เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
พูดถึงลูกแฝด ใคร ๆ ก็จะนึกถึงเด็กน้อยสองคนที่หน้าตาเหมือนกัน แต่งตัวเหมือนกัน และมักจะมีชื่อที่คล้องจองกันด้วย แต่พอบอกว่าให้แยกว่าใครเป็นใคร คราวนี้ล่ะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้คลุกคลีกับเด็กทั้งคู่อาจแยกแยะได้ลำบาก แต่สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ล่ะก็ ยังไงก็ดูออกแน่นอนใช่ไหมล่ะคะ
คู่แฝดมักถูกมองว่าต่างคนต่างเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออยู่ด้วยกันเท่านั้น เด็กแฝดบางคู่ที่ถูกเลี้ยงดูมาเหมือน ๆ กัน กลับกลายเป็นคู่ที่พยายามอย่างมากที่จะทำตัวให้ผิดแผกแปลกไปจากกันเมื่อโตขึ้น เพื่อหนีจากการถูกมองอย่างเหมารวมว่าเป็นคู่แฝดและมีแต่อะไรที่เหมือน ๆ กันนั่นเอง บางรายอาจกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพและการแสดงออกไปเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังต้องการได้รับการยอมรับก็ได้
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นฝาแฝดและมีหน้าตาเหมือนกัน แต่ทั้งคู่ย่อมต้องการได้รับการยอมรับในฐานะต่างคนต่างก็เป็นตัวของตัวเองเหมือนกับคนอื่น ๆ นั่นล่ะค่ะ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจให้รายละเอียดสักนิดในการเลี้ยงดูลูกแฝด ในครั้งนี้กระปุกดอทคอมจึงมีวิธีการเลี้ยงดูลูกแฝดเพื่อให้เด็กทั้งสองมีความเป็นตัวของตัวเองมาฝากกันด้วย ผู้ปกครองที่กำลังเลี้ยงลูกแฝดหรือคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องน้องแฝด ลองทำความเข้าใจกับแนวทางเหล่านี้ดูนะคะ จะได้ทราบว่าควรเลี้ยงดูเขาทั้งคู่อย่างไร
1. ใส่ใจกับความแตกต่างของลูก
ถึงเจ้าหนูจะหน้าตาเหมือนกันขนาดนี้ ชอบอะไรหลาย ๆ อย่างเหมือน ๆ กัน แต่จะอย่างไรทั้งคู่ก็คือคนละคน แทนที่จะโฟกัสเฉพาะส่วนที่เหมือนกันของทั้งคู่ มาให้ความสำคัญในจุดที่ต่างกันของลูก หรือสิ่งที่เขาไม่เหมือนกันดีกว่า จะช่วยพัฒนาความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองของลูกได้เป็นอย่างดี
2. ปฏิบัติต่อลูกอย่างเขาคือคนละคนกัน
ให้คุณพ่อคุณแม่ท่องเอาไว้ในใจว่าการเลี้ยงลูกแฝดก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากการเลี้ยงเด็กสองคน แต่แค่ทั้งสองคนนี้หน้าตาก๊อบปี้กันออกมาเท่านั้นเอง อย่าทำอะไรให้เขาเป็นเหมือน ๆ กันเป็นคู่ หรือให้ทำพร้อม ๆ กันตลอดเวลา ให้คุณพ่อคุณแม่ลองหาเวลาคุย เล่น หรือทำกิจกรรมกับลูกแต่ละคนแบบแยกเดี่ยว ๆ ออกจากกันบ้าง ลูกจะรู้สึกได้ว่าคุณรักและให้ใส่ใจเขาเต็มที่ในสิ่งที่เขาเป็น และตัวคุณเองก็อาจได้พบจุดเด่นที่แตกต่างกันของลูกแต่ละคนเพิ่มขึ้น ทำให้ได้รู้ว่าควรส่งเสริมแฝดแต่ละคนไปในทิศทางใดด้วยค่ะ
3. อย่าแต่งตัวลูกให้เหมือนกันตลอด
อาจเป็นเรื่องสนุกของคุณพ่อคุณแม่ที่จะแต่งตัวลูกแฝดให้เหมือน ๆ กัน เพราะมันช่างดูน่ารักน่าเอ็นดูมาก ๆ แต่มันจะกลายเป็นเรื่องลำบากใจของลูกเมื่อเด็ก ๆ ทั้งคู่เริ่มโต เพราะจะเริ่มมีความชอบและสไตล์ที่แตกต่างกันชัดเจนขึ้น เขาจะรู้สึกอึดอัดที่ต้องแต่งตัวเหมือนกันและทำให้ถูกเข้าใจผิดหรือแยกไม่ออกอยู่บ่อย ๆ ว่าใครเป็นใคร
4. ซื้อของให้แบบต่างคนต่างชิ้น
ผู้ปกครองที่มีลูกแฝดหลายคนอาจคิดว่าของเล่นหรือของใช้ของลูกแบ่ง ๆ กันใช้ไปก็ได้ เพราะยังไงลูกก็อายุเท่า ๆ กัน และยังเป็นฝาแฝดกันอีกต่างหาก แต่ความจริงก็คือ แม้จะเป็นลูกแฝดเจ้าหนูทั้งคู่ก็ไม่ต่างจากคู่พี่น้องธรรมดา ๆ ทั่วไปที่รู้สึกว่าอยากมีของชิ้นนั้นชิ้นนี้เป็นของตัวเอง ไม่ต้องถูกยืมใช้หรือแย่งไปเล่น ลองซื้อของให้ลูกแต่ละคนโดยเฉพาะดีกว่าค่ะ เด็ก ๆ จะได้รู้สึกว่าเขาได้เป็นเจ้าของและมีสิทธิ์ขาดในของชิ้นนั้น ไม่ใช่ของส่วนกลางที่ไม่รู้ว่าเป็นของแฝดพี่หรือแฝดน้องตัวเอง แต่เมื่อซื้อของให้แบบแยกชิ้นกันแล้ว หลังจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องสอนน้องเรื่องการแบ่งปันด้วยนะคะ
5. ลูกแฝดไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนกลุ่มเดียวกันก็ได้
การเป็นฝาแฝดไม่ได้หมายความว่าจะต้องแชร์ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยกัน รวมถึงเพื่อนด้วยของลูกด้วยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นที่จะให้ลูกทั้งสองคนอยู่ในเพื่อนกลุ่มก้อนเดียวกันเสมอไป อย่างที่บอกว่าแฝดแต่ละคนก็เท่ากับคนหนึ่งคน ที่มีนิสัย บุคลิก และความชอบต่าง ๆ กันไป แฝดพี่อาจจะชอบเล่นกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ส่วนแฝดน้องชอบคลุกคลีกับเพื่อนอีกกลุ่ม การให้ทั้งคู่ได้อยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ตัวเองอยู่ด้วยแล้วสนุกและมีความสุข ก็เป็นวิธีที่ช่วยพัฒนาบุคลิกความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคนได้ด้วยค่ะ
การเลี้ยงลูกแฝด อาจมีเรื่องการเลี้ยงดูให้เขาพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้นมาอีกนิด แต่รับรองว่าไม่ได้ยุ่งยากหรือลำบากไปกว่าการเลี้ยงลูกทีละคนมากนักแน่นอนค่ะ อาจจะวุ่นหัวหมุนมากหน่อย แต่เวลาทำให้แฝดน้อยทั้งสองต่างก็มีความสุข เท่านี้คนเป็นพ่อแม่อย่างเราก็หายเหนื่อยแล้วค่ะ