เด็กออทิสติก ข้อสังเกตและอาการบ่งชี้ (momypedia)
เด็กออทิสติก (Autistic)
โดย Momypedia
โรคออทิสติกคืออะไร
ข้อสังเกตและอาการบ่งชี้
อาการของเด็กในกลุ่มโรคออทิสติก
การวินิจฉัยทางการแพทย์
ความผิดปกติหรืออาการที่พบร่วมกับกลุ่มโรคออทิสติก
การตรวจเพิ่มเติมกับเด็กในกลุ่มโรคออทิสติก
การรักษาโรคออทิสติก
การช่วยเหลือทางจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว
การช่วยเหลือทางด้านการเรียน
โรคออทิสติกคืออะไร
โรคออทิสติกอยู่ในกลุ่ม พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders; PDDs) หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน ซึ่งแสดงอาการอย่างชัดเจนในวัยเด็ก ทำให้พัฒนาการทางด้านทางสังคมและภาษาบกพร่อง ไม่เป็นไปตามปกติ มีพฤติกรรม ความสนใจ และกิจกรรมที่ผิดไปจากปกติ
ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน หรือ พีดีดี หรือ ออทิสติก สเป็กตรัม (Autistic Spectrum Disorder) แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
1. ออทิสติก (Autistic Disorder)
2. เร็ทท์ (Rett’s Disorder)
3. ซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder)
4. แอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder)
5. พีดีดี เอ็นโอเอส (Pervasive Developmental Disorder Not Otherwise Specified; PDD-NOS)
นอกจากนี้ ยังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น ออทิสติก (Autistic Disorder) และ ออทิสซึม (Autism) ในปี พ.ศ. 2556 จะใช้ชื่อทางการในระดับสากลเหมือนกันทั่วโลก คือ Autism Spectrum Disorder ส่วนชื่อเรียกในภาษาไทย คือ ออทิสติก
โรคนี้เป็นกลุ่มของโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสมองส่วนใด ที่ทำให้เกิดความบกพร่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม โดยความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางภาษา ไอคิว (Intelligence Quotient) และความผิดปกติอื่น ๆ ที่พบร่วมด้วย
จากการสำรวจพบว่าเด็กเป็นออทิสติกมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในผลสำรวจเด็กที่ป่วยพบว่า กลุ่มเสี่ยง จะอยู่กลุ่มที่แม่มีปัญหาในระหว่างตั้งครรภ์ มีปัญหาระหว่างคลอด หรือหลังคลอด อย่างเช่น สมองของลูกทำงานผิดปกติเนื่องจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่วหลังคลอด เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงจะเป็นเด็กพิเศษทุกคน และเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อาจเป็นออกทิสติกได้เช่นกัน
ข้อสังเกตและอาการบ่งชี้
ออทิสติกไม่ได้เกิดจากความผิดปกติจากการเลี้ยงดู แต่เกิดจากความผิดปกติในสมองของเด็กเอง เด็กมีพฤติกรรม ความสนใจและการกระทำซ้ำ ๆ และจำกัด ซึ่งพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรสังเกตเด็กใน 2 ระยะ คือ
เด็กเล็กวัยแบเบาะ
เด็กไม่สบตาพ่อแม่หรือคนที่อุ้ม ร้องไห้มาก งอแงแต่เล็ก ไม่ยิ้ม ไม่เล่นกับเสียง ขาดความสนใจร่วมกับผู้อื่น หรืออื่น ๆ
เด็กเล็ก อายุ 1 ปีครึ่ง – 2 ปี
แสดงอาการก่อนอายุ 3 ปี มักพบในช่วง 2 ขวบปีแรก หรือเด็กในวัยที่ควรจะพูดได้แล้ว แต่กลับไม่พูดหรือพูดด้วยภาษาของตัวเองแบบที่ไม่มีใครเข้าใจ เป็นเด็กที่มีพฤติกรรม อยู่ในโลกของตัวเอง เล่นคนเดียว เรียกไม่ฟัง ทำอะไรซ้ำ ๆ ไม่สบตา ชอบอะไรที่เคลื่อนไหว เช่น ชอบดูน้ำไหล แต่ถ้าไม่มีอะไรเคลื่อนไหวก็จะเคลื่อนไหวตัวเอง เช่น นั่งโยกตัวไปมา เป็นต้น
