
ดูดนิ้ว แทะเล็บ เขย่าขา ดึงผม 4 พฤติกรรม อย่าทำนะลูก (รักลูก)
โดย : กองทรัพย์
ดูดนิ้ว แทะเล็บ เขย่าขา ดึงผม เชื่อว่าหากลูกวัยอนุบาลมีพฤติกรรมแบบนี้ คงเป็นเหตุให้คุณแม่กลุ้มใจได้ไม่น้อยทีเดียว ถ้าอย่างนั้นเรามาค้นหาสาเหตุว่าทำไมลูกถึงชอบ "ดูดนิ้ว แทะเล็บ เขย่าขา ดึงผม" พร้อมวิธีแก้ไขกันค่ะ
เหตุผลที่ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กมีนิสัยเหล่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ ทราบว่าสามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบบ่อยในเด็กระหว่าง 2 ขวบครึ่ง - 5 ขวบครึ่ง ซึ่งตามทฤษฎีพัฒนาการเด็กกล่าวว่า เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้น ร้อยละ 90 จะเลิกนิสัยเหล่านี้ได้เอง แต่ถ้าไม่หายอาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพในอนาคตได้ค่ะ

เด็กกว่าร้อยละ 60 รู้จักดูดนิ้วมาก่อนอายุ 1 ขวบแล้วค่ะ การดูดนิ้วเป็นเหมือนสิ่งที่ทดแทนความต้องการของจิตใจ เช่น ยามเหงา ว้าเหว่ เพราะทำให้เพลิดเพลินและรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้ดูดนิ้วตัวเอง แต่ถ้าทำบ่อย ๆ จะเกิดเป็นความเคยชินได้ค่ะ
ปกติเมื่อเข้าสู่วัยอนุบาลเด็กมักจะเลิกดูดนิ้วได้เองเพราะอายเพื่อน เวลาอยู่ต่อหน้าเพื่อนก็จะไม่ทำ ทำให้ค่อย ๆ ลดพฤติกรรมนี้ไปได้ อย่างไรก็ตามในวัย 3-5 ขวบนี้ หากลูกยังดูดนิ้วอยู่ คุณพ่อคุณแม่อย่าตกใจหรือหมดหวัง เพราะส่วนใหญ่มักเลิกไปเองเมื่ออายุราว 5 ขวบ แต่ใช่จะนิ่งนอนใจ เพราะหากยังมีการดูดนิ้วต่อไปอีกจนกระทั่งอายุ 6-7 ขวบ จะส่งผลเสียงต่อฟัน ทำให้ฟันเหยิน ฟันห่าง และมีผลต่อการออกเสียงได้ค่ะ





อาการกัดหรือแทะเล็บจะพบบ่อยในเด็กวัย 3-6 ขวบ เด็กบางคนเริ่มต้นด้วยการแคะเล็บก่อน เมื่อโตขึ้นจะเลิกได้เอง ขณะที่เด็กบางคนไม่เลิก ด้วยภาวะทางด้านจิตใจ เช่น เครียดหรือกังวลที่อาจเกิดจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างดูหนังที่ตื่นเต้นสยองขวัญ ซึ่งเป็นการแสดงออกตามพัฒนาการและภาวะเก็บกดในจิตใจ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยลูกใช้วิธีนี้เพื่อแสดงความรู้สึกนะคะ เพราะลูกอาจติดนิสัยจนเลิกยาก ดังนั้นเมื่อเห็นลูกเริ่มแสดงอาการนี้ถี่ขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรรีบทบทวนดูว่าลูกมีเรื่องเครียดอะไร ที่เป็นสาเหตุให้ทำพฤติกรรมนี้ซ้ำ ๆ นั้นหรือเปล่า จะได้แก้ไขได้ถูกทางค่ะ






การเขย่าขาเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปเห็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จะสังเกตเห็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ที่พบในเด็กวัยอนุบาลค่ะไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติร้ายแรงอะไร
ต้นเหตุของอาการขาอยู่ไม่สุขก็คือ ความเบื่อ ที่เราเห็นเด็กเขย่าขาก็เพราะเขาต้องการหาอะไรทำเพื่อกระตุ้นให้ตัวเองมีกิจกรรมทำตลอดเวลา เมื่อทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัย





เวลาว่าง ๆ หรือเครียด ๆ เราเคยถอนผมเล่นกันบ้างหรือเปล่า ถ้าเป็นเด็กก็เป็นได้ค่ะ ถือเป็นพฤติกรรมที่มีปัญหาด้านอารมณ์แฝงอยู่ ซึ่งเด็กที่แสดงอาการเช่นนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพูด อดทนและไม่ค่อยแสดงออก เมื่อมีปัญหาก็จะแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้
การถอนผมเล่นของเด็กนั้นถ้ามีไม่มาก มีสิทธิ์จะหายเองเหมือนพฤติกรรมอื่น ๆ แต่ถ้าเห็นว่าผมของลูกหายเป็นหย่อมจนกลายเป็นวงขาว ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า เขามีความผิดปกติทางจิตใจ เรียกว่า โรคทิโชทิโลมาเนีย (Trichotilomania) คือ โรคที่ไม่สามารถควบคุมความต้องการที่พุ่งขึ้นมาจากภายในได้ ซึ่งพบได้ตั้งแต่เด็กวัยเรียนไปจนถึงผู้ใหญ่ทีเดียว





พ่อแม่คือคนสำคัญ
หากพ่อแม่หมดความอดทนและใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือแสดงความไม่พอใจเพื่อยุติหรือเอาชนะพฤติกรรมเหล่านี้ของลูก มักไม่ได้ผล นอกจากจะทำให้เด็กกลัวจนไม่แสดงพฤติกรรมที่ดี ๆ แล้ว ยังจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมถดถอยในเด็ก และขัดขวางการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยค่ะ
การจะส่งเสริม กระตุ้น หรือการปรับเปลี่ยนนิสัยของลูกให้ดีขึ้นนั้น พ่อแม่ต้องเชื่อมต่อให้เขาเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง การชี้นำต้องค่อยเป็นค่อยไป ให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างเต็มที่ ได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัส ได้ดมกลิ่นและชิมรสชาติ โดยทำให้เป็นตัวอย่างก่อน เพียงแค่ปลีกเวลามาใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น โดยหากิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้สัมผัสทั้งห้า โดยเฉพาะมือ เพื่อหันเหความสนใจจากความเศร้ากังวลและยามว่าง เช่น กิจกรรมวาดรูป ระบายสี เล่นตัวต่อ ขี่สามล้อ เล่นเกมซ่อนมือ รับลูกเทนนิส ต่อโมเดล หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น
ฝึกกิจกรรมดี ๆ ให้เคยชิน นิสัยดี ๆ ก็จะเกิดค่ะ...
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
