จูงลูกแรงระวังข้อศอกเคลื่อนหลุด ! (รักลูก)
เรื่อง : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
เมื่อลูกอยู่ในวัยแบเบาะ พ่อแม่มักถนอมกล่อมเห่ มดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม ด้วยเห็นว่าลูกยังเด็กอ่อนยิ่งนัก ครั้นพอลูกครบขวบกระทั่ง 4-5 ขวบ เรียกได้ว่าตั้งแต่เริ่มเดินได้วิ่งได้ จนปีนป่ายได้ ไม่น้อยเลยบางครั้งก็อาจลืมไปว่า แม้ลูกจะตัวโตขึ้น แต่ถึงอย่างไรลูกก็ยังอยู่ในวัยเตาะแตะ ร่างกายสรีระของลูกยังเปราะบาง ยังต้องได้รับการดูแลระมัดระวัง และจะประมาทมิได้เลย
ตัวอย่างเหตุการณ์อันสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้ลูก มีดังนี้
ลูกวัย 9 เดือน นั่งเล่นของเล่นอยู่กับพื้น แม่ก้มหน้าก้มตากวาดบ้าน หันกลับมาเห็นลูกนั่งทับฉี่กองใหญ่ เปียกแฉะ อารมณ์โกรธและตกใจกลัวว่าจะสกปรก จึงคว้าข้อมือลูกฉุดยกตัวลอยให้ยืนขึ้น
ลูกวัย 1 ขวบ คุณพ่อคุณแม่หวังจะให้ลูกหัดเดินให้เก่ง ๆ โดยคุณพ่อดึงข้อมือข้างขวา คุณแม่คว้าข้อมือข้างซ้าย แต่ลูกยังเดินไม่ถนัดถนี่ ทำท่าจะหกล้ม คุณพ่อคุณแม่ต่างตกใจ ต่างกระตุกแขนลูก สุดท้ายลูกก็ร้องไห้ สีหน้าเจ็บปวด...
ลูกวัย 3 ขวบ คุณแม่จูงเดินในซอยของหมู่บ้าน สักครู่มีรถจักรยานยนต์แล่นเฉียดใกล้เข้ามาโดยเร็ว ด้วยความตกใจ คุณแม่รีบดึงมือลูกเข้ามาอย่างแรง...
เหตุการณ์เหล่านี้ มักลงเอยด้วยเสียงร้องด้วยความปวดร้าวของลูก เพราะกระดูกบริเวณข้อศอกเคลื่อนจากตำแหน่งปกติ ร่วมกับมีการฉีกขาดของเส้นเอ็น เรียกความผิดปกตินี้ว่ากระดูกข้อศอกเลื่อน (radial head dislocation) ข้อศอกถูกดึง (pulled elbow) หรือภาษาบ้าน ๆ เรียก ข้อศอกพี่เลี้ยง (Nursemaid’s elbow) อาการนี้เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุประมาณ 2-3 ปี พบได้ไม่เกินอายุ 8 ปี เหตุการณ์ที่พบบ่อย ได้แก่ การยกเด็กโดยการจับมือแล้วฉุดขึ้น จับมือเด็กแล้วกระตุกอย่างฉับพลัน หรือการดึงเด็กออกจากสถานการณ์อันตรายด้วยความตกใจ เหตุการณ์เหล่านี้สามารถทำให้เกิดกระดูกข้อศอกเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งปกติได้
มารู้จักข้อศอกกันก่อน
กระดูกของข้อศอกมีกระดูกต้นแขน 1 ท่อนเรียกว่ากระดูกฮิวเมอรัส และกระดูกแขนอีก 2 ท่อน มาประกอบกันและมีเส้นเอ็นมาโยงใยเชื่อมต่อ
กระดูกแขน ท่อนแรกเรียกว่ากระดูกอัลนา เป็นกระดูกตรงกับด้านนิ้วก้อย กระดูกแขนท่อนที่ 2 เรียกว่ากระดูกเรดียส ซึ่งเป็นกระดูกขนาดเล็กกว่าอยู่ข้างเดียวกับนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งข้อศอกมนุษย์ถูกออกแบมาสุดยอด หุบเข้าบานออกได้คล้ายบานพับ แต่เยี่ยมกว่ามากดตรงที่ว่าพอกางแขนออกแล้วยังหมุนหงายมือ คว่ำมือ 180 องศาได้อีก ซึ่งบานพับเมื่อเปิดประตู หรือหน้าต่างแล้วไม่สามารถหมุนกลับหน้าหลังได้
ข้อศอกทำให้แขนหุบได้ บานได้แล้ว ยังหมุนกลับหงายมือ คว่ำมือได้หลายร้อยครั้งต่อวันเป็นเวลาหลาย 10 ปี โดยแขนท่อนบนและท่อนล่างไม่หลุดออกจากกัน เพราะมีการเชื่อมต่อด้วยเส้นเอ็นทั้งตรงกลางเป็นลักษณะคล้ายวงแหวน และเส้นเอ็นด้านข้างทั้งสองข้างที่หุ้มห่อข้อศอกไว้เป็นอย่างดี และมีความแข็งแรงแต่ยืดหยุ่นทำให้เกิดการเคลื่อนที่ที่มหัศจรรย์
การปฐมพยาบาล : กรณีกระดูกข้อศอกเคลื่อนหรือหัก
เด็กจะมีอาการเจ็บปวด ร้องไห้ ไม่ยอมยก ไม่ยอมใช้แขนข้างที่เป็น เด็กมักอยู่ในท่าเหยียดข้อศอกออกแต่ไม่สุด แขนไม่อยู่ในท่าตรง มือจะคว่ำไม่ยอมหงาย ลูบข้อศอกเด็กจะไม่ผิดรูป ไม่บวมมาก แต่อาจมีอาการเจ็บด้านข้างได้
หากบวมมาก ผิดรูปชัดเจน ให้คิดว่ามีกระดูกหักเอาไว้ก่อน และต้องหาผ้ามาคล้องแขนเด็กไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวแขน จนกว่าจะได้รับการตรวจจากแพทย์
จูงเด็กแล้วกระชาก หรือกระตุกรุนแรงเส้นเอ็นฉีก กระดูกเคลื่อนได้
ในเด็กเล็ก เส้นเอ็นเหล่นี้ยังไม่แข็งแรงเมื่อมีการดึงหรือกระตุกปลายแขนอย่างรุนแรงจะทำให้เส้นเอ็นเหล่านี้ยืดและเส้นเอ็นวงแหวนฉีกบางส่วน กระดูกแขนท่อนที่เรียกว่าเรเดียสจะถูกดึงให้เคลื่อนออกจากที่ และเส้นเอ็นวงแหวนจะสอดเข้าขวางตรงจุดเชื่อมของกระดูกนี้กับกระดูกต้นแขน ทำให้เด็กมีอาการเจ็บปวด
การรักษา หากเป็นข้อศอกเคลื่อนหรือข้อศอกพี่เลี้ยง แพทย์จะรักษาได้ทันที โดยดึงให้เข้าที่ไม่ต้องเอกซเรย์เลย ภายหลังการดึงกลับเข้าที่เพียงไม่กี่นาทีต่อมา เด็กก็จะหยุดร้องและยกแขนใช้งานได้ทันที ตรงกันข้ามหากแพทย์สงสัยว่าอาจมีกระดูกหักร่วมด้วย อาจต้องตรวจวินิจฉัยให้ชัดก่อนจะไปดัดไปยืดกระดูก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 373 กุมภาพันธ์ 2557