อย่าประมาท "ภัยประตู" (รักลูก)
เรื่อง : รศ.นพ.อติศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
ในบรรดาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ นั้นหลาย ๆ ท่านอาจนึกไม่ถึงว่า "ประตู" ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำอันตรายต่อลูกหลานของเราอยู่บ่อย ๆ และบางกรณีก็รุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส แม้กระทั่งเสียชีวิต
ประตูบ้าน
อันตรายจาก "ประตู" อาจถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ก็มิใช่มีเพียงเท่านั้น เพราะประตูยังเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้บ่อย ๆ เช่น ปิดประตูโดยไม่ระวังทำให้ทับมือ หนีบนิ้ว กระแทกศีรษะ
ประตูหนีบนิ้ว หนีบมือ พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านที่มีพี่น้องอายุอานามไล่เลี่ยกันอยู่ด้วย ไม่พี่ปิดประตูหนีบมือน้อง ก็น้องปิดประตูหนีบมือพี่ เกิดได้บ่อยทีเดียว หากรุนแรงอาจเกิดข้อนิ้วหักได้เลยทีเดียว ดังนั้นการใส่อุปกรณ์ป้องกันก็เป็นการลงทุนที่คุ้มครับ
เรื่องของการใช้ประตูกระจกในบ้านก็เป็นสาเหตุเด็กเล็กเดินหรือวิ่งชนกันโครม ๆ เสมอ ดังนั้นหากที่บ้านมีเด็กเล็ก ก็ไม่ควรใช้ประตูกระจก จึงหวังว่าผู้ใหญ่จะคิดถึงความปลอดภัยของเด็ก ๆ มากกว่าความสวยงามด้านวัตถุนะครับ
ประตูรั้วบานเลื่อนล้มทับ
ลองค้นดูข่าวก็ต้องตกใจเมื่อพบว่า ข่าวประตูล้มทับเด็กเกิดขึ้นบ่อยอย่างคาดไม่ถึง
ปัจจุบันมีผู้นิยมใช้ประตูรั้วบานเลื่อนโลหะกัน โดยทั่วไปทั้งในการจัดสร้างบ้านเองหรือการสร้างบ้านในโครงการจัดสรรต่าง ๆ ทั้งโครงการของเอกชน และโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรของรัฐในการจัดสร้างที่อยู่อาศัย และการใช้ในอาคารสาธารณะประเภทต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีเด็ก ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก การคำนึงถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากประตูรั้วบานเลื่อนโลหะที่ใช้กันอยู่ทั่วไปได้ ในการออกแบบอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์จึงต้องได้รับความเอาใจใส่ในเรื่องการติดตั้ง การเลือกใช้และการบำรุงรักษา
เด็กได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการล้มทับของประตูรั้วบ้าน และรั้วของโรงเรียน เพราะประตูบ้านส่วนใหญ่จะสร้างเป็นบานประตูขนาดใหญ่และใช้วัสดุที่เป็นเหล็กทำให้มีน้ำหนักมาก อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้จากการออกแบบ การติดตั้งและบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งแยกย่อยเป็นสาเหตุ ได้ดังนี้ คือ
แบบไม่มีมาตรฐาน เช่น ไม่มีเสาครอบประตู (เสาเหล็กกันล้ม) เพื่อกันไม่ให้ประตูหล่นโครมลงมาเมื่อมันหลุดออกจากรางเลื่อน ไม่มีส่วนยื่น (หูช้าง) เพื่อกันประตูหลุดออกจากเสากันล้ม ส่วนตัวลูกล้อประคอง (อยู่ด้านบนของบานประตู) และล้อเลื่อน (ด้านล่างประตู) ก็จะต้องคอยตรวจดูอย่างสม่ำเสมอว่า มันยังอยู่ในสภาพแข็งแรงดีหรือไม่ และยังใช้งานได้อย่างปลอดภัยอยู่หรือไม่
