5 ไกด์ไลน์สำหรับพ่อแม่ เพื่อดูแลลูกในโลกออนไลน์

ภัยอินเทอร์เน็ต

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ในปัจจุบันนี้โลกอินเทอร์เน็ตเข้ามามีส่วนเอี่ยวในชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน ๆ ยิ่งเด็ก ๆ ที่เกิดมาในยุคนี้หรือที่เรียกว่า "เจเนอเรชั่น Z" ก็ยิ่งผูกพันกับอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียวค่ะ ลืมตาดูโลกมาได้แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกแชะรูปลงไปโชว์ในหน้าเฟซบุ๊กของคุณพ่อคุณแม่ หรือญาติ ๆ ให้ได้อวดรูปเรียกไลค์กันซะแล้ว ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวยังไม่ทันจะรู้ความเลยด้วยซ้ำว่าจะอนุญาติให้เอารูปส่วนตัวไปเผยแพร่ดีหรือเปล่า ^^" ... และเด็กน้อยเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กับหน้าจอและอินเทอร์เน็ต รู้จักสมัครเฟซบุ๊ก เสิร์ชเกมออนไลน์เล่น และดูการ์ตูนในยูทูบเป็นตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบด้วยซ้ำเลยล่ะค่ะ

          การมีอินเทอร์เน็ตให้เด็กเล่นก็นับว่ามีประโยชน์ไม่น้อย มันสามารถให้ได้ทั้งความรู้และความบันเทิงที่สนุก ง่าย และจ่ายไม่แพง แต่สิ่งที่น่ากังวลซึ่งตามมาติด ๆ จากการที่เด็ก ๆ ผูกพันกับโลกออนไลน์มากเหลือเกิน ก็คือเด็ก ๆ อาจใช้มันไปในทางที่ผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการ อย่างการเผยข้อมูลส่วนตัวออกไป เข้าเว็บไซต์ที่อันตราย ไว้ใจพูดจากับคนแปลกหน้าอย่างสนิทสนม ฯลฯ แล้วพ่อ ๆ แม่ ๆ อย่างเราจะดูแลเขาอย่างไรดี จะห้ามให้งดใช้ไปเลยก็เห็นจะไม่ใช่ทางที่ถูก เพราะประโยชน์ของโลกอนไลน์ก็ยังมีอยู่มากมาย แค่อยากให้เขาสนุกกับมันได้และยังปลอดภัยเท่านั้นเอง ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกฎ 5 ข้อ ที่จะช่วยไกด์ให้คุณดูแลลูกให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์ จากเว็บไซต์ของ บริติช คอนซิล กันดูนะคะ

1. ลองถามลูกสิว่าเขาเล่นหรือเปิดเว็บไซต์อะไรบ้าง

          ในยามพักผ่อนพูดคุยตามประสาพ่อแม่ลูกหรือเวลาที่ลูกกำลังเล่นอยู่หน้าจอ ลองเลียบเคียงถามเขาดูสิคะว่าเขากำลังโปรดปรานเว็บไซต์ไหนเป็นพิเศษ เข้าอินเทอร์เน็ตไปแล้วทำอะไรบ้าง เว็บไซต์ไหนสนุกน่าเข้า หรือแกล้งลองให้ลูกสอนว่าเว็บที่เขาเล่นอยู่นั้นสนุกตรงไหน ใช้งานอย่างไร

          หลังจากนั้นเมื่อตอนที่ลูกไม่อยู่ คุณพ่อคุณแม่ค่อยลองไล่เข้าไปเช็กดูทีละเว็บไซต์ ว่าสิ่งที่เจ้าตัวเล็กชอบเข้าไปเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ นั้นมีเนื้อหาเป็นอย่างไร มีความปลอดภัยหรือไม่ รวมทั้งหาวิธีที่จะจำกัดออปชั่นในการเล่นบางอย่างเพื่อความปลอดภัย และดูลู่ทางร้องเรียนไปยังเว็บไซต์โดยตรงเผื่อกรณีที่พบว่าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

2. สอนลูกให้เซตโปรไฟล์ในโลกออนไลน์ให้เป็นส่วนตัวที่สุด

          อย่าลืมสอนหรือบอกให้เจ้าหนูเซตค่าโปรไฟล์ตัวเองในโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ให้เป็นส่วนตัวมากที่สุด เพราะปัจจุบันนี้ทุกคนต่างแชร์เรื่องราวว่าตัวเองไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร กับใคร ลงไปในพื้นที่ออนไลน์ของตน เรียกว่าอัพเดทกันแบบเรียลไทม์เชียวค่ะ การตั้งค่าโปไฟล์ให้เป็นส่วนตัวและจำกัดการเข้าถึงให้มากที่สุด จะช่วยลดโอกาสที่ข้อมูลเหล่านี้จะหลุดไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดีได้

