ระวัง ! สารพิษร้ายใกล้ตัวลูก

สารพิษในบ้าน

ระวัง ! สารพิษร้ายใกล้ตัวลูก
(รักลูก)
เรื่อง : จันทนา

         การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทั้งตามฤดูกาลและอย่างกะทันหัน เพราะสภาพแวดล้อมโลกแปรปรวน อาจส่งผลให้ลูกน้อยวัยเบบี้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสารพิษและมลภาวะต่าง ๆ รอบตัวไม่สบายและติดเชื้อได้ง่ายขึ้นนะคะ ที่น่ากังวลก็คือเทคโนโลยีก้าวหน้าอาจทำให้สารพิษเหล่านั้น เข้ามาอยู่ใกล้ลูกน้อยมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวค่ะ

โลหะหนักภัยร้ายที่อาจมองข้าม

         มลภาวะเป็นพิษในอากาศปัจจุบันพบว่ามีโลหะหนักที่มีผลต่อสุขภาพมากมาย เช่น สารตะกั่ว สารปรอท อลูมิเนียม สารหนู ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสูดดม การปนเปื้อนในน้ำและอาหารค่ะ

         สารปรอท พบมากในแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียลงน้ำแล้วไปปนเปื้อนกับอาหารทะเล

         อลูมิเนียม ปนเปื้อนในน้ำประปา รวมทั้งจากการสึกกร่อนของอุปกรณ์เครื่องครัว

         แคดเมียม พบในควันบุหรี่

         สารหนู พบมากในยาปราบศัตรูพืช ซึ่งจะตกค้างอยู่ในอาหาร ถ้าร่างกายลูกน้อยรับโลหะหนักเหล่านี้เข้าไปจะส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ หลอดเลือด ทำให้ลูกมีปัญหาเรื่องไอคิว เซลล์สมองผิดปกติ มีพัฒนาการที่ช้าลง บางคนอาจพูดช้า สมาธิสั้น รวมไปถึงกลายเป็นเด็กออทิสติกได้ค่ะ

ของใกล้ตัวน่ากลัวกว่าที่คิด

         แม้เบบี้ของคุณจะไม่ได้ไปสัมผัสกับมลภาวะนอกบ้านเลย แต่เขาก็สามารถรับสารพิษมากมายภายในบ้านได้ ถ้าพ่อแม่รู้ไม่เท่าทันและไม่ได้ป้องกันไว้ก่อน เพราะภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากในปัจจุบันส่งผลให้สารเคมีต่าง ๆ ภายในบ้านไม่ถูกระบายออกไป ทำให้มีการสะสมของโลหะหนักในอากาศและเข้าสู่ร่างกายลูกได้ โดยปนเปื้อนมากับน้ำ อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านค่ะ

1. การปนเปื้อนในอาหาร

         เนื้อสัตว์ ที่เรานำมาปรุงเป็นเมนูแสนอร่อยนั้น รู้ไหมคะว่าเป็นแหล่งรวมฮอร์โมนที่ใช้กระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์ชนิดนั้นให้โตทันความต้องการของตลาด โดยฮอร์โมนที่ตกค้างในเนื้อสัตว์มักจะเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศหญิง ดังนั้น ถ้าหากลูกสาวกินเนื้อสัตว์ที่มีฮอร์โมนตกค้างเข้าไปตั้งแต่ยังเล็ก จะเกิดการสะสมทำให้เข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ มีประจำเดือนตั้งแต่วัย 9-10 ปี กรณีเด็กผู้ชายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับด้านระบบเผาผลาญพลังงาน ทำให้อ้วนง่าย และอวัยวะเพศเจริญไม่สมบูรณ์

         ขนมกรุบกรอบ มักปนเปื้อนสารกันเสียและสารปรุงแต่งต่าง ๆ ส่งผลให้ตับที่เป็นอวัยวะกำจัดสารเคมี ยา ฮอร์โมนทำงานหนักมากขึ้น ยิ่งในปัจจุบันคนไทย มักขาดวิตามิน A C E ที่ตับต้องการเพื่อกำจัดสารเคมีมากขึ้น พิษในตับก็จะมากขึ้นจนเกิดโรคตับอักเสบหรือไขมันสะสมที่ตับมากขึ้นอีกด้วย

