รวมปัญหาเรื่องกินของเด็กวัย 1-3 ปี

อาหารเด็ก

รวมปัญหาเรื่องกินของเด็กวัย 1-3 ปี
(modernmom)
โดย : ใบเหลียง

          รวบรวมปัญหาการกินยอดฮิตของเด็กวัย 1-3 ปี พร้อมทางแก้จาก "เป็นปัญหา" ให้กลายเป็น "ไร้ปัญหา"

1. เด็กไม่กินผัก

          อาจมีต้นเหตุจาก..ไม่มีใครในบ้านกินผัก, ถูกบังคับให้กิน, ไม่ชอบกลิ่นผัก หรือกากใยผักที่เคี้ยวยาก

เทคนิคจูงใจกินผัก

          บางตำราให้เริ่มต้นด้วยการเลือกผักที่ไม่มีกลิ่นฉุนให้ลูกลองชิมดูก่อน แต่คุณแม่บางคนที่มีประสบการณ์ก็บอกว่าให้เริ่มต้นด้วยผักกลิ่นฉุนก่อนเป็นดี เพราะตอนยังเล็ก ลูกยังไม่รู้จักเปรียบเทียบ ประมาณว่าให้อะไรก็พร้อมจะหม่ำ แบบนี้หัดให้กินผักขม ๆ จะง่ายกว่าหัดตอนโต เอาเป็นว่าอยากเลือกใช้เทคนิคไหนก็ตามสบาย แต่สำหรับเด็กเล็กควรปรุงให้ผักมีลักษณะเปื่อยนิ่มและกินง่าย

          มีรสชาติและมีบรรยากาศที่ดี สำหรับเด็กวัยพ้นขวบปีไปแล้ว เริ่มใช้ซอสปรุงรสช่วยให้มีรสชาติได้แล้ว ก็ควรปรุงรสให้กลมกล่อม สีสันหน้าตา จาน ชาม ช้อน จูงใจให้อยากกิน และที่ลืมไม่ได้คือ อย่าเครียดหรือฉุนเฉียว หากลูกกินไม่ได้ตามที่พ่อแม่ต้องการ

          พลิกแพลงเมนูผักให้หลากหลาย โดยเฉพาะผักที่ลูกปฏิเสธ อาจลองแปลงโฉมเป็นเมนูพิเศษ น่าจะช่วยทำให้ลูกหันมาสนใจได้อีกวิธีหนึ่ง

          ชวนลูกปลูกผักกินเอง โดยเลือกผักที่ปลูกง่าย เช่น ถั่วงอก ผักบุ้ง ต้นหอม ฯลฯ เป็นเทคนิคจูงใจที่ช่วยทำให้ลูกรู้สึกอยากทดลองกินผักที่ตัวเองลงมือปลูกเอง

2.เด็กแพ้โปรตีน (เนื้อสัตว์)

          เนื้อปลา เนื้อหมู หรือไข่ ให้โปรตีนที่จำเป็นแก่ร่างกายสูงมาก แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีอาการแพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากว่าร่างกายของเด็กแต่ละคนมีการปรับตัวของลำไส้ใหญ่ในการย่อยอาหารแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวัยและความพร้อมของเด็กแต่ละคน

          อาการที่แสดงว่าเด็ก "แพ้" โปรตีน คือ มีผื่นแดงลักษณะคล้ายรวงผึ้ง บริเวณใบหน้า ตามข้อพับ หัวเข่า ข้อศอก, ริมฝีปากแห้ง กระหายน้ำ, คลื่นไส้ อาเจียน, หายใจหอบถี่

เทคนิคช่วยลดอาการ "แพ้"

          เด็ก ๆ มักจะมีอาการ "แพ้" ในช่วงแรกของการลองกินอาหารใหม่ ๆ จึงจำเป็นต้องงดอาหารที่ลูกแพ้ไปก่อน และค่อยลองให้กินใหม่เมื่อลูกโตขึ้นอีกนิด

          หาอาหารชนิดอื่นที่มีคุณค่าใกล้เคียงให้ลูกทดแทน เช่น ถ้าลูกแพ้เนื้อหมู อาจให้กินเนื้อไก่แทนก่อน หรือถ้าลูกแพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ทุกชนิด ก็ควรดัดแปลงอาหารที่ทำจาก "ถั่ว" ต่าง ๆ ให้ลูกกินแทนเพราะมีโปรตีนที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์

