5 วิธี เลี้ยงดี ๆ ไม่มีอ้วน



เลี้ยงดี ๆ ไม่มีอ้วน
(รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว

          ข้อมูลจากกรมอนามัยบอกแนวโน้มสุขภาพของเด็กไทยก่อนวัยเรียน (0-3 ปี) ว่าอีก 2 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2558 จะมีเด็กไทยอ้วนถึง 1 ใน 5 คน โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบจำนวนเด็กอ้วนก่อนวัยเรียนเพิ่มขึ้นถึง 36% และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็พบว่าเด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจสรุปได้ว่ามีการเพิ่มจำนวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก

          ฟังแล้ว ทั้งน่ากลัวและน่ากังวลเลยใช่ไหมคะ ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ลูกน้อยของเราเป็น 1 ในจำนวนเด็กอ้วนที่จะเพิ่มขึ้นเลยนะคะ เพราะเบื้องหลังความอ้วนคือปัญหาสุขภาพที่จะรบกวนชีวิตและติดอยู่กับลูกไปจนโตค่ะ

ลูกอ้วนเกิดจาก

1. พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม

          พฤติกรรมการกินอาหารต่าง ๆ ของลูก ล้วนเกิดจากพ่อแม่กินอาหารให้ลูกเห็นค่ะ ปัญหาเด็กอ้วนในวัย 0-3 ปีที่พบส่วนใหญ่มักเกิดจากเด็กกินนมในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะเด็กที่ติดขวดนม นอกจากนี้ เด็กที่เปลี่ยนจากนมผงมากินนมกล่อง พ่อแม่จำนวนมากที่ยอมให้ลูกกินนมรสหวาน ช็อคโกแลต หรือนมเปรี้ยว เนื่องจากเห็นว่าลูกชอบและกินได้ดีโดยไม่ตระหนักว่าในนมเหล่านั้น มีน้ำตาลอยู่ในปริมาณสูง เป็นสาเหตุให้เด็กติดรสหวาน นำไปสู่โรคอ้วนตั้งแต่เล็ก ๆ

          นอกจากนี้พบว่าในสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กไทยเคยชินกับการกินขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน ของทอด และขนมต่างประเทศซึ่งมักอุดมไปด้วย แป้ง น้ำตาล และไขมัน ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น

2. ผิดปกติทางพันธุกรรม

          มีโรคทางพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุให้เด็กอ้วนได้ เช่น โรคพราเดอร์วิลลี่ ซินโครม ที่ทำให้เด็กหิวบ่อย และมีลักษณะเจ้าเนื้อพัฒนาการล่าช้า หรือโรคที่ทำให้สเตียรอยด์ฮอร์โมนหลั่งมากกว่าปกติ บางโรคก็เกิดจากเซลล์มะเร็ง ผลิตสารที่ทำให้อ้วน หรือร่างกายของเด็กมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก็จะทำให้เด็กตัวเตี้ย และอ้วนได้

อ้วนเบื้องหลังความหายนะ

          เด็กอ้วนที่หลายคนมองว่าน่ารัก น่ากอด จริง ๆ แล้วกลับแฝงมาด้วยสารพัดปัญหาสุขภาพที่ส่งผลตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ไปจนโต เช่น

          โรคซึมเศร้า เป็นปัญหาด้านจิตใจที่เด็กมักจะถูกล้อเลียน และขาดความมั่นใจ

          ระบบประสาทผิดปกติ อาจมีความดันในสมองเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพซ้อน แต่โรคนี้พบได้น้อยค่ะ

          ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ไขมันส่วนที่สะสมในอวัยวะบริเวณลำคอหรือหน้าอกไปกดทับทางเดินหายใจ เรียกว่าอาการ Cbstructive Sleep Apnea ซึ่งเด็กจะมีอาการนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ และอาจพบภาวะปัสสาวะรดที่นอนได้

          โรคหัวใจ เกิดจากภาวะที่ไขมันในเลือดสูง จนเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

          โรคเบาหวาน เพราะความอ้วนทำให้เกิดภาวะต้านอินซูลิน ทำให้ร่างกาย ไม่สามารถนำน้ำตาล กรดไขมัน และกรดอะมิโนไปใช้ได้ จึงทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง

          ตับและท่อน้ำดีผิดปกติ เช่น เป็นโรคไขมันพอกตับ และนิ่วในถุงน้ำดีได้

          ขาโก่ง เพราะกระดูกขาต้องรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้เด็กมีอาการเจ็บเข่า ขาโก่ง หรือเจ็บสะโพกเนื่องจากหัวกระดูกต้นขาเคลื่อนออกจากเบ้ากระดูก

5 วิธีป้องกันลูกอ้วน

1. สร้างค่านิยมเรื่องสุขภาพ

          โดยเปลี่ยนค่านิยมผิด ๆ เช่น เน้นให้ลูกกินอาหารอร่อย แต่ไม่มีประโยชน์ กินในปริมาณมาก ๆ หรือมองว่า เด็กอวบอ้วน เป็นเด็กน่ารักสุขภาพดี เพราะค่านิยมเหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้พ่อแม่เลี้ยงลูกโดยไม่คำนึงถึงปัญหาสุขภาพที่จะตามมาภายหลัง

          เราควรสร้างค่านิยมในการรักษาสุขภาพ กินอาหารโดยเน้นประโยชน์มากกว่าปริมาณ ยิ่งในเด็กวัยเริ่มกินอาหารหลัก ควรเริ่มต้นให้ลูกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ค่ะ

2. ติดตามกราฟการเจริญเติบโตของลูก

          ในสมุดสุขภาพของลูกจะมีกราฟน้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก แต่ละวัยอยู่  แต่พ่อแม่หลายคนกลับละเลย และคิดว่าเป็นหน้าที่ของคุณหมอ ซึ่งพ่อแม่สามารถทราบถึงสุขภาพของลูกได้จากสมุดเล่มนี้ โดยดูว่าลูกมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หรือลูกเป็นเด็กอ้วนหรือยัง จะได้รีบแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพราะยิ่งแก้ไขเร็วยิ่งได้ผลดี

3. ต้นแบบจากพ่อแม่

          พ่อแม่ควรเริ่มสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตที่เน้นสุขภาพ ทั้งเรื่องการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เหมาะสมก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก

4. จัดอาหารให้เหมาะสม

          หลังลูกได้รับนมแม่ถึง 6 เดือนก็ได้เวลาเริ่มกินอาหารเสริมแล้ว เพื่อให้ลูกน้อยคุ้นเคยกับอาหารหยาบแทนอาหารเหลว เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มคันเหงือก บางคนก็มีฟันขึ้นแล้ว แปลว่าลูกน้อยส่งสัญญาณอยากบดเคี้ยวอาหารแล้วค่ะ เมื่อลูกอายุ 8 เดือน ควรเพิ่มอาหารเป็น 2 มื้อ เมื่อลูกอายุ 10-12 เดือน สามารถเพิ่มอาหารเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ โดยนมจะกลายเป็นอาหารเสริมแทน

5. เมนูผักทุกมื้อ

          ควรให้ลูกได้กินผักตั้งแต่เริ่มกินอาหารเสริมเลยค่ะ เพราะบางบ้านมาเริ่มให้ลูกกินผักตอนเช้าอนุบาล ลูกก็มักปฏิเสธการกินผักซะแล้ว ทำให้เด็กเลือกกินแต่โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต และยังทำให้ชินกับการไม่กินผักด้วย ดังนั้น พ่อแม่ควรเลือกผักที่หลากหลายชนิดมาเป็นส่วนประกอบในเมนูให้ลูก จะช่วยให้ลูกติดนิสัยในการกินผักจนโตค่ะสามารถหาข้อมูลเรื่องอาหารที่เหมาะกับแต่ละวัยได้ในสมุดสุขภาพเด็กค่ะ

ชวนลูกลดอ้วน

          ถ้าตอนนี้ลูกมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือเริ่มเป็นเด็กเจ้าเนื้อที่มีแนวโน้มจะอ้วนในอนาคต ต้องชวนลูกลดอ้วนด้วยวิธีนี้ค่ะ

          รีบพามาหาคุณหมอ ไม่ควรปล่อยให้ลูกอ้วนนานจนเกินไป เพราะเด็กจะชินกับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตแบบนี้ ต้องรีบพาลูกไปปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมอจะสอบถามถึงปริมาณการกินอาหาร และชีวิตประจำวันทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ลูกอ้วน และแนะนำวิธีดูแลสุขภาพที่ถูกต้องให้
ทำกิจกรรมนอกบ้าน ให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกาย วิ่งเล่นในสวน เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมัน และช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น การทำกิจกรรมนอกบ้านจะช่วยลดพฤติกรรมที่เด็กต้องนั่งเฉย ๆ เช่น เล่นเกม หรือดูทีวีนาน ๆ ได้ด้วย

          ควบคุมอาหาร โดยลดอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลสูง และเปลี่ยนมาให้ลูกกินผักและผลไม้มากขึ้นแทน ระยะแรก ๆ ลูกอาจจะปฏิเสธแต่ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนอาหารวันละนิด ลูกก็จะเริ่มปรับตัวได้ในที่สุด

          ลูกจะกลายเป็นเด็กอ้วนหรือไม่ พ่อแม่คือผู้กำหนดชีวิตของพวกเขานะคะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 31 ฉบับที่ 369 ตุลาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 วิธี เลี้ยงดี ๆ ไม่มีอ้วน อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:40:14 4,405 อ่าน
TOP
x close