2. แฝงเร้นในภาชนะ

         ภาชนะพลาสติก โฟม เนื่องจากเราหลีกเลี่ยงอุปกรณ์บรรจุอาหาร เช่น พลาสติก พลาสติกแร็ป โฟม รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้าไมโครเวฟไม่ได้ ซึ่งความร้อนจากไมโครเวฟนี้แหละค่ะจะทำให้วัสดุเหล่านี้หลอมละลาย ทำปฏิกิริยาเร่งให้สารโลหะจำพวกซีโนเอสโตรเจน (Xenoestrogens) อย่าง ดีดีที บิสฟีนอล พีซีบี และสารที่อยู่ในกลุ่มบีพีเอ (Bisphenol A) ที่เคลือบภาชนะโลหะละลายออกมา ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้ฮอร์โมนของลูกถูกรบกวนจนการเจริญเติบโตผิดปกติค่ะ

         กล่องนม แม้กระทั่งนมที่บรรจุในขวดพลาสติกหรือกล่องกระดาษที่เคลือบฟรอยด์ด้านในก็อันตรายเช่นกัน อย่ามองข้ามเชียว เพราะถึงแม้ภาชนะเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่จำกัดแน่นอน แต่หากคุณพ่อคุณแม่เก็บรักษาไม่ดี ละเลยคำแนะนำ วางทิ้งไว้ในที่มีอุณหภูมิร้อนมาก ๆ ฟรอยด์อาจรั่วและเกิดการปนเปื้อนได้ค่ะ

3. ผนังบ้านก็ไม่ปลอดภัย

         เชื่อไหมคะว่าแม้แต่ผนังบ้านที่มีการทาสีก็อันตรายต่อลูกน้อยมากเช่นกัน เพราะสารพิษโดยเฉพาะสารปรอทที่ผสมในสีทาบ้านนั้นสามารถอยู่ได้นานถึง 5 ปี และจะระเหยออกมาเรื่อย ๆ เมื่อโดนความร้อน ลูกน้อยหรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็อาจรับสารนี้สะสมเข้าสู่ร่างกายได้

4. ภัยมืดจากเครื่องใช้ไฟฟ้า

         สารรังสีต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น รังสีเอ็กซเรย์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์นั้นมีงานวิจัยมากมายที่ระบุไว้นะคะว่ามีผลต่อสุขภาพของเรา เพราะไปเพิ่มสารอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ ทำให้เซลล์เสื่อมเร็วมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ

ใช้ชีวิตอย่างเท่าทันป้องกันได้

         อย่างไรก็ตาม การดูแลและป้องกันลูกจากสารพิษใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่ดีที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงและรู้เท่าทันอันตรายจากของกินของใช้รอบ ๆ ตัว โดยปฏิบัติตามวิธีการง่าย ๆ ต่อไปนี้

         1. เลือกผักผลไม้ออร์แกนิกส์ที่ไม่มีสารเคมี ให้เป็นของว่างสำหรับลูกแทนขนมกรุบกรอบ

         2. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เช่น เนื้อ นม ไข่ ที่มั่นใจได้ว่าไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต

         3. อ่านฉลากทุกครั้งก่อนการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดภายในบ้าน สังเกตวิธีการผลิต และวัตถุดิบที่ใช้

         4. หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติก หรือใช้สำหรับอาหารที่เก็บในตู้เย็นเท่านั้น และไม่นำเข้าไมโครเวฟ หากต้องนำอาหารเข้าไมโครเวฟต้องเปลี่ยนภาชนะเป็นถ้วยแก้วหรือถ้วยกระเบื้อง

         5. ขวดพลาสติกใสที่โดนความร้อนหรือวางตากแดดนาน ๆ จะมีสารพีซีบี) (Polychlorinated biphenyls) หลุดออกมาไม่ควรนำกลับมาใช้อีกควรเปลี่ยนใช้ภาชนะอย่างอื่นแทน

         นอกจากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากของใช้ใกล้ตัวแล้ว เรื่องโภชนาการก็ไม่ควรละเลยนะคะโดยเฉพาะการให้ลูกได้กินผักใบเขียวและอาหารที่มีวิตามินทั้ง A C E เบต้าแคโรทีน ไฟเบอร์เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุที่จะช่วยขจัดสารพิษในตับได้ดีและเร็วขึ้นค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 372 มกราคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง ! สารพิษร้ายใกล้ตัวลูก อัปเดตล่าสุด 26 มีนาคม 2557 เวลา 15:09:27 1,422 อ่าน
TOP
x close