Over Acting ปัญหาหรือแค่คาแร็กเตอร์ (รักลูก)
เรื่อง จันทนา เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นพ.ณัฐวัฒน์ งามสุทร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โณงพยาบาลเด็กสมิติเวช ครีนครันทร์ ภาพ อุทัย ใยย้อย
พฤติกรรม "Over Acting" หรือการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ของเด็กวัย 1-3 ปี เช่น แสดงความเจ็บปวดมากเกินจริง ร้องคร่ำครวญ โวยวาย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่มักแยกไม่ออกว่าลูกแค่เรียกร้องความสนใจตามธรรมชาติของวัย หรือเขามีปัญหาพฤติกรรมและพัฒนาการทางจิตใจกันแน่ ดังนั้น วันนี้เรามีคำแนะนำเพื่อช่วยคุณสังเกตและปรับพฤติกรรม Over Acting ของเจ้าหนูวัยซนค่ะ
"1-3 ขวบ" ช่วงวัยแห่งการเรียกร้อง
ลูกวัยซนนั้นยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีนักและยังไม่มีเล่ห์เหลี่ยมค่ะ โดยเฉพาะช่วง 1-2 ขวบ ที่มักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self center) พ่อแม่ต้องตามใจและทำตามที่เขาต้องการทั้งหมด ส่วนหนึ่ง เพราะเขายังต้องการความช่วยเหลือ ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองเดินได้ วิ่งได้ แต่ก็ยังทำอะไรเองไม่ได้ทั้งหมด จึงเป็นธรรมดาที่เขาจะรู้สึกว่าหากร้องหรือทำอะไรในระดับที่มากกว่าปกติ ตัวเองจะได้รับความสนใจ และการดูแลเป็นพิเศษ
ดังนั้น การที่ลูกทำพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเรียกร้องให้คุณพ่อคุณแม่สนใจ เช่น เมื่อล้มก็ร้องไห้ดัง ๆ ร้องมาก ๆ หรือของเล่นบุบนิดหน่อยก็ร้องไห้ นั่นก็เพราะเขาต้องการความช่วยเหลือค่ะ
เส้นแบ่งของ "ปัญหา" และ "คาแร็กเตอร์"
เส้นแบ่งของพฤติกรรมที่ลูกเรียกร้องความสนใจตามปกติ และเรียกร้องมากเกินไปจนถือเป็นปัญหา คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ
หากลูกเรียกร้องความสนใจ แล้วพ่อแม่ไม่ให้ จนเขาหยุดไปเอง นั่นคือคาแร็กเตอร์และนิสัยหรือพฤติกรรมปกติของลูก
หากลูกเคยได้รับการฝึกฝนวินัย รู้จักกฎระเบียบของการได้ หรือไม่ได้สิ่งใดอย่างชัดเจนแล้ว พ่อแม่ใจแข็งแล้ว พอถึงเวลาลูกยังเรียกร้อง ไม่ยอมฟัง แบบนี้ถือว่าผิดปกติค่ะ
และในกรณีที่ลูกคล้ายกับมี 2 บุคลิก เช่น อยู่ที่บ้านเรียกร้องได้ แต่อยู่โรงเรียนไม่เรียกร้อง นั่นเพราะเขารู้ว่าเรียกร้องไปก็ไม่เป็นผลเขาก็ไม่ทำ ถือว่าปกติค่ะ ไม่ใช่ปัญหา แต่หากที่บ้านและที่โรงเรียนมีการตั้งกติกาชัดเจนแต่ลูกยังเรียกร้อง อันนี้อาจจะก่อปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ ต้องมาหาสาเหตุแล้วล่ะค่ะว่าเป็นเพราะอะไร
"Over" แบบมีปัญหากระทบต่อพัฒนาการ
หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเรียกร้องความสนใจแบบ Over Acting มากเกินไปโดยไม่มีการฝึกฝนวินัยหรือปรับพฤติกรรมเลย อาการของลูกก็อาจไม่หายไปเองและเป็นไปเรื่อย ๆ ค่ะ เพราะเด็กหลายคนที่มีพฤติกรรม Over Acting แบบสุด ๆ ถึงขั้นโวยวายจะอยู่ในช่วงวัย 3-5 ขวบเท่านั้น หากไปถึง 6-7 ขวบยังเป็นอยู่ถือว่าเป็นปัญหา ลูกจะรู้สึกว่าถูกตามใจจน "Over" ไปเรื่อย ๆ
ซึ่งสาเหตุของการเรียกร้องความสนใจส่วนใหญ่มาจากพัฒนาการด้านจิตใจ ที่ลึก ๆ เป็นเพราะลูกไม่มั่นใจในตัวเอง ต้องการพึ่งพาเนื่องจากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เต็มที่ ดังนั้น หากปล่อยให้เขาเรียกร้องด้วยวิธีนี้ไปจนโต ความมั่นใจของเขาอาจจะไม่มีเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรเองไม่ได้ จนต้องโวยวายขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเสมอ
นอกจากนี้หากมีอะไรมากระทบจิตใจเขาจะมีอารมณ์ขึ้นลงง่าย เช่น โดนเพื่อนล้อจะโกรธมาก เสียใจมาก ทำให้เกิดภาวะอารมณ์ไม่คงที่ตามมา ส่งผลต่อพัฒนาการเมื่อตอนโตขึ้นคือ ปรับตัวยากเข้ากับเพื่อนและสังคมได้ยาก