3. เพื่อน ๆ ของลูกในอินเทอร์เน็ตมีใครบ้างเอ่ย

          คำว่าเพื่อนคือมิตรภาพไร้พรมแดนก็จริง แต่คุณก็ต้องย้ำเตือนเขาให้เข้าใจอยู่เสมอว่า เพื่อนในโลกออนไลน์มีความแตกต่างจากเพื่อน ๆ ที่วิ่งเล่นอยู่กับเขาทุกวัน ลูกยังไม่เคยเห็นหน้า และไม่รู้ด้วยว่าตัวจริงเขาจะมีนิสัยเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลในโลกออนไลน์นั้นสามารถบิดเบือนได้ง่าย การสร้างใครสักคนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงขึ้นมาในโลกออนไลน์ก็เป็นเรื่องง่ายดายแค่ปลายนิ้วเท่านั้น ลองเปรียบให้เขาฟังว่ามันง่ายพอ ๆ กับที่การที่เขาจะบอกเรื่องโกหกกับใครออกไปหรือแต่งเรื่องอะไรขึ้นมาสักอย่างแล้วโพสต์ลงในอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนในนั้นก็แทบไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เขาโพสต์ลงไปนั้นจะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ในทางกลับกัน ลูกก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่กำลังเข้าใจว่าสิ่งที่ได้อ่านมา หรือคนที่รู้กันในโลกเสมือนมีตัวตนอยู่ ทั้งที่จริงแล้วอาจจะไม่มีหรือไม่ได้เป็นอย่างที่รู้มาก็ได้ เพราะฉะนั้นกำชับเขาเสมอว่าจะให้ข้อมูลส่วนตัวอะไรไป ก็ต้องมั่นใจว่าคนนั้นต้องรู้จักนิสัยใจคอเขาดี เป็นคนที่มีตัวตนจริง ๆ และรู้จักกันกับเขาในโลกแห่งความจริงเสมอนะจ๊ะ

4. จะเอารูปสวย ๆ ใบไหนไปโชว์เพื่อนบ้างเอ่ย ขอดูด้วยหน่อยสิจ๊ะ

          คุณพ่อคุณแม่ลองขอให้ลูกแชร์เฉพาะรูปภาพที่เขาไม่อายที่จะนำมาให้คุณดูก่อน ก่อนจะโพสต์ลงไปในโซเชียลเน็ตเวิร์กดูสิคะ แต่อย่างลืมว่าจะหว่านล้อมขอดูรูปของลูก ซึ่งภาพรูปเขาอาจอยากให้มีความเป็นส่วนตัว ก็ต้องใช้คำพูดที่ฟังดูเชิญชวน และไม่เป็นการบังคับให้เขาอึดอัดใจ หากเขาเต็มใจที่จะโชว์ให้คุณดู คุณก็จะได้แอบเช็ค และมั่นใจขึ้นอีกเปลาะหนึ่งว่าลูกไม่เผยแพร่ภาพอะไรที่ไม่เหมาะสมลงไปในอินเทอร์เน็ต

5. มีอะไรไม่สบายใจบอกพ่อกับแม่ได้เสมอนะลูก

          อย่าลืมไต่ถามเจ้าตัวดีบ่อย ๆ ว่าเล่นอินเทอร์เน็ตแล้วเป็นอย่างไร เจออะไรมาบ้าง สนุกไหม รวมทั้งมีเรื่องอะไรที่ทำให้รู้สึกกังวลใจหรือไม่สบายใจหรือเปล่า โดยเฉพาะหลังจากที่คุณได้ลองสำรวจดูเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ลูกเข้าไปเล่นเป็นประจำมาแล้ว ก็จะทำให้คุณพอรู้ว่าลูกอาจต้องเจอปัญหาแบบใดจากโลกออนไลน์บ้าง การได้ไต่ถามชักชวนให้เขาพูดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นประจำ จะทำให้คุณเป็นแรกที่ลูกจะนึกถึงยามที่เขาเผชิญปัญหา เกิดความไม่สบายใจ หรือรู้สึกว่าถูกคุกคามจากโลกอินเทอร์เน็ตนะคะ

          เด็ก ๆ ในยุคนี้หากใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็นก็คงจะเป็นเรื่องแปลก และเจ้าหนูอาจเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งดี ๆ ที่มีให้ค้นคว้าได้มากมายจากโลกออนไลน์ไป เพราะฉะนั้นเพื่อให้เขาใช้ประโยชน์และสนุกกับมันได้เต็มที่แต่ก็ยังปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยสอดส่องดูแลอยู่ห่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ไกด์ไลน์สำหรับพ่อแม่ เพื่อดูแลลูกในโลกออนไลน์ อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2556 เวลา 16:04:43 1,443 อ่าน
TOP
x close