พี่เลี้ยงเลือกให้ดีเพื่อลูก (modernmom)
เรื่อง : วิลยา
ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป บทบาทของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นในการรับผิดชอบครอบครัวทำให้คำว่า Full Time Mom ดูเหมือนจะไกลตัวแม่ยุคใหม่มากขึ้นไปทุกที คุณแม่หลาย ๆ คนจึงต้องมี "พี่เลี้ยง" เป็นผู้ช่วยในการเลี้ยงลูกน้อยในช่วงเวลาที่ต้องออกไปทำงาน หากบ้านไหน มีคุณย่าคุณยายช่วยเป็นหูเป็นตา ก็คงจะพอคลายกังวลไปได้บ้าง แต่เมื่อต้องฝากลูกรักไว้ให้พี่เลี้ยงดูแลแทน จึงต้องพิถีพิถันเลือกเป็นพิเศษค่ะ
พี่เลี้ยงคนสำคัญ
อย่าคิดว่าลูกตัวน้อยที่เห็นตัวเล็ก ๆ ยังพูดไม่ได้ แล้วเขาจะไม่รู้เรื่อง พี่เลี้ยงจะมาทำแค่ อุ้ม ป้อนข้าว อาบน้ำ พาเล่นพานอนเท่านั้นนะคะ เพราะจริง ๆ แล้วพี่เลี้ยงมีหน้าที่สำคัญมากกับพัฒนาการของลูกน้อยของคุณค่ะ ไม่ว่าจะเป็น
ให้ความรัก ความอบอุ่น ในช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่บ้าน
รู้อารมณ์ ความต้องการของเด็ก และตอบสนองได้อย่างถูกต้อง
ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย
สร้างความผูกพันที่มั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ
สร้างกิจกรรม เล่นและมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเด็ก
หน้าที่ทั้งหมดเหล่านี้ ถ้าพี่เลี้ยงทำได้อย่างดีจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งเสริมให้ลูกน้อยของคุณมีพัฒนาการอย่างเหมาะสมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกาย บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคม
Checkist…คัดเลือกพี่เลี้ยง
การเลือกพี่เลี้ยงรอบแรก คุณแม่ควรคัดจากคุณสมบัติเบื้องต้นเหล่านี้ก่อนค่ะ
อายุ 18 ปีขึ้นไป : เพราะเป็นอายุที่เริ่มมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ค่อนข้างมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ แต่ไม่ได้หมายความว่ายิ่งอายุมากจะยิ่งดี คุณแม่ต้องพิจารณาด้านอื่นประกอบอย่างถี่ถ้วนด้วยค่ะ
การศึกษา : ถ้าเป็นไปได้ควรมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมต้นเป็นอย่างน้อย เนื่องจากจะพอมีความรู้พื้นฐานในเรื่องต่าง ๆ มาค่อนข้างดี หรือควรจะเคยผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลเด็กมาก่อน เพื่อจะได้มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการต่าง ๆ และเข้าใจการเจริญเติบโตของเด็ก
มีประสบการณ์ : ต้องมีประสบการณ์ในการดูแลเด็ก หากไม่เคยเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลเด็กโดยตรงก็ควรเคยผ่านการเลี้ยงลูกหรือเลี้ยงหลานมาก่อน
สุขภาพแข็งแรง : งานเลี้ยงเด็กเป็นงานที่หนัก พี่เลี้ยงต้องมีร่างกายที่แข็งแรงจึงจะรับมือกับเด็กได้ดี นอกจากนี้ต้องไม่เป็นโรคติดต่อ คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจร่างกายก่อนรับเข้าทำงานเพื่อความปลอดภัย
อุปนิสัย : ละเอียด รอบคอบ รักความสะอาด อดทน ใจเย็น อยู่กับเด็กได้นาน ทนเสียงเด็กร้องไห้ได้ มีความกระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญที่สุดต้องเป็นคนไว้ใจได้ จนคุณแม่วางใจฝากลูกไว้แม้คุณจะไม่อยู่บ้าน
มารยาทดี : เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะลูกของคุณแม่ต้องอยู่กับพี่เลี้ยงเกือบตลอดเวลา หากพี่เลี้ยงเป็นต้นแบบมารยาทที่ไม่ดี เช่น พูดไม่มีหางเสียง นิสัยหยาบกระด้าง ฯลฯ ลูกก็อาจจะซึมซับรับมาได้ง่าย ๆ
ตัวช่วยเลือกพี่เลี้ยงต่างด้าว
หากจะเลือกเป็นพี่เลี้ยงต่างด้าว ด้วยปัจจัยได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่า คุณแม่ควรเลือกจากศูนย์แรงงานต่างด้าวที่น่าไว้วางใจ จัดการเรื่องกฎหมายแรงงานอย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหาเรื่องต่าง ๆ ตามมาภายหลังได้
3 เรื่องสำคัญช่วยตัดสินใจ
เมื่อได้พี่เลี้ยงที่ผ่าน Checklist เบื้องต้นแล้ว ให้ใช้ 3 เรื่องสำคัญนี้มาช่วยคัดพี่เลี้ยงของลูกอีกครั้งค่ะ
1.พูดคุย ประเมินท่าที
ก่อนเลือกพี่เลี้ยงให้ลูกควรมีการพบปะพูดคุย (พูดง่าย ๆ ว่าสัมภาษณ์นั่นล่ะค่ะ) เพราะการพูดคุยจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่จะได้เห็นบุคลิกภาพ อุปนิสัย มุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าน่าไว้วางใจพอหรือไม่ เช่น ระหว่างพูดคุยถ้าหากหลบสายตา อาจหมายถึงมีบางอย่างที่ปิดบังอยู่ เป็นต้น
2.รู้ประวัติ มีคนอ้างอิง
บางครั้งแม้การพูดคุยก็ไม่อาจบอกคุณสมบัติที่เหมาะสมได้คุณแม่จึงควรเลือกคนที่รู้จักภูมิหลัง รู้ที่มาที่ไปของเขามาอย่างดี เช่น มีข้อมูลจากคนที่รู้จักว่าที่พี่เลี้ยงคนนี้มานาน หรือได้ประวัติมาจากศูนย์พี่เลี้ยงที่ไว้ใจได้
3.ทดลองงาน ก่อนตัดสินใจ
เป็นไปได้ควรมีช่วงทดลองงาน เพื่อความแน่ใจว่าพี่เลี้ยงคนนั้นจะอยู่กับงานเลี้ยงเด็กได้จริง รักเด็กและมีคุณสมบัติตรงตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ บุคลิก นิสัยใจคอ เข้ากันได้กับครอบครัว
สัญญาณเตือนพี่เลี้ยงมีปัญหา
วิธีที่จะรู้ว่าพี่เลี้ยงมีปัญหา ดูแลลูกดีพอหรือไม่ ให้สังเกตว่ามีสัญญาณให้คุณพ่อคุณแม่เห็นความผิดปกติเหล่านี้หรือไม่
โหยหาพ่อแม่ หลังพี่เลี้ยงอยู่กับลูกได้ระยะหนึ่ง (ช่วงแรกอาจจะยังตัดสินไม่ได้ เพราะเด็กบางคนติดคุณพ่อคุณแม่มาก) ให้สังเกตว่า หากตอนเช้าเมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องไปทำงานลูกร้องไห้ งอแงไม่ยอมให้ไป หรือในตอนเย็นเจ้าตัวเล็กโผกอด งอแง ทันทีที่คุณแม่กลับถึงบ้าน
หวาดกลัว เมื่ออยู่กับพี่เลี้ยงแล้วลูกมีอาการงอแง หวาดกลัว ไม่ร่าเริง ไม่ยอมพูดคุย
