โรค SIDS ภัยเงียบเด็กวัย 0 - 1 ปี (modernmom)
โดย : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
โรคตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ซิดส์ (SIDS) เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีรายงานมากมายในประเทศสหรัฐอเมริกาถึงอัตราการตายกว่าปีละ 2,500 คน แม้ว่าจะมีการวิจัยมากมาย สุดท้ายก็ยังไม่รู้ต้นเหตุที่แท้จริง และยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลดี
เด็กขวบปีแรกเสี่ยง SIDS ที่สุด
SIDS มักเกิดในเด็กแรกเกิด - 1 ปี ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุ 2 - 4 เดือน ซึ่งเสียชีวิตขณะนอนหลับ คือนอนแล้วไม่ตื่นอีกเลย โดยที่ก่อนนอนนั้นเด็กไม่มีโรคหรืออาการผิดปกติแต่อย่างไร แต่มักพบว่า เด็กที่เสียชีวิตด้วยโรค SIDS นั้น ส่วนใหญ่มารดาสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อายุน้อยกว่า 20 ปี ขณะตั้งครรภ์ เป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กทารกที่แรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย และยังพบในเด็กที่อยู่ในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่อีกด้วย
การนอน...ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับต้น ๆ
อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการทำให้เกิดโรค SIDS ในเด็กที่มักพบบ่อยคือ เด็กมีการนอนที่เสี่ยงดังนี้
นอนคว่ำ
ท่าที่อันตรายมากที่สุดสำหรับเด็กคือการนอนคว่ำ จากการวิจัยพบว่าการนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคการตายฉับพลันของเด็กทารกโดยไม่ทราบสาเหตุ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ "ให้เด็กนอนหงาย" (Back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอตั้งแต่ปี 1992 พบว่าการตายจากโรค SIDS ลดลงอย่างชัดเจน
เพราะฉะนั้น คุณแม่ควรจับเด็กนอนคว่ำบ้าง แต่ทำได้เฉพาะในเวลาเด็กตื่นและมีผู้ดูแลเด็กเฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด เพื่อให้เด็กได้ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวแบนและได้ออกกำลังต้นแขนและหัวไหล่ให้เกิดความแข็งแรงด้วย
ถูกนอนทับ
สำนักงานความปลอดภัยในผู้บริโภค (CPSC) ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของเด็กทารก 58 ราย ที่เกิดจากการถูกนอนทับ (Overlying) โดยผู้ร่วมเตียง ภัยแบบนี้ ถ้าไม่บอกกันคุณพ่อคุณแม่ก็คงคาดไม่ถึงกันนะครับ
ยิ่งวัฒนธรรมไทยเรา พ่อแม่มักนอนเตียงเดียวกับลูกจนโต แต่ต้องรู้นะว่าการปฏิบัติดังกล่าวมีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
คนที่มีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กทารกคือคนอ้วนมาก ๆ คนที่กินยานอนหลับ ยาทำให้ง่วงเช่นยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท คนเมาเหล้า และเด็กโต เพราะคนเหล่านี้มักหลับสนิทเกินไป นอนทับแล้วไม่ยอมรู้สึกตัว
นอนบนโซฟา
มีเหตุการณ์ทารกอายุ 12 วัน หลับบนแขนอันอบอุ่นของแม่บนโซฟา คุณแม่ก็หลับไปด้วย พอตื่นขึ้นมาพบว่าลูกน้อยแน่นิ่ง อยู่ในท่าคว่ำลงบนโซฟา เมื่อพลิกหงายพบว่าใบหน้าเขียวคล้ำ ไม่หายใจแล้ว
มุมระหว่างพนักพิงและเบาะที่นั่งของโซฟาอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ หากเด็กตะแคงหน้าคว่ำเข้าหามุมและกดทับใบหน้า จมูก เด็กทารกไม่มีความสามารถจะพลิกตัวกลับได้เป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจในเวลาไม่นาน
เครื่องนอน หมอน มุ้ง
เบาะสำหรับเด็กต้องเป็นเบาะที่มีความแข็งกำลังดี เบาะ ฟูก หมอน หรือผ้าห่มนุ่ม ๆ หนา ๆ ขนาดใหญ่ ๆ หน้าเด็กอาจคว่ำหน้าลงไปแล้วกดจมูกและปากเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตได้
คุณแม่ควรเลือกชุดนอนที่หนาอบอุ่น สวมใส่ได้พอดี ทำให้ไม่ต้องใช้ผ้าห่ม หากจะใช้ผ้าห่มต้องเลือกเนื้อผ้าบาง และวิธีใช้ต้องสอดลงใต้เบาะสามด้าน (คือเด็กต้องนอนโดยเอาปลายเท้ามาชิดผนังเตียง) เพื่อไม่ให้ผ้าห่มหลุดลุ่ยมากดใบหน้าเด็ก ส่วนเครื่องนอน ของเล่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเส้นสายต้องไม่มีความยาวเกินกว่า 15 ซม. เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการรัดคอเด็กได้
เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังอีกกรณีน่าเศร้าครับ คุณพ่อกลับจากที่ทำงานมาดึกดื่น หลังเข้ามาในห้องนอนมืด ๆ ก็พบลูกชายวัย 7 เดือนกำลังนอนกับมารดา จึงเข้าหอมแก้มลูกด้วยความเอ็นดู พบว่าใบหน้าลูกเย็นเฉียบ จับดูมือเท้าก็พบว่ามือเท้าเย็นเฉียบเช่นกัน จึงเปิดไฟดูพบว่าศีรษะลูกมุดรอดสายหูรูดหมอนข้าง สายรัดคอจนหน้าซีดเขียว เสียชีวิตแล้ว !
นอกจากนั้น ต้องไม่นำของเล่นชิ้นเล็ก ๆ หรือของเล่นประเภทอ่อนนิ่มตัวใหญ่ ๆ เช่นตุ๊กตาที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจตกทับกดการหายใจได้ หรือเด็กใช้เป็นฐานในการปีนป่ายจนตกเตียงได้ เช่นกัน
ถึงแม้ว่าโรค SIDS จะเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่น่ากลัว แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่จัดการนอนให้ปลอดภัย ก็จะสามารถป้องกันและลดอันตราเสี่ยงของการตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุได้ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก