เล่านิทาน อ่านหนังสือ เรื่องสำคัญที่ลูกห้ามพลาด (รักลูก)
โดย : ก้านแก้ว
การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกวัยขวบปีแรกฟัง จะช่วยการกระตุ้นพัฒนาการถึง 3 ด้านของลูก
พัฒนาการด้านภาษา - ลูกจะได้ฝึกการได้ยิน ได้รู้จักภาษาและเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จากหนังสือ
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก - เด็ก ๆ จะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการใช้นิ้วมือ หยิบ จับ สัมผัส และขีดเขียน เป็นการทำงานประสานกันระหว่างสายตาและมือ (Eye-Hand coordination) ซึ่งกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง เป็นการช่วยพัฒนาสติปัญญาให้กับเด็ก
ดังนั้นขณะที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ควรจับมือลูกชี้ไปตามรูปภาพ ตัวอักษร เพื่อเชื่อมโยงเสียงและภาพเข้าด้วยกัน ทำให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจภาษาได้ดีขึ้น หรือการเลือกหนังสือที่ทำมาจากวัสดุที่หลากหลายให้ลูกได้ใช้มือหรือนิ้วมือสัมผัส ก็เป็นการช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสให้กับลูกได้โดยตรง
พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม
ขณะอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟัง การได้โอบกอดลูก ได้นั่งตัก การใกล้ชิด สัมผัสและเกิดการปฏิสัมพันธ์กัน จะทำให้พ่อแม่ลูกเกิดความผูกพันและไว้ใจกันและกัน ลูกก็จะมีอารมณ์ที่มั่นคง และยิ่งถ้าเล่านิทานอย่างสนุกสนาน เด็ก ๆ ก็จะยิ่งมีความสุข อารมณ์ดี การเรียนรู้และการจดจำก็จะพัฒนาดีตามไปด้วย
หนังสือสำหรับลูกวัยขวบปีแรก
ควรเลือกวัสดุทนทานและปลอดภัย เพราะลูกจะชอบฉีก กัด ดึง ขยำ สิ่งที่อยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว ถ้าเผลอก็จะเอาหนังสือเข้าปากแน่ ๆ ทางที่ดีจึงควรเลือกนิทานเล่มใหญ่ ๆ ที่มีหน้ากระดาษหนา ยากต่อการฉีกขาด แต่ง่ายต่อการพลิกเปิดอ่าน
อาจเลือกเป็นหนังสือผ้าหรือหนังสือลอยน้ำ ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับวัสดุที่หลากหลายมากขึ้น และมีรูปแบบที่ไม่จำเจ
ภาพควรมีขนาดใหญ่ ตัวอักษรไม่มากเกินไป
เลือกเรื่องที่สอนคุณธรรม เช่น ช่วยเหลือพ่อแม่ ไม่โกหก หรือนิทานที่สอนเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินนม แปรงฟัน ก็จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุก และเวลาที่ต้องทำจริง ๆ ในชีวิตประจำวันก็จะเข้าใจง่ายขึ้น เพราะเคยฟังมาจากนิทานแล้ว
เริ่มอ่านหนังสือเมื่อไรดี
ตั้งแต่ลูกลืมตาดูโลก ก็เล่านิทานให้ฟังได้เลย เพราะการได้ยินเริ่มพัฒนาแล้ว แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจความหมาย แต่เป็นการทำกิจกรรมที่จะสร้างความคุ้นเคยให้ เช่น คุ้นเคยกับเสียงของแม่ หรือที่แม่อ่านหนังสือให้ฟัง ซึ่งถ้าไม่เคยปูพื้นฐานเรื่องการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกเลย มาเริ่มทำตอนอายุ 1 ขวบ อาจจะต้องใช้การโน้มน้าวอยู่นาน หรืออาจล้มเหลว เพราะลูกไม่ชินกับกิจกรรมนี้
แต่ถ้าจะเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกในวัยที่เข้าใจภาษาฟังบ้างแล้ว ต้องเป็นตอนอายุ 6 เดือน เป็นช่วงที่ร่างกายพร้อมที่จะพัฒนา เริ่มนั่งเองได้ รู้จักชื่อตัวเอง ถึงจะยังพูดไม่ได้เป็นคำที่มีความหมาย แต่เริ่มส่งเสียงโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าพูดให้ลูกฟังก็เป็นการเพิ่มข้อมูลคำศัพท์ และลูกก็จะเริ่มฟังและสนใจจะฝึกพูดแล้ว
เล่านิทานตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องดีมั้ย ?
มีการศึกษาพบว่าช่วงที่ทารกอยู่ในมดลูกของคุณแม่ ทารกจะได้ยินเสียงภายนอกที่ดังผ่านน้ำคร่ำในมดลูกเข้ามา ที่เป็นเสียงโทนต่ำ และไม่เข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยิน แต่ไม่ใช่ว่าการเล่านิทานให้ลูกฟังจะไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อลูกได้ฟังเสียงก็เป็นการกระตุ้นพัฒนาการของสมองด้วยเช่นกัน ซึ่งย่อมดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นแน่นอน
อ่านหนังสืออย่างไร ลูกได้ประโยชน์มากสุด
ควรเปล่งเสียงพูดให้ชัดถ้อย ชัดคำ
เมื่อลูกอายุ 5 เดือนขึ้นไป ควรใช้ภาษาให้ถูกต้อง ลูกจะได้ฝึกฟังและฝึกพูด หากลูกพูดผิดก็ควรแก้ไขให้ถูกต้อง
น้ำเสียงเร้าใจ อ่านในจังหวะที่สนุกสนาน ใช้เรียกความสนใจลูก อาจทำเสียงประกอบเรื่อง เพื่อเพิ่มความสนุก เช่น เสียงสัตว์ เสียงลมพัด ฯลฯ
ทำท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง เพิ่มความสนุก และยังช่วยให้ลูกได้ขยับร่างกายตามไปด้วย
มีอุปกรณ์เสริม ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ เช่น ตุ๊กตาหุ่นนิ้ว ตุ๊กตาผ้า หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ตรงกับเนื้อเรื่อง และช่วยให้ลูกได้สัมผัสพื้นผิววัสดุที่หลากหลายด้วย
เล่าประกอบดนตรี อาจเปิดเพลงในจังหวะช้า ๆ คลอเบา ๆ ไปด้วย ช่วยให้ลูกมีอารมณ์ดี
ได้ใกล้ชิด ผูกพัน การได้สบตา พูดคุย โอบกอดลูกตอนเล่านิทาน จะเป็นสื่อกลางของความรัก มีปฏิสัมพันธ์กันเกิดขึ้น เมื่ออารมณ์มั่นคง การเรียนรู้ก็จะพัฒนาดีตามไปด้วย
เล่านิทาน 10 นาที เวลาคุณภาพ ช่วงก่อนนอนหรือหลังกินนม ก็พอแล้ว ไม่ควรยัดเยียดการเล่านิทานให้ลูกฟังมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกต่อต้าน จนนิทานกลายเป็นเรื่องที่ไม่สนุกไปเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก