อาเจียนเรื้อรัง ไม่ร้ายแรง แต่ทรมาน

อาเจียนในเด็ก

อาเจียนเรื้อรัง ไม่ร้ายแรง แต่ทรมาน
(รักลูก)
เรื่อง : ไพริน เรียบเรียงจากากรสัมภาษณ์ นพ.ไพศาล เลิศฤดีพร กุมารแพทย์ด้านทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ ภาพ อุทัย ใยย้อย

          เด็ก ๆ อาเจียนได้ง่าย เพียงแค่ไอหรือกินอิ่มเกินไปก็ทำให้อาเจียนได้แล้วค่ะ และบางครั้งสาเหตุของการอาเจียนก็มาจากโรคที่ค่อนข้างอันตราย เช่น อาหารเป็นพิษ หรือติดเชื้อในทางเดินอาหาร แต่ก็เป็นไปได้ที่เด็ก ๆ จะอาเจียนต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งถ้ามีอาการแบบเดียวกันซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อาจสงสัยได้ว่าหนูน้อยเป็น "โรคอาเจียนเรื้อรัง\' ค่ะ

          โรคอาเจียนเรื้อรัง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Cyclic Vomiting Syndrome
ซึ่งอาการจะไม่ใช่แค่อาเจียนบ่อยเท่านั้นนะคะ แต่เป็นการอาเจียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือ อาเจียนหลาย ๆ ครั้งต่อชั่วโมง อาจต่อเนื่องเป็นวัน หรือหลายวัน บางทีอาจนานถึง 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีช่วงที่อาการหายไป ก่อนจะกลับมาเป็นใหม่ภายในหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนต่อมา เป็นวงจรและมีลักษณะเหมือนเดิม เด็กบางคนอาจมีอาการนำหรือสัญญาณเตือน เช่น ได้กลิ่นแปลก ๆ ได้ยินเสียงแปลก หรือคันตามตัว และด้วยลักษณะอาการที่เป็นเหมือนเดิมซ้ำ ๆ คุณพ่อคุณแม่ที่รู้อยู่แล้วว่าลูกเป็นโรคนี้จะสังเกตได้เมื่อลูกเริ่มมีอาการค่ะ

          อาเจียนเรื้อรังมักเกิดในเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน วัยอนุบาล และวัยประถม บางครั้งแม้เด็กอายุ 6-7 วัน ก็เป็นได้เช่นกันค่ะ ในสหรัฐอเมริกามีเด็กที่เป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 2.2 และในเมืองไทยก็พบเช่นกัน ส่วนมากอาการของโรคจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่เด็กบางคนอาจมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ และจากรายงานพบว่า มีคนเป็นโรคอาเจียนเรื้อรังจนอายุ 70 ปี เลยก็มีค่ะ

อาเจียนเรื้อรัง ไม่มีสาเหตุ ?

          ความแปลกของโรคอาเจียนเรื้อรังคือต้องเป็นการอาเจียนที่หาเหตุไม่เจอเท่านั้นค่ะ เพราะถ้าเจอก็แสดงว่าเป็นโรคอื่น ดังนั้น เวลาที่คุณหมอพบว่าหนูน้อยมีอาการเข้าข่าย ก็จะตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะโรคที่มีลักษณะอาการคล้ายกัน เช่น โรคลมชักที่ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต้องตรวจคลื่นสมอง โรคไมเกรนที่ระบบทางเดินอาหาร การแพ้นมวัว หรือแม้กระทั่งไข้หวัด ถ้าตรวจทุกอย่างแล้วพบว่าไม่ใช่สาเหตุของการอาเจียน คุณหมอจึงจะระบุว่าเป็นโรคอาเจียนเรื้อรัง ซึ่งหมายความว่าในครั้งแรกที่ลูกน้อยอาเจียน คุณหมอจะยังไม่สามารถสรุปได้ทันที แต่ถ้ามีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ก็จะช่วยให้คุณหมอหาคำตอบของอาการผิดปกติได้ง่ายขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ เก็บโรคอาเจียนเรื้อรังไว้เป็นคำตอบสุดท้ายนั่นเอง

วงจรอาเจียนเรื้อรัง

          โรคอาเจียนเรื้อรังมีอาการแบบเดิมซ้ำ ๆ เป็นวงจรดังนี้

          1. อาการนำ เช่น ได้กลิ่นแปลก ๆ ได้ยินเสียงแปลก ๆ หรือคันตามตัว

          2. อาเจียน หลายครั้งใน 1 ชั่วโมง และต่อเนื่องเป็นวัน หลายวัน หรืออาจนานถึง 3-4 สัปดาห์

          3. ช่วงพัก อาการจะหายไปเองระยะหนึ่ง อาจหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน

          4. อาการนำกลับมา และจะวนกลับไปสู่ระยะอาเจียนและช่วงพัก เป็นวงจรจนกว่าจะหายไปเอง

ไม่ร้ายแรง แต่ทรมาน

          แม้ว่าจะไม่ใช่อาการที่ทำให้เจ็บปวดมากนัก แต่การอาเจียนต่อเนื่องนาน ๆ ก็เป็นสิ่งที่ทรมาน โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ ที่มักมีอาการปวดท้องและถ่ายเหลวร่วมด้วยสำหรับระดับความรุนแรงของการอาเจียนสามารถสังเกตได้จากสีของอาเจียนดังนี้ค่ะ

         อาเจียนเป็นสีเหลือง มาจากน้ำย่อยในกระเพาะ

         อาเจียนเป็นสีเขียว มาจากน้ำดี

         อาเจียนมีเลือดปน เกิดจากการที่อาเจียนอย่างรุนแรงจนมีการฉีกขาดของหลอดอาหารหรือเส้นเลือดที่ผิวของกระเพาะ ซึ่งก็ถือว่าอันตรายค่ะ

          Tips : การอาเจียนที่ไม่ใช่อาเจียนเรื้อรัง

          โรคบางโรคอาจทำให้หนูน้อยอาเจียนบ่อยและต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ทางเดินอาหารติดเชื้อไวรัส การอุดตันของลำไส้หรือหลอดอาหาร หรือส่วนปลายของกระเพาะอาหาร จุดต่างของโรคเหล่านี้ก็คือ เด็กจะอาเจียนไม่หยุดโดยไม่มีช่วงพัก ในขณะที่โรคอาเจียนเรื้อรังจะมีช่วงที่อาการหายไป ก่อนจะวนกลับมาเป็นเหมือนเดมิอีกนั่นเอง

          ดังนั้นถ้าพบว่าลูกอาเจียนมาก คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปรักษาที่โรงพยาบาลนะคะ เผื่อกรณีที่ลูกสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่มากเกินไป จะได้ให้น้ำเกลือและปรับให้กลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด บางทีถ้าอาเจียนมาก ๆ คุณหมออาจจะฉีดยาลดการอาเจียนให้ถ้ามีเลือดออกก็จะได้เช็คดูว่าซีดไหม ต้องเติมเลือดไหม และถ้ามีถ่ายเหลวก็ต้องดูเรื่องการติดเชื้อด้วยค่ะ

ทำอย่างไร ให้หนูหายดี

          เนื่องจากโรคอาเจียนเรื้อรังไม่มีสาเหตุแน่ชัดและจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น จึงต้องใช้วิธีรักษาตามอาการเป็นหลักค่ะ หลังจากที่สรุปแล้วว่าเป็นโรคนี้แน่นอน และหนูน้อยก็ยังมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ คุณหมออาจตัดสินใจให้ยาในกลุ่มของยานอนหลับ เพื่อให้เด็กได้พัก และจะมียากลุ่มที่แก้อาการอาเจียน สุดท้ายคือยาป้องกันลมชัก ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทนิด ๆ ยาเหล่านี้จะให้เมื่อเด็กมีอาการบ่อย และทนไม่ไหวจิรง ๆ เท่านั้นค่ะ

          สำหรับคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้นได้ด้วยการให้ลูกนอนพัก และจิบน้ำเรื่อย ๆ ถ้าอาเจียนมาก ๆ ก็ได้กินยาแก้อาเจียน และอย่าลืมสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดนะคะ ถ้าลูกดูเหมือนแห้งน้ำ ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะไม่ค่อยออกควรรีบพาไปหาคุณหมอเพื่อให้น้ำเกลือ ที่สำคัญ ถ้าคุณหมอจ่ายยาให้ ไม่ควรปรับ หรือลดยาเอง ยกเว้นว่าคุณหมอจะอนุญาตนะคะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 32 ฉบับที่ 374 มีนาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาเจียนเรื้อรัง ไม่ร้ายแรง แต่ทรมาน อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2559 เวลา 16:51:43 5,769 อ่าน
TOP
x close