พัฒนาการช้า ถดถอย ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกว่าที่ควรเป็นตามวัย งอแง ขี้ตกใจ
มีรอยเขียวช้ำตามตัว คุณแม่ควรสังเกตตามตัวลูกว่ามีรอยแผลเขียวช้ำหรือเปล่า โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเป็นประจำ และคุณแม่ควรเช็กในบริเวณร่มผ้าด้วยเพราะส่วนใหญ่พี่เลี้ยงมักทำร้ายในที่ที่คุณแม่มองเผิน ๆ ไม่เห็น
ติดโทรทัศน์ ติดการ์ตูน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกได้ว่าพี่เลี้ยงไม่ใส่ใจเจ้าตัวเล็กปล่อยให้ดูการ์ตูน ซึ่งส่งผลให้ลูกน้อยไม่มีพัฒนาการด้านการสื่อสาร เพราะไม่มีใครคุยด้วย
หากมีสัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้น อย่านิ่งนอนใจ รีบหาข้อมูลเพิ่มเติม และรีบเปลี่ยนพี่เลี้ยงให้ลูกหากมีปัญหาค่ะ
Modern Mom’s Experience เคล็ดคุณแม่เลือกพี่เลี้ยง
สังเกตจากเด็กคนอื่น
มีคนแถวบ้านรับเลี้ยงเด็ก ที่บ้านเลยติดต่อไป แต่ก็กังวลว่าเขาเลี้ยงดีไหม พอดีเขาเลี้ยงเด็กผู้หญิงวัย 3 ปีอยู่หนึ่งคน เลยสังเกตดูจากเด็กคนนี้ เขามีความร่าเริง ช่างถาม ช่างพูด สะอาดสะอ้าน กิริยาดี ก็ทำให้อุ่นใจขึ้นมาว่าน่าจะเลี้ยงได้ดีก็เลยตกลงให้เขาเลี้ยง แต่ก็คอยสังเกตลูกว่า มีอาการหวาดกลัวหรือมีรอยผิดปกติไหม ตอนนี้ผ่านมา 10 เดือนแล้วลูกก็ดูร่าเริง ซุกซน ช่างอ้อแอ้ ไม่มีความผิดปกติทางร่างกายและทางอารมณ์ คิดว่าโชคดีจังได้พี่เลี้ยงที่ดีค่ะ
คุณ Chatriya Suamsung
ดูพฤติกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลัง
สิ่งแรกที่เลือกก็จะดูจากการถูกชะตา ดูความสะอาดของเสื้อผ้าเนื้อตัวเขา (เพราะถ้าเขาดูแลร่างกายดี ก็พอจะดูได้ว่าไม่ใช่คนขี้เกียจ) การพูดจา ว่าพูดจาฟังแล้วเข้าหูหรือเปล่า ในช่วงเดือนแรกจะต้องสังเกตพฤติกรรมของเขาทั้งต่อหน้าและลับหลังแบบละเอียดค่ะ และกล้องวงจรปิดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ค่ะ
คุณ jaruphan Wilaijaruwan
ร่วมมือ ให้เกียรติกัน
หลักที่ใช้ คือ สะอาด ดูแลเอาใจใส่ ใจเย็น สังเกตรายละเอียด รู้และเข้าใจพัฒนาการเด็ก ไม่เวอร์ ไม่หวาน ตรง ๆ ลูกอยู่ด้วยอย่างมีความสุข ไม่เครียด มีเหตุผล รับฟังพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดี ๆ และคอยติดตามพัฒนาการ และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหรือเกิดขึ้นในตัวเด็ก แล้วช่วยกันหาสาเหตุพร้อมแนวทางแก้ไขในเรื่องต่าง ๆ ที่พบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องให้เกียรติกันและกัน ให้ความไว้วางใจกัน เปรียบเสมือนบุคคลสำคัญในครอบครัว (อย่างน้อย ๆ ก็ทำหน้าที่เป็นแม่ของลูกอีกคน) ...มิใช่แค่ลูกจ้างกับนายจ้างค่ะ
คุณ Cholticha Intarit
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.18 No.211 พฤษภาคม 2556