การติดตั้ง เช่น การติดตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์แล้วปล่อยทิ้งไว้ มีเหตุร้ายเกิดซ้ำ ๆ จากการนำประตูเหล็กใหญ่ ๆ หนัก ๆ ที่อาจชำรุดแล้วแทนที่จะนำไปกำจัดทิ้ง กลับวางพิงกำแพง ซึ่งก็เสี่ยงเหลือเกินที่อาจล้มทับเด็ก ๆ ที่กำลังเดิน หรือเล่นอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ขาดการดูแลเป็นประจำขณะใช้งาน เช่น บริเวณล้อรางมักจะมีเศษวัสดุอยู่บริเวณรางประตู เมื่อปิดเปิด ล้อจะกระดกตกรางได้ การกระดกของล้อออกจากรางบังคับล้อ และหลุดจากรอกประคองประตู ซึ่งความเสี่ยงลักษณะนี้จะเกิดในกรณีที่รอกประคองประตูทำหน้าที่โดยประกอบประตูโดยตรง หรือประคองโดยมีรางตัว U บนประตู
ขาดการตรวจอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา เช่น ประตู และอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู๋ในสภาพผุกร่อน ชำรุดทรุดโทรม หรือรางประตู จะมีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของพื้นบริเวณรางประตู ทำให้รางประตูคดงอ บิดเบี้ยว การทรุดตัวของพื้นหน้าประตูทำให้ล้อวิ่งออกนอกรางประตู ซึ่งความเสี่ยงลักษณะนี้จะเกิดในกรณีที่รอกประคองประตูทำหน้าที่โดยประกบประตูโดยตรง หรือประคองโดยมีรางตัว U คว่ำ
นอกจากประตูล้มทับแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อเด็ก ๆ อีกหลายเหตุ เช่น การติดค้างของศีรษะในระหว่างช่องของประตูที่จะต้องมีความห่างอยู่ในช่องระหว่าง 9-23 เซนติเมตร เพราะจะทำให้ศีรษะเด็กเกิดการติดค้างในลักษณะของการแขวนคอได้ เรื่องความแหลมคมของแนวประตูรั้ว เช่น ตัวอย่างที่เป็นข่าวเด็กนักเรียนจังหวัดลำพูนถูกรั้วเสียบคอเสียชีวิต
การปฐมพยาบาล : การบาดเจ็บจากประตูหนีบกดนิ้วและมือ
ทำให้ผิวหนังถลอก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อฟกช้ำ การบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง หากเป็นบาดแผลถลอก ให้ปลอบประโลมเด็กชะล้างแผลให้สะอาด ถ้าหากเป็นแผลฟกช้ำประคบด้วยผ้าชุบน้ำเย็นสัก 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นแทน ให้กินยาแก้ปวดตามความจำเป็น
หากเป็นประตูล้มทับ ถ้าประตูหนัก ๆ ให้ระวังว่าอาจมีการบาดเจ็บของศีรษะ สมอง และกระดูกต้นคอที่รุนแรงได้ ถ้าหากไม่แน่ใจให้จับเด็กนอนราบ ตามหน่วยฉุกเฉิน (1669) อย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง เพราะหากมีกระดูกต้นคอหักและเคลื่อนย้ายผิดวิธีอาจทำให้กระดูกกดทับไขสันหลัง เป็นอันพาต หรือหลุดหายใจได้
ระวัง ! ประตูเลื่อนปิด-เปิดแบบอัตโนมัติ
ประตูลักษณะนี้โดยมากเป็นกระจก ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ตามบริษัทมินิมาร์ท โดยเฉพาะตามศูนย์การค้าทั้งหลาย แล้วที่พบบ่อย ๆ ก็คือ เมื่อพ่อแม่ลูก เดินกันมาถึงหน้าประตูกระจกทางเข้าห้าง เจ้าลูกน้อยก็วิ่งจู๊ดผ่านประตูกระจกที่เปิดโดยอัตโนมัติ ในขณะที่พ่อแม่ได้แต่ตะโกนไล่หลัง "เดี๋ยว ๆ...รอก่อน ๆ..." จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ มีเด็กบางคนก็วิ่งกลับออกมา แล้วก็โดนประตูกระจกอัตโนมัติหนีบ (หรือกระแทก) เข้าโครมใหญ่
ระวัง ประตูลิฟท์ !
