบุทวารหนักเกิดเป็นแผล ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บเวลาถ่ายอุจจาระ จึงพยายามกลั้นอุจจาระไว้ไม่อยากถ่ายอุจจาระ บางราย 7-10 วัน จึงถ่ายอุจจาระสักครั้ง
รู้ไหม ? ทำไมท้องผูก
ส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่มีเส้นใยน้อย ไม่ค่อยได้กินผัก ผลไม้ กินแต่อาหารรีบด่วน (อาหารขยะ) เช่น พิชซ่า ขนมปัง ไส้กรอก เป็นต้น จึงขาดเส้นใยอาหาร ที่จะดึงน้ำไว้ในอาหารที่ย่อยแล้วในลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระแข็งแห้ง ถ่ายลำบาก
การฝึกการขับถ่ายอุจจาระเร็วเกินไป (ก่อนอายุ 2 ปี) ทำให้เด็กรู้สึกต่อต้าน ไม่อยากถ่ายจะกลั้นอุจจาระไว้จนเป็นนิสัย
การดูแล :
เพิ่มกากใยอาหารโดยให้กินผักใบเขียว เช่น ตำลึง ผักหวาน บรอกโคลี ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า เป็นต้น และกินผลไม้ เช่น ลูกพรุน มะม่วง กล้วย ส้ม สับปะรด แก้วมังกร ฯลฯ
ให้ยาระบายอ่อน ๆ ในระยะแรก จนสามารถถ่ายอุจจาระได้ทุก 1-2 วัน
ฝึกให้ขับถ่ายเป็นเวลาจนเป็นนิสัย
หัดดื่มน้ำเปล่าให้มาก
เมื่อลูกหลานมีอาการปวดท้อง หากคุณพ่อคุณแม่ดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น การพบคุณหมอเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะดึกดื่นเพียงใดก็ควรมาพบคุณหมอ เพื่อการวินิจฉัยดูแลลูกน้อย คลายความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.10 No.113 พฤษภาคม 2557