ถึงเวลาเจ้าตัวเล็กใช้สายตาสำรวจโลก (modernmom)
เรื่อง : กาญจน์
คุณแม่หลายคนคงพอจำได้ว่าสิ่งแรกที่มีความหมายที่สุดของการมีลูก ไม่ใช่แค่การได้ยินเสียงพวกเขาร้องลั่นเท่านั้น แต่กลับเป็นช่วงเวลาครั้งแรก เมื่อลูกกับแม่ได้สบตากัน และรู้สึกว่าเขากำลังเพ่งมองเราอยู่และได้สบตากัน
หลายคนสงสัยว่าเด็กน้อยที่เพิ่งออกจากครรภ์มาทำสีหน้าคล้ายหน้านิ่วคิ้วขมวด บ้างก็จับจ้องไปยังจุดสนใจบางอย่าง พวกเขามองเห็นหรือไม่ ในทางการแพทย์นั้นอธิบายว่า เด็กทารกนั้นพร้อมต่อการมองเห็นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และพัฒนาได้ทันทีเมื่อออกจากครรภ์แม่ ดังนั้นการที่พวกเขาตอบสนองต่อแสง สี หรือภาพเคลื่อนไหวนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพียงแต่เด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเท่านั้นเอง
ดวงตายามแรกเกิด
ตอนที่เด็กน้อยคลอดออกมาครั้งแรกนั้น หากคุณแม่นั่งห่างจากเด็กน้อยในระยะประมาณ 8-12 นิ้ว จะสังเกตได้ว่าเด็ก ๆ มีปฏิกิริยาค่อนข้างมากที่จะพยายามลืมตา เคลื่อนย้ายสายตาไปตามการเคลื่อนไหว เมื่อคุณแม่ลองยกฝ่ามือขึ้นมาให้ลูกดู และเคลื่อนไปทางซ้ายหรือขวาอย่างช้า ๆ ก็จะเห็นลูกตากลม ๆ ของเจ้าตัวน้อยเคลื่อนตาม นั่นแหละค่ะคือขั้นแรกของการทดสอบพัฒนาการการมองเห็นของเด็ก ดวงตาของเด็กนั้นไวต่อแสงมาก ไม่ว่าเด็กน้อยของเราจะมีลูกตากลมโตหรือเรียวเล็กแบบไหนก็ตาม การทำให้เด็กได้รับแสงจ้าทั้งในที่ร่มหรือกลางแดดนั้นเป็นเรื่องอันตรายมาก สังเกตได้ว่าเด็กน้อยจะหลบตาปี๋ ด้วยสัญชาตญาณการปกป้อง แต่สิ่งที่ต้องระวังมากกว่า คือการปล่อยให้เด็กทารกจ้องมองดวงไฟ แม้ไม่สว่างมาก แต่พวกเขาสามารถจ้องได้ทีละนาน ๆ กว่าจะรู้สึกตัวอีกที สายตาพวกเขาก็อาจจะพร่าเลือนเสียแล้ว ดังนั้นการใส่ใจกับพัฒนาการด้านมองเห็นของลูก ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
ดวงตาเบบี๋วัย 3 เดือนแรก
แรกเริ่มเมื่อเด็ก ๆ รู้จักกับของเล่น เคยสังเกตไหมคะว่า ทำไมพวกเขาชอบจ้องมองกล่องกระดาษ หรือหมอนข้างมากกว่าลูกบอล นั่นเพราะทารกจะมองเห็นของทรงเหลี่ยมได้ชัดเจนกว่าของทรงกลมพวกเขาชอบของมีลวดลายสีสันตัดกันมากกว่าสีเรียบ และเมื่อเห็นใบหน้าคนก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองทันที
วันนี้เด็กน้อยเรียนรู้การโฟกัสสิ่งของที่มองเห็น ช่วงแรก ๆ คุณแม่ก็อาจตกใจที่เห็นดวงตาดำของลูกทั้งสองข้างไม่เท่ากันคล้ายคนตาเหล่ นั่นเป็นเพราะเขายังควบคุมประสาทได้ไม่ดีนัก ไม่ต้องตกใจนะคะ ถ้ามองเห็นลูกทำตาประหลับประเหลือก ทิ้งไว้สักพักก็จะปรับสายตาได้