เหตุที่ต้องนำเรื่องนี้มาพูดถึง ก็เพราะไปพบงานวิจัยที่น่าตกใจของอเมริกันที่ระบุว่า ตัวเลขคนบาดเจ็บ เพราะลิฟท์นั้นมันมากมายอย่างคาดไม่ถึง ! โดยส่วนใหญ่เกิดจากโดนประตูลิฟท์หนีบ-สะดุดหกล้มตอนที่ก้าวเท้าเข้า หรือออกจากลิฟท์ยังจอดไม่สนิท
เนื่องจาก "ลิฟท์" กับเด็กเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงกันไม่พ้น การใช้ลิฟท์อย่างไรให้ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องสอนลูก ๆ หลาน ๆ ครับ...โดยสอนลูก ๆ ว่า...ลิฟท์เขามีไว้ใช้งาน เพื่อให้คนเดินขึ้นหรือลงหลาย ๆ ชั้นจะได้ไม่เมื่อย ดังนั้นมันย่อมไม่ใช่เครื่องเล่นในสวนสนุก ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ด้วยความสนุก และปุ่มในลิฟท์ก็ไม่ใช่ปุ่มเกมออนไลน์ กดเล่นไม่ได้ เดี๋ยวลิฟท์ค้างลิฟท์เสียเข้าแล้วออก
สอนลูกว่าเมื่อประตูลิฟท์เปิดแล้วเห็นคนยืนอยู่แน่น ก็ให้รอรอบต่อไป อย่าฝืนโดยพยายามอัดเข้าไปให้ได้ เพราะอาจจะทำให้ลิฟท์ค้างและเกิดอันตรายได้ครับ การสอนเรื่องมารยาทการใช้ลิฟท์ก็เป็นสิ่งจำเป็นครับ เพราะนั่นจะนำมาซึ่งความปลอดภัยด้วย นั่นคือการยืนรอลิฟท์ จะต้องยืมเข้าแถวก่อน-หลัง โดยยืนสองข้างซ้าย-ขวา แล้วเว้นช่วงประตูหน้าลิฟท์ เพื่อให้คนที่อยู่ในลิฟท์ได้ออกมาก่อน
ประตูเสริมความปลอดภัย (safety fate)
ประตูเสริม คือประตูขนาดเล็กมีไว้เพื่อติดตั้งภายในบ้าน เพื่อป้องกันเด็กเข้าสู่จุดอันตราย เช่น ทางขึ้น ทางลงบันได ทางที่จะไปห้องน้ำ ห้องครัว เป็นต้น หรือใช้เป็นส่วนประกอบในการกันพื้นที่ปลอดภัยในการเคลื่อนที่ให้กับเด็ก
การกันเด็กไว้ในพื้นที่ปลอดภัยต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเคลื่อนที่ไปได้ดีคือเด็กที่มีอายุ 7 เดือนขึ้นไป ซึ่งเด็กเหล่านี้จะเริ่มคืบคลานได้ เด็กวัยนี้จะเริ่มเกิดอุบัติการณ์ตกน้ำตกท่า นิ้วแหย่รูปลั๊กไฟ หรือหยิบของเล็ก ๆ ตามพื้นเข้าปาก พอได้ 9-10 เดือนเด็กจะโหนตัวเกาะยืนได้ ชั้นวางของที่ไม่แข็งแรง เช่น ชั้นทีวีก็จะหล่นทับเด็กได้ อายุ 11-12 เดือน เด็กจะปืนขึ้นบันไดได้แล้ว จะมีอุบัติการณ์การตกบันได
อย่าลืมอีกเรื่องนะครับหากเด็กใช้รถหัดเดิน อุบัติการณ์เหล่านี้จะเกิดได้ตั้งแต่เริ่มใช้ทันที ตัวประตูเสริมเองต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะสมไม่มีความเสี่ยง เช่น มีช่องรูทำให้ศีรษะเด็กติดค้างได้
ความปลอดภัยสร้างได้ครับ แต่ต้องตระหนักในความเสี่ยงต่าง ๆ ตามพัฒนาการของเด็ก และต้องไม่ลืมว่า ต้องจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยแต่แรก ควบคู่กันกับการเฝ้าดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ความผิดพลาดมักเกิดเสมอเมื่อคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เอาไว้ก่อน ไม่ต้องหรอกเดี๋ยวดูแลเองได้ประเดี๋ยวเดียว ความปลอดภัยต้องไม่มีช่องว่างสำหรับเด็กครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 374 มีนาคม 2557