พยาธิกวนใจวัยเด็ก (Mother&Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง
ถ้ามีการสัมผัสทางผิวหนัง กินอาหารที่ปนเปื้อนพยาธิ หรือสูดดมผ่านทางเดินหายใจเข้าไปร่างกาย ตัวอ่อนพยาธิจะค่อย ๆ ฟักตัวและเดินทางไปทั่วร่างกาย และด้วยความเป็นเด็กยังรักษาสุขอนามัยของตัวเองได้ไม่ดีนัก จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่อย่างเราเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหา เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกกันค่ะ
รู้ได้อย่างไร ลูกมีพยาธิ
พยาธิส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอาการ ยกเว้นมีพยาธิจำนวนมากหรือติดเชื้อมาระยะหนึ่ง จนร่างกายค่อย ๆ ได้รับผลกระทบจากพยาธิ เช่น
ทำให้เกิดอาการลำไส้อุดตัน มีอาการปวดท้องแบบโคลิก อาเจียน ท้องอืด ถ่ายลำบาก พยาธิอาจจับตัวเป็นก้อน เป็นต้น
ทำให้อาเจียน หรือเข้าไปในรูไส้ติ่ง ก็ทำให้ไส้ติ่งอักเสบ เมื่อพยาธิเดินทางถึงกระเพาะอาหาร
หากไปถึงปอดจะเกิดอาการปวดอักเสบ มีไข้ หอบ ไอมีเสมหะปนเลือด
ขาดสารอาหาร (โดยเฉพาะประเภทโปรตีน ทำให้การดูดซึมอาหารทำงานได้ไม่ดี เนื่องจากมีเลือดออกในลำไส้ บางรายอาจมีอาการคัน เป็นลมพิษ หน้าบวม เป็นต้น
พยาธิที่พบได้บ่อยในเด็ก คือพยาธิเส้นด้าย มักพบได้บริเวณทวารหนัก ทำให้เกิดอาการคันก้นในช่วงเวลากลางคืน แม้ไม่มีอาการเฉพาะที่รุนแรง แต่ก็ทำให้ลูกน้อยนอนหลับไม่สนิท รบกวนเวลาการนอน และแย่งสารอาหารในร่างกาย อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของลูกน้อยค่ะ
จัดการพยาธิ ยังไงดี
การรักษาทั่วไป คือ การกินยาถ่ายพยาธิ ซึ่งทั้งยาที่ใช้รักษาพยาธิรวมหลาย ๆ ชนิด หรือแบบเฉพาะเจาะจง สิ่งที่ต้องระวังคือ ก่อนใช้ยารักษาปัญหา ควรปรึกษาเภสัชหรือคุณหมอก่อน เพื่อวินิจฉัยว่า เป็นพยาธิชนิดใด และต้องใช้ยาในปริมาณเท่าไร เพราะอาการที่แสดงให้เห็นอาจขึ้นอยู่กับพยาธิแต่ละชนิดที่ก่อโรคให้กับร่างกาย
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบอาการบางอย่าง ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอซักประวัติ ตรวจร่างกายให้การรักษาที่เหมาะสม เพราะบางกรณีอาจต้องตรวจอย่างซับซ้อน เช่น ตรวจลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อหาตัวพยาธิชนิดที่สงสัย เป็นต้น
3 Step ห่างไกลพยาธิ
Step 1 ดูแลร่างกาย
เช่น การตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ ดูแลความสะอาดของร่างกายให้กับเจ้าจอมซนเป็นประจำ สอนให้ลูกสวมใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน หรืออยู่ในพื้นที่ที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันเชื้อโรค พยาธิ ที่อาจติดต่อผ่านทางปากหรือผิวหนัง เลี่ยงที่จะสัมผัสกับพยาธิได้ง่าย ๆ และอย่าลืมปลูกฝังเรื่องสุขอนามัยที่ดีให้กับลูก เช่น ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำด้วยค่ะ
Step 2 ดูแลเรื่องกิน
ควรดูแลเรื่องกินของลูกพร้อม ๆ กับสอนลูกเรียนรู้สุขอนามัยการกินที่ถูกวิธีอย่างง่าย เช่น
สอนลูกล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และใช้ช้อนกลางตักอาหาร
ก่อนกินผัก ผลไม้ ควรล้างให้สะอาดก่อนนำมากิน หากเป็นเนื้อสัตว์ก็ต้องมั่นใจว่าปรุงสุกไม่กินดิบ ๆ สุก ๆ
เก็บหรือเลือกอาหารที่มีภาชนะหรือตู้ที่คลุมอาหาร เพื่อป้องกันแมลงหรือเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร
Step 3 ดูแลสิ่งแวดล้อม
ลูกวัยซนย่อมมีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคจากการเล่นซุกซนหรือการหยิบสิ่งของต่าง ๆ เข้าปาก ดังนั้น ของใช้ของเล่น รวมถึงพื้นที่ภายในบ้านที่ลูกสัมผัส จึงควรมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หรือทุกครั้งที่ลูกเล่นสนุกกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก ควรล้างมือ ทำความสะอาดด้วยทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ตัวหรือไข่พยาธิอาศัยอยู่ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.9 No.102 มิถุนายน 2556