เด็กตัวเหลือง เรื่องเล็ก ๆ ที่ต้องดูแล



เด็กตัวเหลือง เรื่องเล็ก ๆ ที่ต้องดูแล
(M&C แม่และเด็ก)

          คุณหมอที่ดูแลการคลอด (หรือคุณหมอเด็กที่ดูแลต่อเนื่องให้) จะอธิบายให้ทราบอยู่แล้วถึงปัญหา โดยปกติจะพบว่าประมาณร้อยละ 25-50 ของทารกแรกเกิดมีอาการตัวเหลือง คือเกิดมา 2-4 คนจะมีอาการตัวเหลือง 1 คน เห็นค่อนข้างพบได้บ่อย ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าพ่อแม่มีผิวขาว ลูกที่เกิดมักจะมีผิวขาวตามกรรมพันธุ์ ดังนั้นช่วงแรกเกิดเด็กมักมีผิวขาวซีดหรืออาจตัวเหลืองกว่าเด็กทั่วไป แต่ส่วนใหญ่เมื่อเข้าตู้อบฉายแสงในช่วงเนอสเซอรี่แรกคลอด ก็มักจะหายเหลืองได้เอง

อาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิดแบ่งได้ตามสาเหตุ ดังนี้

        ตัวเหลืองจากสรีรภาพ คือภาวะตัวเหลืองในทารกเกิดปกติ ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทารกแรกเกิดสร้างบิลิรูบิน สารเหลืองมากกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโตถึง 2 เท่า ทำให้ตับไม่สามารถขับออกได้ทัน จึงมีบิลิรูบินค้างในเลือดเด็ก ทำให้มีภาวะตัวเหลือง ตาขาว ฝ่ามือ ฝ่าเท้าของเด็กก็สีเหลืองด้วย หรือตับยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ จึงไม่สามารถขับบิลิรูบินได้ รวมทั้งการไหลเวียนของระบบในตับของบิลิรูบินสั้น ทำให้มีบิลิรูบินตกค้างในเลือดมาก จึงทำให้เด็กตัวเหลืองมากขึ้น

        การแตกของเม็ดเลือดแดงของทารกแรกเกิด ส่วนใหญ่เกิดในเด็กที่มีเลือดหมู่ A หรือ B และมารดามีเลือดหมู่ O โดยหมู่เลือดของลูกและแม่ไม่เข้ากัน อีกภาวะคือ เด็กมีเลือด RH+ และมารดามีเลือด RH-

        ภาวะเอนไซม์ G6PD พร่องในทารกแรกเกิด ก็สามารถทำให้ทารกแรกเกิดมีภาวะตัวเหลืองรุนแรงได้

        ภาวะที่มีการอุดตันทางเดินน้ำดีในตับ โดยเด็กจะมีอาการตัวเหลืองในสัปดาห์ที่ 2 ร่วมกับมีอุจจาระซีดและตับโดยคลำได้ที่ชายโครงขวา

          เด็กทารกแรกเกิดส่วนใหญ่ 3-4 วันก็หายตัวเหลือง ที่ต้องระวัง คือ เด็กที่น้ำหนักตัวน้อยและตัวเหลือง ต้องดูแลอย่าให้ตัวเหลือง ตรงส่วนนี้พยาบาลในห้องเนอสเซอรี่แรกคลอดจะดูแลให้อยู่แล้ว ปกติถ้าเด็กมีอาการตัวเหลืองจากสรีรภาพเมื่อได้น้ำมากขึ้น ก็จะมีการขับบิริรูบินออก อาการเหลืองก็ลดน้อยลงโดยขับออกทางปัสสาวะด้วย จะเห็นว่าปัสสาวะเหลืองน้อยลง

          อีกวิธีที่แนะนำกันมาแต่โบร่ำโบราณ คือพาลูกน้อยออกมาเดินสัมผัสแดดอ่อน ๆ ยามเช้าหรือยามเย็น วันละครั้งสองครั้ง ก็ช่วยให้หายอาการตัวเหลืองได้

          ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไม่ยอมดูดนม อาเจียน ร้องเสียงแหลมไม่มีแรง และอาจจะกระสับกระส่าย ร้องกวนและชัก ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทับที เพื่อพบกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดเพื่อให้การตรวจและรักษา จำไว้ให้แม่นค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 37 ฉบับที่ 502 ธันวาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กตัวเหลือง เรื่องเล็ก ๆ ที่ต้องดูแล อัปเดตล่าสุด 13 มกราคม 2557 เวลา 13:59:49 8,212 อ่าน
TOP
x close