ตอบสนองผิด ลูกยิ่งแย่
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในเรื่อง Over Acting ของเจ้าหนูวัยซน คือ กรตอบสนองของพ่อแม่ต่อพฤติกรรมลูก ซึ่งจะมี 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มไม่ตอบสนองเลย : ไม่ว่าเขาจะร้องหรือไม่ร้องก็ตาม หากปล่อยและไม่สนใจ ลูกก็จะคับข้องใจว่าทำไมไม่ได้รับความสนใจเลย ยิ่งทำให้เขากลายเป็นเด็กชอบเรียกร้องความสนใจได้เช่นกัน
กลุ่มที่ตอบสนองอย่างไม่เหมาะสม : ไม่สม่ำเสมอ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ลูกก็จะเรียกร้องแบบโวยวายได้ค่ะ
ปรับพฤติกรรม เพื่อพัฒนาการที่ดี
ฝึกวินัยด้วยกฎที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ พ่อแม่หลายคนมักมีคำถามค่ะว่าเด็กวัย 1-3 ขวบเริ่มฝึกวินัยได้หรือยัง คำตอบคือสามารถฝึกได้ตั้งแต่วัยขวบกว่า ๆ แล้วค่ะ เพราะเขาเริ่มเข้าใจภาษาได้ดีแล้ว จึงเริ่มฝึกวินัยโดยการกำหนดกติกา เช่น อันนี้ทำได้ เล่นได้ กินได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการฝึกต้องสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือน ใช่วันนี้ไม่ให้กินขนมอันนี้แต่อีกวันลูกร้องโยเยเลยยอมให้กิน แบบนี้ไม่ได้ค่ะ หากฝึกอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องแล้วลูกยังไม่ดีขึ้น อาจเป็นปัญหาจริง ๆ ต้องพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อดูว่าเป็นปัญหาพฤติกรรมหรืออารมณ์ของลูกที่ทำให้ฝึกได้ยาก
สังเกตตัวเอง ยอมรับฟังคนรอบข้าง หากลูกมีปัญหาพัฒนาการแบบ Over Acting จริง ๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ทำพฤติกรรมเดียวกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน ฝึกแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง กรณีนี้คุณหมออาจต้องใช้ยาช่วยนะคะ เพราะลูกอาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเอง พ่อแม่จึงต้องสังเกตจาการเลี้ยงดู ละยอมรับฟังคนอื่น เช่น คุณครู ว่าเวลาที่เขาอยู่โรงเรียนเป็นอย่างไร ไม่ใช่ฝังชิพในใจไว้ว่าเราเลี้ยงดีแล้ว ถูกแล้ว ลูกปกติ ไม่เปิดใจยอมปรับพฤติกรรมลูกก็จะยิ่งมีปัญหาพัฒนาการต่อเนื่องได้ค่ะ
สิ่งแวดล้อมต้องคงที่ หากที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ คนในบ้านต้องช่วยกันทั้งปู่ย่าตายาย รวมทั้งต้องระวังเรื่องลูกอาจเลียนแบบสื่อ เช่น บอกว่าถ้าไม่ได้อย่างนี้จะฆ่าตัวตายเพราะจำมาจากทีวีหรือละคร ทั้งที่ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าฆ่าตัวตายคืออะไร ไม่ได้ห้ามหรอกนะคะว่าเด็กไม่ควรดูทีวี แต่พ่อแม่ควรจะต้องอยู่ด้วยและคอยชี้แนะว่าสิ่งที่เขาเห็นคืออะไร ลูกจะได้เข้าใจว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ และต้องทำให้สภาพแวดล้อมทุกอย่างคงที่ เพราะหากสิ่งแวดล้อมไม่คงที่และมีสื่อต่าง ๆ ที่ลูกไม่เข้าใจ ก็จะทำให้ลูกทำตามเพราะคิดว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการค่ะ
สอนด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือตัวอย่างจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เมื่อจะพูด จะสอนลูก ต้องไม่ใช้อารมณ์ แต่ใช้เหตุผลว่าที่ให้หรือไม่ให้เขาเพราะอะไร ไม่ใช้เสียงดังโวยวายในการบอกลูกเพราะเขาจะจำไปทำกับเพื่อน หรือคนอื่น ๆ ได้ว่าหากอยากให้หยุดต้องโวยวาย
สิ่งที่พ่อแม่ต้องใส่ใจอย่างมากเกี่ยวกับพฤติกรรม Over Acting คืออย่าทำให้ลูกไม่มั่นใจ หวั่นไหว และต้องการพึ่งพา ควรส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้การเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะสุดท้ายหากเขาพึ่งพาและช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องเรียกร้อง จะทำให้เขาอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 374 มีนาคม 2557