ธรรมชาติของโรค
อาการจะครบเกณฑ์การวินิจฉัย ในช่วงอายุ 3 ปี (Pre – school age)
ในวัยเรียนจะมีพัฒนาการด้านภาษาและสังคมดีขึ้น แต่จะพบปัญหาพฤติกรรมและการกระตุ้นตัวเอง หรือมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น เล่นเสียง เล่นมือ รวมถึงพฤติกรรมทำร้ายตัวเองด้วย
ช่วงวัยรุ่น จะเป็นช่วงที่มีปัญหามากที่สุด เช่น ชัก อยู่ไม่นิ่งหรือกระสับกระส่าย เฉื่อยชา พฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาพฤติกรรมทางเพศ
ช่วงวัยรุ่นในรายที่เกิดการสูญเสียทักษะต่าง ๆ ที่เคยทำได้ เช่น ทักษะทางสังคม การสื่อสาร และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ซึ่งพบได้ประมาณ 10% ซึ่งพัฒนาการที่สูญเสียไปมักจะไม่กลับคืนมาเหมือนปกติ
อาการของเด็กในกลุ่มโรคออทิสติก
เมื่อพบว่าเด็กมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ เพราะเด็กเหล่านี้ มีปัญหาสำคัญ 3 ด้าน คือ
1. พัฒนาการทางด้านสังคม
มีความบกพร่องในด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social disturbance) ซึ่งถือเป็นความบกพร่องที่รุนแรงที่สุดของกลุ่มโรคออทิสติก ซึ่งเด็กอยู่ในภาวะที่มีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าร่วมกับความบกพร่องด้านสังคม โดยมีพฤติกรรม ความสนใจ หรือทำกิจกรรมที่ซ้ำ ๆ เช่น
เด็กไม่มองหน้า ไม่สบตาในขณะพูดหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่มีความสนใจร่วมกับคนอื่น
เด็กไม่หันหาเสียงเรียกชื่อ แต่จะสนใจเสียงอื่น ๆ และไม่สนใจฟังเวลาที่พูดด้วย
ไม่มีภาษาท่าทางในการสื่อสาร เช่น ไม่ชี้นิ้วบอกถึงสิ่งที่ต้องการ แต่จะจับมือคนอื่นไปชี้หรือพาเข้าไปใกล้สิ่งที่ต้องการ
ไม่เข้าหาพ่อแม่เพื่อชวนเล่น หรืออวดของเล่น
ไม่เข้ามาแสดงความรักกับพ่อแม่ เช่น การกอด
ไม่แสดงท่าทางดีใจเมื่อพบพ่อแม่ เช่น ยิ้ม วิ่งไปหา หรือไม่วิ่งหาพ่อแม่เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือไม่ร้องตามเมื่อพ่อแม่จากไป รวมถึงไม่กลัวคนแปลกหน้า
ไม่สามารถแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม
เด็กไม่แสดงสีหน้าท่าทาง ไม่ยิ้ม เหมือนทำหน้าเฉย ไม่เข้าใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึก
เด็กจะชอบเล่นคนเดียวหรืออยู่ตามลำพัง ไม่สนใจเข้าไปเล่นกับเด็กคนอื่น หรือถ้าสนใจเล่นกับเด็กอื่นก็เล่นไม่เป็น ไม่สนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เล่นคนเดียว เล่นเสียงตนเอง
ไม่แสดงความผูกพันกับคนเลี้ยง
ไม่เข้าใจสถานการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ดูเหมือนไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของตนเองและของผู้อื่น
ไม่รู้จักแบ่งขนม หรือของเล่นให้เด็กคนอื่น
ไม่สามารถทำท่าเลียนแบบผู้ใหญ่ได้ เช่น แต่งหน้า หวีผม
ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลให้เหมาะสมตามวัย
ขาดความสามารถในการแสวงหาการมีกิจกรรม ความสนใจ และความสนุกสนานร่วมกับผู้อื่น
ขาดทักษะการสื่อสารทางสังคมและทางอารมณ์กับบุคคลอื่น
2. พัฒนาการทางด้านภาษา
มีความผิดปกติด้านภาษาและการสื่อสารเด็กกลุ่มโรคนี้มีความบกพร่องของระดับเชาวน์ปัญญา โดยความสามารถด้านภาษาจะบกพร่องมากกว่าความสามารถด้านการกระทำหรือการเคลื่อนไหว
ปฏิเสธหรือตอบรับด้วยการพยักหน้าหรือส่ายหน้าไม่เป็น
ส่งเสียงไม่เป็นภาษา เล่นซ้ำ ๆ เล่นสมมติไม่เป็น หรือเล่นตามจินตนาการไม่ได้ ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ
ไม่สามารถใช้ภาษาท่าทางสื่อสารกับบุคคลอื่น เช่น การสบตา การแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้า และภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร
พูดช้าหรือไม่พูด และไม่มีความพยายามในการสื่อสาร พูดตามหรือพูดสลับคำ
ในรายที่สามารถพูดได้ จะไม่สามารถเริ่มต้นการสนทนาและดำเนินการสนทนาได้อย่างต่อเนื่องตรงตามวัตถุประสงค์ ตอบไม่ตรงคำถาม
พูดคำหรือวลีที่ไม่มีความหมายซ้ำ ๆ หรือส่งเสียงไม่เป็นภาษา พูดเล่นเสียง
พูดทวนคำที่คนอื่นพูดจบ หรือพูดตามโทรทัศน์ ทั้งแบบทันทีทันใดหรือสักระยะหลังจากได้ยิน
ใช้ภาษาผิดปกติ โดยใช้คำที่ตนเองเข้าใจความหมายเท่านั้น
โทนเสียงในการพูดผิดปกติ เช่น พูดระดับเสียงเดียว พูดเสียงสูง หรือพูดเสียงต่ำ
เข้าใจภาษาแบบตรงไปตรงมาตามตัวหนังสือ ทำให้ไม่เข้าใจมุกตลก สุภาษิต หรือสำนวนคำพังเพย
3. พัฒนาการทางด้านพฤติกรรม
ไม่แสดงท่าทางเลียนแบบ สนใจเพียงบางส่วนของวัตถุ เช่น เล่นแต่ล้อรถ ใบพัด พัดลม เครื่องซักผ้า ติดวัตถุบางประเภท เอาของมาเรียงเป็นแถว ชอบของหมุน ๆ
มีท่าทางหรือการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ เช่น สะบัดมือ เล่นมือ หมุนตัว เขย่งเท้า โยกตัว โขกศีรษะ ทำร้ายร่างกายตัวเอง
ดูหนังการ์ตูนเรื่องเดิม ๆ มีกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ลำบาก เช่น ฟังเพลงเดิม ๆ ดูการ์ตูนเรื่องเดิม ติดของบางอย่างมากเกินไป
มีกิจวัตรประจำวันหรือกฎเกณฑ์ที่ต้องทำ ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ถึงแม้ว่ากิจวัตรหรือกฎเกณฑ์นั้นจะไม่มีประโยชน์ เช่น กินยาก กินแต่อาหารชนิดเดิม ๆ เป็นเด็กเจ้าระเบียบกว่าเด็กวัยเดียวกัน
การแสดงออกทางพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น หมกมุ่นอยู่กับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เหมาะสมหรือทำซ้ำ ๆ มากเกินไป ยึดติดกับขั้นตอนในการทำกิจวัตรประจำวัน
มีความบกพร่อง ของพัฒนาการด้านการเล่น พัฒนาการด้านการเล่นของเด็กปกติได้แก่ เล่นสมมุติไม่เป็น
ปรับตัวยากต่อการเปลี่ยนแปลง
เล่นของเล่นไม่เป็น มักเอามาเคาะ โยน ถือ ดม หรือเอาเข้าปาก
ตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากหรือน้อยเกินไป เช่น ไม่สามารถทนเสียงดังได้ ชอบทำให้เกิดเสียงดัง ๆ แล้วหัวเราะชอบใจ หรือทำร้ายร่างกายตัวเอง
สนใจต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่คน ไม่สนใจสิ่งเร้าทางสังคม เช่น การยิ้มการทักทาย
มักสนใจเสียงที่ไม่ใช่เสียงคน และไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกชื่อหรือเสียงพูดเพื่อการสื่อสาร
ในกลุ่มที่มีความสามารถสูง จะมีความสนใจเฉพาะเรื่อง จนกลายเป็นความสามารถพิเศษ มีการสะสมของที่สนใจ พูดแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ
การวินิจฉัยทางการแพทย์
เมื่อพ่อแม่และคนในครอบครัวพบว่า เด็กมีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ไม่สามารถใช้ภาษาพูดเพื่อการสื่อสารได้ จึงนำเด็กไปพบแพทย์
แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ และต้องอาศัยเวลาในการติดตามโรคพอสมควร เพื่อดูว่าเด็กมีลักษณะอาการของออทิสติกหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน เพราะโรคออทิสติกเป็นปัญหาทางพฤติกรรม จึงต้องสังเกตพฤติกรรมของเด็กระยะหนึ่ง และพิจารณาจากสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ว่าเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าลักษณะที่เป็นนั้น เกิดจากสภาพแวดล้อมหรือจากตัวเด็ก
ตัวอย่างเช่น เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่หรือครอบครัวไม่กระตุ้นให้เด็กได้สื่อสาร ให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียว เป็นต้น แต่หากเด็กมีอาการออทิสติกที่เกิดขึ้นจากตัวเองและอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ จะยิ่งทำให้รุนแรงขึ้น
ความผิดปกติของระบบสมองและระบบประสาท
สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) คือ สารเคมีที่ทำหน้าที่สื่อสารเพื่อให้การทำงานของระบบประสาทเป็นไปอย่างปกติ ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มโรคออทิสติกจะมีความผิดปกติของสารนี้ในสมอง
และยังพบว่าในผู้ป่วยกลุ่มโรคออทิสติก 10-83% มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมองและมีโอกาสเกิดโรคลมชักมากกว่าคนทั่วไปในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ในเด็กออทิสติกที่มีระดับไอคิว (IQ) ต่ำ จะมีโอกาสเกิดอาการชักได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ความผิดปกติของลักษณะทางกายวิภาคของสมองและการทำงานของสมองหลายตำแหน่งส่งผลให้เกิดความบกพร่องหลายด้าน โดยความผิดปกติของสมองและการทำงานของสมองที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้ความบกพร่องและความรุนแรงแตกต่างกันไปด้วย
เด็กกลุ่มนี้จะมีขนาดสมองใหญ่กว่าเด็กทั่วไป 2-10% ช่วงขวบปีแรกสมองมีขนาดปกติจนอายุ 2-4 ปี สมองจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของวงจรประสาทที่มีขนาดสั้น แต่วงจรประสาทที่มีขนาดยาวลดลง ทำให้เด็กในกลุ่มโรคออทิสติกมีความสนใจเฉพาะรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ และมีความบกพร่องเรื่องความคิดรวบยอด ซึ่งผู้ป่วยออทิสติกที่มีความบกพร่องทางสังคมน้อย จะถือว่ามีการพยากรณ์โรคที่ดี
ปัจจัยทางพันธุกรรม
พบว่าพี่น้องของเด็กกลุ่มโรคออทิสติก มีโอกาสเป็นโรคในกลุ่มนี้ มากกว่าคนทั่วไปถึงประมาณ 22 เท่า และมีโอกาสพบความผิดปกติของพัฒนาการด้านภาษา และพัฒนาการด้านอื่น ๆ รวมถึงการเรียนรู้มากกว่าคนทั่วไปด้วย
ความผิดปกติหรืออาการที่พบร่วมกับกลุ่มโรคออทิสติก
ปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มโรคออทิสติก 70% มีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วย ยกเว้น เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์จะมีระดับเชาวน์ปัญญาปกติ
ชัก เด็กในกลุ่มโรคออทิสติก มีโอกาสชักสูงกว่าประชากรทั่วไป ซึ่งการชักนั้นสัมพันธ์กับไอคิวที่ต่ำ พบว่า 25% ของเด็กกลุ่มที่มีไอคิวต่ำจะพบอาการชัก แต่ในกลุ่มที่มีไอคิวปกติพบการชักเพียง 5% และส่วนใหญ่อาการชักมัก เริ่มในวัยรุ่น มีโอกาสชักมากที่สุดช่วงอายุ 10-14 ปี
พฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ขาดสมาธิ พบบ่อย ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านการเรียน และการทำกิจกรรมอื่น ๆ