ในช่วงเข้าสู่เดือนที่ 3 เด็กน้อยจะมองเห็นได้สัมพันธ์กันมากขึ้นระหว่างดวงตาซ้ายและขวา ช่วงเวลานี้เองที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ โดยการหาของเล่นที่มีสีสันสดใส เช่น สีแดง สีเหลือง หรือสีที่ตักกันมาก ๆ หากเป็นสีใกล้เคียงกัน เช่น สีฟ้ากับน้ำเงิน เขาจะยังแยกแยะไม่ได้ จึงไม่ชอบมองเท่าไรนัก
4-6 เดือน ดวงตาแห่งความผูกพัน
คุณแม่จะต้องตื่นเต้นมากเมื่อเห็นปฏิกิริยาว่า เจ้าตัวน้อยยิ้มได้แล้วหลังจากมองเห็นหน้าคุณแม่ เด็กวัยหลัง 3 เดือนนั้น พวกเขาชอบที่จะมองเห็นหน้าคนมาก โดยเฉพาะหน้าคนใกล้ชิดที่เขาคุ้นเคย ทุกครั้งที่เจอหน้ากัน เขาจะจ้องมอง ยิ้มให้ และเริ่มมีเสียงอ้อแอ้ซึ่งบ่งบอกความรู้สึกพึงพอใจ ช่วงนี้หากคุณแม่เป็นคนช่างยิ้ม ขอให้รู้ว่าคุณลูกจะเป็นคนยิ้มเก่งตามไปด้วย นั่นเพราะการทำตามภาพที่มองเห็นนั่นเอง
ในระยะนี้ระดับการมองเห็นด้านความชัดลึกกำลังพัฒนาได้ดีมาก จะเห็นภาพได้มากกว่า 15 นิ้วแล้ว ติดตามพัฒนาการได้จากการยื่นมือไขว่คว้าจับสิ่งของ จากเดิมที่ใช้มือเอื้อมแตะ สัมผัส ก็จะจับได้แม่นยำมากขึ้น และกะระยะใกล้ไกลได้ดีขึ้นอีกด้วย
ความสามารถอีกอย่างที่น่าทึ่งคือ ไม่เพียงแต่เป็นวัตถุชิ้นใหญ่เท่านั้น แต่ของเล็ก ๆ เช่น ปากกา ถุงเท้า ถุงมือ กระดาษ พวกเขาก็มองเห็นได้ หรือแม้แต่เป็นของเคลื่อนที่ได้ เช่น รถบังคับ โมบายที่ขยับหมุนไปมา ก็สร้างความเพลินเพลินได้เป็นอย่างดี
7-9 เดือน ได้เวลาสำรวจโลก
นอกเหนือจากพฤติกรรมเลียนแบบจากสิ่งที่มองเห็น เช่น ยิ้ม เมื่อมีคนยิ้มให้แล้ว เด็ก ๆ กำลังสนุกกับการสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว นั่นเพราะเวลานี้พวกเขามองเห็นภาพได้เทียบเท่ากับผู้ใหญ่แล้ว คุณแม่คงปลาบปลื้มไม่น้อย เมื่อรับรู้ว่าการมองเห็นของลูกชัดเจนดี สามารถแยกแยะความลึกตื้น ใกล้หรือไกลได้ แต่อย่าลืมสังเกตว่าลูกตาซ้ายและขวาสัมพันธ์กันดีหรือไม่ หากไม่ก็อาจสงสัยได้ว่าลูกมีปัญหากับสายตาซึ่งอาจต้องพาลูกไปพบแพทย์
เด็กปกติช่วงนี้เองที่เขาจะรบเร้าให้พาไปเดินชมวนชมดอกไม้ดูสิ่งแวดล้อมที่แปลกหูแปลกตามมากขึ้น อย่าลืมแบ่งเวลาพาลูกออกจากบ้านสัปดาห์ละครั้งเพื่อให้เขาได้มองเห็นสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เชื่อไหมว่าเขาสามารถแยกสิ่งที่คุ้นเคยกับสิ่งแปลกใหม่ได้แล้วด้วย
การมองเห็นระยะนี้คือสัมพันธ์กับระบบประสาทส่วนอื่น ๆ ด้วย เมื่อมองแล้วจึงเกิดการจดจำ นำไปสู่การคิด การเลียนแบบ หรือแสดงความพอใจ ไม่พอใจ คุณแม่จึงไม่ควรพลาดการสังเกตช่วงนี้เพื่อเรียนรู้อุปนิสัยของลูกซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นจากสิ่งที่พวกเขารับรู้
10-12 เดือน เตรียมพร้อมต่อโลกกว้าง
