สำลักอาหาร เรื่องควรระวังของเจ้าหนูวัยซน

สำลักอาหาร

‘สำลักอาหาร’ เรื่องควรระวังของเจ้าหนูวัยซน
(Mother&Care)

           เด็กเล็กในช่วงวัย 1-3 ปีนี้ สามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นช่วงของ "เด็กวัยซน" พวกเขาสามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่มีเหตุการณ์ลุ้นระทึก ใจหายใจคว่ำได้ไม่เว้นแต่ละวัน แม้แต่ "ยามกิน" คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เจ้าจอมซนประจำบ้านมีอาการที่เรียกว่า "สำลักอาหาร"


           โดยมากอาการสำลักมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากเด็กในช่วงวัยนี้มักมีความอยากรู้อยากเห็น และชอบหยิบสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไปใส่ในช่องจมูกหรือเอาเข้าปาก อีกทั้งเด็กในวัยนี้การเติบโตของฟันกรามยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ จึงทำให้การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดเพียงพอ จนอาจส่งผลให้มีอาการสำลักอาหารได้ และด้วยความที่ยังเป็นเด็กเล็ก ทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก ดังนั้น แม้เพียงอาหารชิ้นเล็ก ๆ หากหลุดเข้าไปอุดกั้นก็อาจทำให้เป็นอันตรายถึงขั้นร้ายแรงได้ด้วย เหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ในการป้องกันการสำลักอาหารของเด็ก ๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

รูปร่างต้องระวัง

           โดยมากอาหารที่มีรูปร่างยาวๆ คล้ายหลอด หรือมีลักษณะเป็นวงกลม วงรี มักจะทำให้เด็ก ๆ สำลักอยู่บ่อยครั้ง เช่น ไส้กรอก เส้นก๋วยเตี๋ยว องุ่น แครอท ถั่ว ลูกอม เป็นต้น ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด

ปริมาณต้องไม่มาก

           เวลาที่จัดแบ่งของกินให้เด็ก ๆ ได้ตัก หรือหยิบกินเอง คุณพ่อคุณแม่ควรตักแบ่งให้แต่น้อย อาจให้แค่ 1-2 ชิ้น และค่อยเติมเข้าไปใหม่เมื่อเด็ก ๆ ต้องการเพิ่ม เพราะหากให้ในปริมาณที่มากเกินไป เด็ก ๆ ก็จะตักหรือหยิบเข้าปาก และเคี้ยวกลืนเข้าไปในครั้งเดียว ซึ่งจะส่งผลให้มีการสำลักอาหารได้ง่าย

ขนาดต้องพอเหมาะ

           ของกินที่มีขนาดเล็กหรือถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กเกินไป อาจหลุดเข้าไปอุดในหลอดลมของเด็ก ๆ ได้ ในขณะที่ของกินที่มีชิ้นใหญ่เกินไปก็จะทำให้เด็ก ๆ เคี้ยวได้ยากลำบาก และทำให้สำลักได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ควรหั่นให้เป็นชิ้นขนาดพอดีคำของลูก และไม่ควรมีขนาดใหญ่กว่าครึ่งนิ้ว

เปลือก ก้าง เมล็ด ต้องดูให้ดี

           เด็กในวัยนี้ยังเล็กเกินไปที่จะหยิบ หรือคายสิ่งแปลกปลอมออกมาได้เอง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปให้หมดก่อนที่จะนำมาให้เด็ก ๆ กิน เช่น เปลือกองุ่น เปลือกแอปเปิล เมล็ดแตงโม เมล็ดองุ่น ก้างปลา กระดูก เป็นต้น

ลักษณะอาหารก็ต้องใส่ใจ ลักษณะอาหารที่ต้องระวังเป็นพิเศษมีดังนี้

         ของกินที่มีความลื่น หนืด เช่น หมากฝรั่ง เยลลี่ มารช์เมโล่ วุ้นเส้น ขนมจีน เส้นพาสต้า เป็นต้น

         ของกินที่มีเนื้อแข็ง เช่น ลูกอม ผักดิบ (แครอท ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ฯลฯ) เมล็ดถั่ว เมล็ด ธัญพืช

         ของกินที่แห้ง ค่อนข้างแข็ง เคี้ยวลำบาก เช่น ข้าวโพดคั่ว ขนมปังที่มีเนื้อแน่น ค่อนไปทางแข็ง ลูกเกด

         ของกินที่มีลักษณะเป็นเส้นใย หรือเหนียว เช่น เนื้อสเต็ก เนื้อย่าง ผักที่มีเส้นใยเคี้ยวลื่น (ยอดตำลึง ผักบุ้ง สายบัว ยอดฟักแม้ว บวบ ฯลฯ)

          จากลักษณะของกินที่กล่าวมาข้างต้น ของกินบางอย่างก็ควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาให้เด็ก ๆ กิน เช่น หมากฝรั่ง ลูกอม ข้าวโพดคั่ว หรือเยลลี่ ในขณะที่ของกินบางอย่างที่มีประโยชน์ก็ยังจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะนำมาปรุงให้เด็ก ๆ กิน เพียงแต่ว่าต้องหั่น ตัด และปรุงให้เหมาะกับเด็ก ๆ เช่น ผัก ก็ควรต้มหรือผัดให้สุก เพื่อให้มีเนื้อนิ่ม เนื้อสัตว์ที่นำมาทำให้เด็ก ๆ กินก็ควรปรุงให้สุก หั่นชิ้นพอดีคำ เลือกเนื้อสัตว์ที่มีเนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อไก่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ก็ควรตัดแบ่งให้สะดวกในการตักกินของเด็ก ๆ เป็นต้น

สภาพแวดล้อมต้องไม่เสี่ยง

          การกินอาหารของเด็ก ๆ ควรเป็นในรูปแบบที่ให้เด็ก ๆ ได้นั่งกินอย่างสบาย ๆ อาจนั่งร่วมโต๊ะ กินพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ โดยไม่มีสิ่งเร้าอื่น ๆ จากรอบข้าง มาดึงดูดความสนใจหรือมาทำให้เด็ก ๆ ไม่อยู่นิ่ง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงบรรยากาศการกินของเด็ก ๆ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าจอมซนสำลักอาหารได้

         ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ กินอาหารไปพร้อม ๆ กับการเล่น เดิน วิ่ง หรือกระโดดไปด้วย

         ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ กินอาหารเองในขณะที่อยู่บนรถ โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันได้ดูแล

         ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ ป้อนอาหารหรือกินข้าวด้วยกันตามลำพัง แม้ว่าเด็กอีกคนจะเป็นพี่ที่โตกว่าก็ตาม

         ไม่รีบร้อนตักอาหารคำใหญ่เกินไปป้อนเด็ก ๆ และไม่ควรตักป้อนเพิ่มถ้าเขายังเคี้ยวไม่หมดคำ

          เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ แม้จะเป็นของกินชิ้นเล็ก ๆ แต่ก็อาจทำให้เป็นปัญหาใหญ่ได้ ดังนั้นการดูแลอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอค่ะ







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.9 No.103 กรกฎาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำลักอาหาร เรื่องควรระวังของเจ้าหนูวัยซน อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2556 เวลา 14:00:37 1,414 อ่าน
TOP
x close