พฤติกรรมก้าวร้าวและพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง เป็นอาการที่พบบ่อยและมีสาเหตุจากการไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ และกิจวัตรประจำวันที่ปฏิบัติเป็นประจำไม่สามารถทำได้ตามปกติ พบปัญหานี้บ่อยมากขึ้นในช่วงวัยรุ่น ส่วนพฤติกรรมทำร้ายตัวเองพบบ่อยในเด็กที่อยู่ในกลุ่มที่มีไอคิวต่ำ
ปัญหาการนอน พบได้บ่อยในเด็กกลุ่มโรคออทิสติกโดยเฉพาะปัญหานอนยาก นอนน้อย และนอนไม่เป็นเวลา
ปัญหาการกิน เด็กจะกินยาก เลือกกิน กินอาหารเพียงบางชนิด หรือกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร
มีการเคลื่อนไหว และการทรงตัวผิดปกติ ระบบการทรงตัวจะทำให้เคลื่อนไหวร่างกายและปรับร่างกายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเครื่องมือเกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกาย จะอยู่ที่ตัวรับในหูชั้นใน เชื่อมต่อกับกลุ่มเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมองส่วนกลาง สมองจะประมวลข้อมูลแล้วเชื่อมต่อกับสมองส่วนที่เหลือทั้งหมด ทำให้รับรู้ว่าร่างกายกำลังอยู่ในภาวะใด ท่าทางใด ในสิ่งแวดล้อมแบบใด แล้วส่งต่อข้อมูลไปยังกลุ่มประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว ซึ่งบุคคลที่มีความผิดปกติในระบบนี้จะไม่รู้ตนเอง เพราะถ้าระบบรับรู้การทรงตัวมีน้อยไป พฤติกรรมจะออกมาในรูปแบบหันไปหันมา กระโดดโลดเต้นอย่างรุนแรง หมุนตัว หรือกระแทกตัวเองกับสิ่งต่าง ๆ ในบางคนสามารถหมุนตัวเองได้นานโดยไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
มีปัญหาทางอารมณ์ มีความผิดปกติหรืออาการที่พบร่วมกับกลุ่มโรคออทิสติกได้ คือปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มโรคออทิสติก 70% มีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วย ยกเว้นในโรคแอสเพอร์เกอร์ เด็กจะมีระดับเชาวน์ปัญญาปกติ
การตรวจเพิ่มเติมกับเด็กในกลุ่มโรคออทิสติก
ตรวจการได้ยิน เมื่อเด็กมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าด้านภาษา
ตรวจวัดระดับเชาวน์ปัญญา หรือระดับพัฒนาการในด้านอื่น ๆ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
ตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง ในกรณีสงสัยอาการชัก หากเด็กมีอาการเหม่อจ้องมองโดยไร้จุดหมายร่วมกับมีอาการไม่รู้สึกตัว มีประวัติพัฒนาการถดถอย หรือตรวจพบความผิดปกติของระบบประสาท
ตรวจโครโมโซม ในกรณีที่พบลักษณะความผิดปกติที่จำเพาะต่อโรคทางพันธุกรรม หรือมีภาวะปัญญาอ่อนหรือมีพัฒนาการ
บกพร่องของคนในครอบครัว
การรักษาโรคออทิสติก
กลุ่มโรคออทิสติก ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเป้าหมายของการรักษา คือ การส่งเสริมพัฒนาการและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลง และให้เด็กมีภาวะที่ใกล้เคียงกับเด็กปกติมากที่สุด
หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย และต่อเนื่องทำให้ผลการรักษาดี มีวิธีการรักษาที่เหมาะสม คือ บูรณาการการรักษาด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกันตามความจำเป็นของเด็กแต่ละคน
พ่อแม่และคนในครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กมาก แพทย์จะให้พ่อแม่ของเด็กเป็นผู้ร่วมรักษาด้วย และแนะนำให้พ่อแม่กลับไปสอนหรือปรับพฤติกรรมเด็กที่บ้านได้ด้วยตัวเอง และนำเด็กกลับมาประเมินผล รวมทั้งรับคำแนะนำใหม่กลับไปปฏิบัติ
ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาอาการออทิสติกโดยตรง แต่เด็กบางคนแพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น
การปรับพฤติกรรมและฝึกทักษะทางสังคม
พฤติกรรมบำบัด
เพิ่มพฤติกรรมที่เหมาะสมและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเด็กได้รับพฤติกรรมบำบัด แล้วเด็กชอบก็จะทำให้พฤติกรรมเพิ่มขึ้น
ถ้าผลที่เกิดขึ้นหลังพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็จะทำให้พฤติกรรมลดลง
เทคนิคการปรับพฤติกรรม
การให้รางวัล และชมเชยเมื่อมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
เพิกเฉย เมื่อเด็กงอแง
การเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปยังสิ่งอื่นที่เด็กชอบในขณะที่เด็กงอแง
การฝึกพูด
เป็นการรักษาที่สำคัญโดยเฉพาะในรายที่มีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า การฝึกการสื่อสารได้เร็วจะทำให้เด็กเรียนรู้จากการใช้ภาษาได้เร็ว และช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากการไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้
การรักษาด้วยยา
เป็นการรักษาด้วยยาที่ใช้ในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคออทิสติก เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและช่วยให้ฝึกเด็กได้ง่ายขึ้น
Methylphenidate (Ritalin)
ช่วยลดอาการไม่นิ่ง ซน หุนหันพลันแล่น ขาดสมาธิ
ผลข้างเคียงของยา จะทำให้หงุดหงิด กระวนกระวาย กินได้น้อย นอนไม่หลับ คลื่นไส้
Risperidone / Haloperidol
ช่วยลดอาการอยู่ไม่นิ่ง หงุดหงิด หุนหันพลันแล่น พฤติกรรมซ้ำ ๆ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
ผลข้างเคียง ได้แก่ ตัวแข็ง น้ำลายไหล พูดลำบาก ปากขมุบขมิบ ง่วงนอน
ยาในกลุ่ม Anticonvulsant (หรือยากันชัก)
เช่น Sodium valproate (Depakine), Car bamazepine (Tegretol) ใช้ได้ผลในรายที่มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ควรมีการตรวจระดับยาในเลือด และติดตามผลการรักษา และผลข้างเคียงของยาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผลข้างเคียงของยา คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาจกดการทำงานของไขกระดูก และอาจทำให้ผิวหนังเกิดผื่นแพ้ทั้งตัว
การช่วยเหลือทางจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว
ในการรักษา พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดในครอบครัว จะมีบทบาทสำคัญที่สุด ที่จะช่วยเหลือเด็กเพื่อปรับพฤติกรรมและรับการรักษา พ่อแม่และคนในครอบครัว จะเป็นผู้ที่มีความอดทนและมีความเสียสละมากที่สุด ในการช่วยเพิ่มพฤติกรรมที่เหมาะสมและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้กับเด็กในกลุ่มโรคนี้
หากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดไม่เข้าใจในความเป็นมาเป็นไปของโรค ก็จะหงุดหงิดและไม่อดทนต่อพฤติกรรมของเด็กในกลุ่มโรคนี้ ดังนั้น พ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ด้วย เพราะจะได้เข้าใจว่า เด็กทำพฤติกรรมอย่างนั้นเพราะอะไร
แม้ว่าเด็กออทิสติกจะไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้แก่ใคร แต่เด็กจะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง จะต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา อาจส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจของคนในครอบครัวได้ เมื่อประสบภาวะตึงเครียดจากการดูแลเด็ก ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
ดังนั้น หากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวช่วยให้เด็กได้รับการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุน้อย และทำความเข้าใจโรคไปพร้อม ๆ กัน จะดีต่อการรักษาเด็กและส่งผลดีต่อพ่อแม่และคนในครอบครัวได้มากกว่า
การช่วยเหลือทางด้านการเรียน
ก่อนอื่นพฤติกรรมของพ่อแม่และคนในครอบครัวจะต้องเหมาะสมเสียก่อน เช่น ช่วยกันกระตุ้นให้เด็กสื่อสารด้วย
ให้ความสนใจเด็กมากขึ้น เช่น ชวนคุยตอนตื่นนอน มองหน้า สบตา หาอะไรมาล่อความสนใจ
ในการสื่อสาร จะต้องมองหน้า สบตากับเด็ก พูดช้า ๆ ชัด ๆ ทำเสียงให้น่าสนใจ ให้เด็กมองตอบ เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้
พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการเล่นนั้น ๆ ด้วย
นำคำแนะนำของแพทย์ที่ปรึกษามาปฏิบัติที่บ้านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
อยู่ในการเรียนที่มีระบบชัดเจน ไม่มีสิ่งเร้าที่มากเกินไป และมีครูการศึกษาพิเศษดูแล
มีการวางแผนการเรียนร่วมกันระหว่างพ่อแม่และครู
ควรจัดกิจกรรมและการเรียนการสอน ช่วงปิดเทอม เพื่อให้เด็กได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษา สังคม และจัดการกับปัญหาพฤติกรรมที่รบกวนได้แล้ว สามารถเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติได้ เพื่อพัฒนาความสามารถทางสังคมต่อไป
เรียนในแผนการเรียนการสอนเฉพาะบุคคล (Individual Educational Plan; IEP) และนำกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการและการปรับพฤติกรรมไปประยุกต์ใช้ร่วมกับการเรียน
หากมีข้อจำกัดด้านพัฒนาการ หรือปัญหาพฤติกรรม ต้องเรียนในกลุ่มพิเศษก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ชั้นเรียนปกติ
สามารถเรียนร่วมแบบเด็กปกติได้แต่เด็กต้องได้รับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมมาระดับหนึ่งแล้ว
เลือกโรงเรียนที่มีความเข้าใจและมีความพร้อมในการดูแลเด็กในกลุ่มโรคนี้
...สรุป...
แม้ว่ากลุ่มโรคออทิสติก เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต แต่เด็กอาจจะโตเป็นผู้ใหญ่อยู่ในกลุ่ม 1 ใน 3 ที่สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ และมีโอกาสที่จะอยู่ในกลุ่ม 1-2% ของผู้ป่วยโรคนี้ ที่สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ แต่จะต้องมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เด็กมีระดับไอคิวมากกว่า 70 หรือไม่มีภาวะปัญญาอ่อนร่วม เด็กสามารถพูดสื่อสารได้ก่อนอายุ 5 ปี และไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการชัก เป็นต้น
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เด็กได้รับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย ได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่และครอบครัว ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่าการรักษาเมื่ออายุมากขึ้น
แม่และเด็ก การตั้งครรภ์ อาหารเด็ก นิทาน ตั้งชื่อลูก เรื่องน่ารู้คุณแม่ คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก