ฝึกวินัยให้ลูกในชั่วโมงหม่ำ ๆ (M&C แม่และเด็ก)
หลายบ้านเริ่มให้อาหารเสริมลูกตั้งแต่วัย 4 เดือน เริ่มจากน้ำส้ม น้ำผลไม้ จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นผลไม้เนื้อนิ่ม เช่น มะละกอ หั่นชิ้นเล็ก ให้ลูกกลืนสะดวก พออายุ 5-6 เดือน บางบ้านเริ่มให้รับประทานโจ๊กหรือข้าวต้ม (ควรต้มจนเนื้อนุ่มละเอียด) ผสมผัก เช่น แครอท ฟักทอง กล้วยบด บางบ้านอาจต้มพร้อมปวยเล้ง ผักโขม หรือตอกไข่ผสมด้วย เพื่อเพิ่มสารอาหารให้ลูก
เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่จะกินง่าย เริ่มสนุกกับรสชาติและรสสัมผัสใหม่ ๆ ดังนั้นการปรุงอาหารสำหรับลูกควรปรับเปลี่ยนรสชาติใหม่ ๆ ในแต่ละวัน อาจต้มโจ๊กเป็นหม้อใหญ่สำหรับ 3 มื้อ ให้กับพอประมาณ เพราะยังอยู่ในวัยกินนมทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ถ้าให้ผลไม้ ต้องระวังผลไม้บางชนิดที่มีเปลือกแข็ง อย่างแอปเปิล ส้ม เพราะเค้ามักสำลัก กลืนไม่เข้า ต้องช่วยแกะเปลือกก่อน แม้แต่องุ่น ถ้าแกะเปลือกได้ควรช่วยแกะ กินพร้อมเปลือกจะฝาด เค้าอาจไม่ชอบ และฝังใจไม่อยากกินอีกเลย
ทำยังไงก็ไม่ยอมกิน
ปัญหานี้ถือว่าไม่ปกติ เด็กวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ความรู้สึกเบื่ออาหารยังไม่มี ต้องดูว่ามีป่วยไข้ เจ็บคอ ร้อนในหรือไม่ หรือรสชาติอาหารที่ให้ไม่ถูกปาก ลองเปลี่ยนรสชาติใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นมะละกอ กล้วยหรือฟักทองที่มีรสชาติ หวานตามธรรมชาติ เด็กมักจะไม่ปฏิเสธ
แต่ถ้าสามอย่างนี้ยังเบือนหน้าหนี ก็ไม่เป็นไร รออายุ 5-6 เดือนค่อยลองใหม่ ถ้ายังปฏิเสธอีก อันนี้ไม่ได้แล้ว ต้องเริ่มฝึกให้เขาเรียนรู้ในการกิน เพราะโจ๊กหรือข้าวต้มต่อไปจะกลายเป็นอาหารหลักแทนนม ไม่จำเป็นต้องปรุงรสหวาน ควรปรุงรสกลาง ๆ (เหยาะซีอิ๊วได้นิดหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติ) ผักโขมหรือปวยเล้งสับละเอียดช่วยเพิ่มรสชาติได้ดี รวมทั้งข้าวโพดหั่นเป็นท่อนใส่ลงไป เนื้อหมูสับใส่ได้เพื่อให้น้ำข้าวมีรสถูกปาก แต่วัยนี้ยังไม่ควรให้กินเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ เน้นเป็นเนื้อปลา (ควรเป็นปลากะพง คาวน้อยและไม่มีก้าง) จริง ๆ ควรให้กินเนื้อปลาจนโตเลยยิ่งดี เนื้อหมู เนื้อไก่เว้นได้ควรเว้น
สนุกกับการป้อนข้าวลูก
ขณะป้อนก็ต้องหลอกล่อกันหน่อย เทคนิคนั้นแล้วแต่บ้านแล้วแต่คน บางบ้านเอาหนังสือภาพมาเปิดให้ลูกดูแล้วป้อน บางบ้านเปิดทีวี เปิดแท็บเล็ตให้ลูกดู จะได้ป้อนง่าย ๆ อันนี้ยังไม่ควร อาจวางผักนิ่ม ๆ แครอทลวกสุกนิ่ม ๆ ในชามหรือบนโต๊ะให้เค้าหยิบ หรือวางช้อนกับชามพลาสติกให้เล่นไปด้วยก็ได้
การป้อนข้าวลูกไม่ควรเร่งรีบ ค่อย ๆ ป้อน รอจังหวะ อาจแบ่งอาหารหลาย ๆ อย่างในถ้วย เช่น เนื้อปลา ข้าวใส่ชาม ซุปหรือน้ำเปล่า ตักสลับให้กิน ดูก่อนว่าเค้าเคี้ยวหรือกลืนหมดหรือยัง ค่อยป้อนต่อ รีบป้อนหรือยังกลืนไม่หมด เด็กอาจสำลักคายบ้วนออกมา
ควรให้ลูกกินปริมาณเท่าไหร่ อันนี้แล้วแต่วัย ถ้าเขาเริ่มเบือนหน้า ส่ายหนีปฏิเสธ หรือคายออกมา ถ้าเห็นว่ากินเยอะแล้ว ก็น่าจะอิ่มแล้ว ไม่ต้องป้อนจนหมดชาม อย่าลืมว่าเด็กวัยนี้ยังกินนม เป็นช่วงวัยที่จะสลับจากอาหารหลักเป็นอาหารเสริม และอาหารเสริมเป็นอาหารหลัก ต่อไปเค้าจะกินนมน้อยลง แต่นมก็ยังคงความสำคัญอยู่ ให้กินแต่พอดี เพื่อจะได้ไม่อิ่มแน่นท้องเกินไป
สร้างวินัยการกินตั้งแต่เล็ก
เด็กวัยนี้ยังวิ่งไม่ได้ ปัญหาจะต้องวิ่งไล่ตามป้อนข้าวจึงยังมาไม่ถึง แต่คุณต้องพบแน่ ๆ จำไว้เสมอ ไม่ควรทำอย่างนั้นควรกำหนดให้ลูกกินอาหารที่โต๊ะเพื่อฝึกวินัย สำหรับเด็กวัยนี้ พ่อแม่หลายคนมักจะพาลูกเปลี่ยนสถานที่กิน เช่น อุ้มหรือพาขี่จักรยานไปป้อนข้าวในสวนใกล้ ๆ นั่นจะทำให้เค้าเกิดความชิน และติดนิสัยไม่ยอมนั่งกินข้าวนิ่ง ๆ เมื่อโตขึ้น ควรแบ่งแยกเวลากิน เวลาเล่น เวลาเที่ยวให้ชัดเจน โดยฝึกได้ตั้งแต่วัยนี้
ป้องข้าวลูกไม่ยาก อาศัยใจเย็น ๆ ดูจังหวะ ถ้าเห็นเค้าบ้วนคาย ไม่ยอมกิน งอแง ก็ปรับตามสภาพ อย่าบังคับฝืนใจ ยิ่งทำให้เขาปฏิเสธ ต่อต้าน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 37 ฉบับที่ 502 ธันวาคม 2556