เมื่อลูกวัยเรียนเป็นโรคซน สมาธิสั้น

โรคซนสมาธิสั้น

เมื่อลูกวัยเรียนเป็นโรคซนสมาธิสั้น (Mother&Care)
โดย : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

          ความซนกับเด็ก ๆ มักเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร ดังคำกล่าวที่ว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่ถ้าลูกรักของคุณมีอาการอยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่ง สมาธิไม่จดจ่อกับสิ่งที่ทำ หรือซนมากผิดปกติจนกลายเป็นปัญหาคับอกคับใจให้คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งกลุ้มว่าลูกฉันเป็นลิงกลับชาติมาเกิดหรืออย่างไร ฉบับนี้จึงขอมาไขปัญหาน่าปวดหัวของคนเป็นพ่อแม่ให้ฟังกันค่ะ

          โรคซนสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD)

          นั่นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วงวัยเด็ก (ร้อยละ 5-15 ในเด็กวัยเรียน) ต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยเด็กจะแสดงอาการ คือ ไม่สามารถจดจ่อหรือมีสมาธิในสิ่งที่ทำ (ไม่รวมถึงการเล่นเกม หรือดูทีวี) มีความยากลำบากในการควบคุมพฤติกรรมหรือหุนหันพลันแล่น และซนอยู่ไม่สุข ซึ่งอาการอาจรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทั้งพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กบางคนอาจซน อยู่ไม่นิ่ง และไม่สามารถควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจมีอาการสมาธิสั้นเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยทั้งในเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย โรคซนสมาธิสั้นพบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในต่างประเทศพบว่าประมาณ 3-5% ของเด็กวัยเรียนเป็นโรคนี้ ซึ่งอาการของเด็กแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

1. ขาดสมาธิ

          เด็กจะแสดงอาการวอกแวกง่าย ไม่ใส่ใจรายละเอียด หรือเลินเล่อในการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น เบื่อง่าย แม้ว่าเพิ่งเริ่มเล่นหรือทำกิจกรรมไม่กี่นาที มีปัญหาในการจดจ่อหรือจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม ไม่สามารถเล่นหรือทำการบ้านได้เสร็จ ขี้หลงขี้ลืมทำของหายบ่อย  ๆ ดูเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย เหม่อ เชื่องช้า และสับสนง่าย ประมวลข้อมูลได้ช้า และไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่สามารถทำตามคำสั่งหรือแนวทางที่ให้ไว้

2. ซน อยู่ไม่สุข

          เด็กจะมีลักษณะยุกยิก อยู่ไม่สุข หรือบิดตัวไปมาเมื่อต้องนั่งอยู่กับที่ พูดมาก พูดตลอดเวลา วิ่งไปมา เล่นหรือจับของเล่นทุกชิ้นที่เห็น เคลื่อนที่ตลอดเวลาไม่สามารถนั่งนิ่ง ๆ ขณะกินอาหาร เรียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ต้องนั่งได้ เล่นเสียงดังตลอดเวลา ไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมเงียบ ๆ ได้

3. หุนหันพลันแล่น

          เด็กจะมีพฤติกรรมไม่มีความอดทน พูดโพล่งด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม ชอบขัดจังหวะ หรือพูดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่ แสดงความรู้สึกโดยไม่เก็บอาการ หรือทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา รอคอยไม่เป็น ชอบแซงคิว

          หากเด็กมีอาการในข้อ 1.ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป แสดงว่าเขาน่าจะมีปัญหาสมาธิสั้น แต่ถ้าเขามีอาการในข้อ 2.และ 3.ตั้งแต่ 6 ข้อขึ้นไป แสดงว่าเขาน่าจะเป็นเด็กซน-หุนหันพลันแล่น แต่ถ้ามีอาการทั้ง 3 ข้อ แสดงว่าเขาเป็นเด็กซน สมาธิสั้น โดยเด็กต้องแสดงอาการก่อนอายุ 7 ปี มีอาการทั้งที่บ้านและโรงเรียน รวมทั้งอาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม การเรียน หรือสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคซนสมาธิสั้น

          จากผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมองโดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้น จะมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งมีปัญหาอย่างเดียวกัน การเลี้ยงดู หรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง คุณแม่ที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว ในระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคซนสมาธิสั้นสูงขึ้น

          การวิจัยในปัจจุบันยังไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาล หรือช็อกโกแลตมากเกินไป การขาดวิตามิน โรคภูมิแพ้ การดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกมมากเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซนสมาธิสั้น เพราะในขณะที่เด็กดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกม เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องโดยภาพบนจอทีวี หรือวิดีโอเกมที่เปลี่ยนทุก 2-3 วินาที จึงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเอง ระหว่างการอ่านหนังสือ หรือทำงานต่าง ๆ เด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นจะขาดสมาธิด้านนี้

          การรักษาโรคสมาธิสั้น หรือผู้ที่มีภาวะสมาธิบกพร่องปัจจุบันนั้น วิธีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าได้ผลดีคือ การให้ยาเพิ่มสมาธิ ร่วมกับการฝึกเทคนิคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยและผู้ดูแล และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วย และผู้ปกครองต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เพื่อที่จะช่วยเหลือให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การรักษาเด็กซนสมาธิสั้น ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกัน คือ

          1. การรักษาด้วยยา

          2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว

          3. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน

          การช่วยเหลือทางด้านจิตใจ สำหรับเด็ก และครอบครัว ผู้ปกครอง และครูของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก การตี หรือการลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านก้าวร้าวมากขึ้น วิธีที่ได้ผลดีคือ การให้คำชม หรือรางวัล เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และเหมาะสม รวมถึงการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยงดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัดสิทธิพิเศษ เด็กซนสมาธิสั้นควรมีโอกาสได้คุยกับคุณหมอ เพื่อจะได้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดและแนะนำแนวทางปฏิบัติตัว โดยเน้นให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง ในบางราย ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ก็มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความวิตกกังวล และความเครียดของเด็ก

          การช่วยเหลือทางด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น ข้อแนะนำสำหรับครูคือ จัดให้เด็กนั่งหน้าชั้น หรือใกล้ครูให้มากที่สุดในขณะสอน จัดให้เด็กนั่งอยู่กลางห้อง หรือให้ไกลจากประตู หน้าต่าง เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะถูกทำให้วอกแวก โดยสิ่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน เขียนการบ้าน หรืองานที่เด็กต้องทำในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดำ ตรวจสมุดจดงานของเด็ก เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบ, อย่าสั่งงานให้เด็กทำ (ด้วยวาจา) พร้อมกันทีเดียวหลาย  ๆ คำสั่ง ควรให้เวลาให้เด็กทำเสร็จทีละอย่างก่อนให้คำสั่งต่อไป, คิดรูปแบบวิธีเตือน หรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียน โดยไม่ให้เด็กเสียหน้า, จัดให้เด็กที่อยู่ไม่สุข มีโอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์ เช่น มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยครูเดินแจกสมุดให้เพื่อน ๆ ในห้อง เป็นต้น ให้คำชมเชย หรือรางวัล เมื่อเด็กปฏิบัติตัวดี หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์, หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ว่ากล่าวรุนแรง หรือทำให้เด็กอับอาย, หลีกเลี่ยงการตีหรือการลงโทษทางร่างกาย เมื่อเด็กกระทำผิด ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทำเวร หรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน (เพื่อทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ), ให้เวลากับเด็กนานขึ้นกว่าเด็กปกติระหว่างการสอน หากพบว่ามีวิธีการใดที่บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ควรแจ้งให้ผู้ปกครองและแพทย์ผู้ดูแลรักษาทราบ เพื่อเป็นแนวทางร่วมกัน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน

          เมื่อผ่านวัยรุ่นประมาณ 30% ของเด็กซนสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากอาการซนได้ แต่จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง แม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่บางคนหากสามารถปรับตัว และเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อการงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.10 No.109 มกราคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อลูกวัยเรียนเป็นโรคซน สมาธิสั้น อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2557 เวลา 18:13:13 1,637 อ่าน
TOP
x close