โรคต้องระวัง เมื่อลูกไปโรงเรียน



โรคต้องระวัง เมื่อต้องไปโรงเรียน
(Mother&Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง

          ปัญหาเรื่องสุขภาพเด็กวัยเรียนอาจเป็นอุปสรรค ส่งผลต่อการเรียนของลูก ดังนั้น เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณพ่อคุณแม่เฝ้าระวังป้องกันปัญหาไว้ก่อน เรามาทำความรู้จักโรคที่พบได้บ่อยในรั้วโรงเรียน พร้อมวิธีการดูแลสุขภาพลูกกันด้วยค่ะ

icon ไข้หวัด

          ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น หน้าฝน หน้าหนาว โรคหวัดเป็นโรคติดเชื้อยอดฮิตเกิดได้บ่อยกับเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง และเมื่อลูกเริ่มไปโรงเรียน ก็มักจะเป็นหวัดได้บ่อยขึ้น เพราะลูกสามารถรับเชื้อจากเพื่อนที่โรงเรียนที่เป็นหวัด จากการหายใจหรือสัมผัสเอาละอองน้ำมูก น้ำลายเข้าไป

Mom Can Do

          ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง หายได้เอง ทว่า ไข้หวัดเป็นอาการตั้งต้นของโรคอื่น ๆ ที่ร้ายแรงขึ้น เช่น ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ ฉะนั้นควรป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ให้ลูกกินอาหารที่ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวลูกให้เหมาะสม

icon ท้องเสีย/ท้องร่วง

          เด็กวัยเรียนมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคได้ง่าย จากการหยิบจับ สัมผัสสิ่งของเข้าปาก เช่น อาหารน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ร่างกายจึงได้รับเชื้อไปด้วย ความรุนแรงของอาการมีไม่มาก เมื่อถ่ายหรืออาเจียน หายได้ภายใน 2-3 วัน กรณีที่เกิดอาการรุนแรงนั้น ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่ได้รับเป็นเชื้อชนิดที่รุนแรงได้รับในปริมาณมากหรือไม่ ซึ่งเชื้อโรคตัวปัญหาที่พบได้ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสโรตา เป็นต้น

Mom Can Do

          คุณพ่อคุณแม่ สมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านควรเป็นตัวอย่างเรื่องสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินในช่วงหน้าร้อน (เชื้อโรคมีวงจรชีวิตนานกว่าปกติ) ลูกมีความเสี่ยงและมีโอกาสได้รับเชื้อโรคได้ง่าย ควรสอนให้ลูกกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้ง ก่อน-หลัง เข้าห้องน้ำ และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม เป็นต้นค่ะ

icon โรคมือ เท้า ปาก

          เป็นโรคที่ส่งผ่านจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสทางน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย นอกจากนี้การไอ จาม รดกัน ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ค่ะ อาการเริ่มแรก ลูกน้อยจะมีไข้ เบื่ออาหาร เพราะเจ็บคอ มีแผลภายในช่องปาก เป็นแผลเล็ก ๆ กระจายที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก ทำให้กินอาหารได้น้อยและไม่ยอมกลืนน้ำและอาหาร น้ำลายไหลย้อยได้บ่อย และมีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า บางครั้งอาจพบหลังมือและเท้า บริเวณข้อศอก ข้อเข่าและก้นของเด็กได้ ผื่นจะไม่แสดงอาการคัน (โรคนี้จะไม่พบผื่นบริเวณรอบริมฝีปาก)

Mom Can Do

          เป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ก็ไม่มีอาการรุนแรง ผื่นจะหายได้เองโดยไม่มีแผลเป็นตามมา สำหรับอาการที่รุนแรง เกิดจากการติดเชื้อสายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (EV-71) ซึ่งทำให้เกิดก้านสมองอักเสบ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว การสอนลูกน้อยดูแลสุขภาพอนามัย ดูแลสภาพแวดล้อม จึงเป็นวิธีป้องกัน ตัดวงจรของเชื้อโรคได้ดีที่สุดค่ะ

          อ่านข้อมูล รู้วิธีดูแลสุขภาพลูกกันแล้ว คงเหลือเพียงการนำไปปฏิบัติ ลงมือทำจริง สอนลูกเรียนรู้สุขอนามัยป้องกันปัญหาเรื่องสุขภาพค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.9 No.101 พฤษภาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคต้องระวัง เมื่อลูกไปโรงเรียน อัปเดตล่าสุด 11 มิถุนายน 2556 เวลา 16:06:48
TOP
x close