ความชัดเจนด้านการมองเห็นกำลังพัฒนาต่อเนื่อง การกระตุ้นการมองเห็นไม่เพียงแต่ดีต่อสายตา แต่เป็นการกระตุ้นเซลล์สมองที่เชื่อมโยงกับการได้ยิน ความจำ และการวิเคราะห์อีกด้วย
นี่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้ว่าเด็กน้อยผูกพันกับเรา จดจำใบหน้าคนสำคัญในชีวิตของเขาได้ดี หากมีเวลาเพียงพอสำหรับความละเอียดอ่อน เราจะมองเห็นความรู้สึกที่ซุกซ่อนอยู่ในดวงตาเล็ก ๆ คู่นั้น ว่าสุข ทุกข์ สบายใจ ปลอดโปร่ง หรืออึดอัดกับสิ่งใด นั่นคือการเรียนรู้เฉพาะตัวที่เด็กแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน
พัฒนาการการมองเห็น เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ทั้งสำหรับเด็กและผู้ปกครอง การมองเห็นก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตต่อไปในโลกใบนี้ หากเด็กคือผ้าขาว ดวงตาของพวกเขานั้น จะรับเอาเฉดสีมากมายเข้ามาในชีวิต เฉดสีที่สวยงาม ขุ่นมัว หรือเฉดสีแห่งความสนุกสนาน สีเหล่านั้นคือภาพสะท้อนความอบอุ่นความเข้าใจ ความรักและหวังดี ทั้งหมดนี้คือรากฐานและภูมิคุ้มกันในอนาคตของพวกเขาซึ่งได้จาการมองเห็นทั้งสิ้น
พัฒนาการมองเห็นขวบปีแรก
สัปดาห์แรก : เห็นลวดลายและสีสัน แยกความมืด สว่างได้ มองเห็นในระยะประมาณ 8 นิ้ว และค่อนข้างพร่ามัว
1-3 เดือน : เห็นได้ในระยะ 8-12 นิ้ว เอื้อมมือแตะสิ่งที่มองเห็นแยกลักษณะวัตถุได้ เริ่มปรับระยะใกล้ไกล กรอกตาไปมาได้
4-6 เดือน : ตาสองข้างประสานกันดีขึ้น เริ่มเห็นไกลขึ้น ชอบมองวัตถุที่มีสีสันตัดกัน สามารถจดจำวัตถุ และมีปฏิกิริยาต่อใบหน้า สามารถยิ้มตอบเมื่อยิ้มให้
7-9 เดือน : เลียนแบบภาพที่มองเห็น สนใจมองสิ่งแปลกใหม่ ชอบสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ไม่จำเจ
10-12 เดือน : มองเห็นชัดเจน เข้าใจภาพที่สื่อสาร จดจำหน้าคนใกล้ชิดได้ดี เรียนรู้และมีความทรงจำต่อสิ่งที่มองเห็น
วิธีกระตุ้นพัฒนาการ
ใช้นิ้วหรือผ้ามือเคลื่อนหาลูกในระยะประมาณ 8-12 นิ้ว เพื่อดูปฏิกิริยา
พูดคุยกับลูก จับวัตถุเลื่อนไปมา เพื่อดูว่ามองตามหรือไม่ แล้วค่อย ๆ เลื่อนให้ไกลขึ้นทีละนิด เริ่มหาของเล่นหรือโมบายให้ลูกไว้ชม
หาของเล่นที่เคลื่อนไหว และของที่จับได้ ทดสอบการจัดระยะโฟกัสใกล้ไกล ใช้กระจกส่องหน้า ห่างจากลูก 1 ฟุต
หาของขนาดต่างกัน เพื่อฝึกการแยกแยะ เล่นกับลูกด้วยสีหน้าท่าทาง สื่อสารและดูปฏิกิริยาพาลูกเดินเล่นในบ้าน ดูต้นไม้ใบหญ้า หรือนก
พาออกไปเดินเล่นนอกบ้านชมสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ พร้อมอธิบาย พบเจอผู้คนใหม่ ๆ มีสังคมเด็ก ๆ ให้รู้จักกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.19 No.220 กุมภาพันธ์ 2557