          อาการ "แพ้" อาหารในเด็กส่วนหนึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม เพราะฉะนั้นแม้จะงดให้ "เนื้อสัตว์" ในช่วงที่ลูกแพ้ แต่ไม่ควรงดเด็ดขาด ค่อย ๆ ให้ลูกกินบ้างทีละเล็กละน้อยเพื่อให้ร่างกายและระบบย่อยของลูกค่อย ๆ ปรับตัวยอมรับอาหารที่เคยแพ้

3.เบื่ออาหาร

          อาการเบื่ออาหารของเด็กมักจะเป็นในช่วงพ้นขวบปีแรกไปแล้ว เพราะเป็นช่วงวัยที่เริ่มจะเรียนรู้เรื่องกินอาหารใกล้เเคียงผู้ใหญ่แล้ว และรู้จักที่จะเลือกหรือปฏิเสธอาหารที่ไม่สนใจ แต่อาการนี้ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีก เช่น เจ็บป่วย กินยาบางอย่างที่ทำให้ความอยากอาหารลดลง มีสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่า(อาหาร) กินจุบจิบก่อนมื้ออาหาร ไม่ได้ออกกำลัง หรือบรรยากาศในการกินไม่ดี ฯลฯ จึงต้องพิจารณาดี ๆ ว่า ลูกมีอาการเบื่ออาหารด้วยสาเหตุอันใด จะได้รีบแก้ไขให้ตรงจุด ถ้าลูกเบื่อ...

          จากการเจ็บป่วยก็ประคับประคองดูแลให้ลูกหายป่วย และเพื่อความชัวร์ อาจพยายามให้ลูกกินไข่ให้ได้วันละ 1 ฟองเพื่อการันตีว่าลูกได้สารอาหารที่สำคัญไปแล้ว

          ถ้าเกิดจากสาเหตุแวดล้อมอื่น ๆ พ่อแม่ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีปฏิบัติระหว่างกันเสียใหม่ เช่น งดของกินจุบจิบหรือให้ลูกกินอาหารให้เป็นเวลามากขึ้น พยายามหาเวลาให้ลูกได้ออกกำลังกาย หรือชวนให้ออกมาวิ่งเล่นนอกบ้าน (ดูทีวีให้น้อยลงหน่อย)

          สร้างบรรยากาศเกี่ยวกับการกินให้น่าอภิรมย์มากขึ้น เช่น ชวนลูกมามีส่วนร่วมในการทำอาหาร ปรับเปลี่ยนเมนูและตกแต่งหน้าตาให้น่าสนใจใคร่ชิมอยู่บ่อย ๆ หาแรงจูงใจในเรื่องที่ลูกกำลังสนใจมาเชื่อมโยงกับเมนู เช่น เล่านิทานเกี่ยวกับสัตว์หรือตัวการ์ตูนที่ลูกชอบระหว่างมื้ออาหาร

4.ฟันขึ้น กินได้น้อยลง

          ส่วนใหญ่แล้วฟันซี่แรกของเด็กจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6-7 เดือน ช่วงนี้จะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ลูกร้องงอแงมากกว่าปกติ มีน้ำลายไหลยืด ชอบคว้าของเข้าปากกัดเล่น หงุดหงิดอยู่ไม่สุข นอนหลับยาก รู้สึกเจ็บระบมและระคายเคืองบริเวณเหงือก อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่ฟันกำลังจะขึ้น และจะค่อย ๆ ทุเลาลง ซึ่งในช่วงนี้อาจมีผลทำให้ลูกกินอาหารได้น้อยลงด้วย

ดูแลดี ๆ ช่วง "ฟันขึ้น"

          ถ้าลูกหงุดหงิด ร้องไห้งอแงโดยไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ช่วงนี้ควรให้ความเอาใจใส่ลูกเป็นพิเศษ อาจลองใช้ปลายนิ้วสะอาดคลำดูเหงือกลูก ถ้าฟันกำลังขึ้นเหงือกจะบวมแข็ง ๆ ให้สัมผัสได้ และเหงือกบริเวณที่ฟันจะงอกอาจมีอาการบวมแดง

          หาของเล่นที่มีลักษณะแข็งแต่ยืดหยุ่น ให้ลูกกัดเล่น

          หาผลไม้หรือผักที่มีลักษณะแข็งแต่ยืดหยุ่นได้ เช่น แตงกวา แครอท ฝรั่ง ฯลฯ หรือของเล่นที่มีลักษณะแข็งแต่ยืดหยุ่นให้ลูกกัดเล่นแต่ควรนำไปแช่เย็น (ไม่ควรแช่ในช่องฟรีซ) ก่อน แล้วจึงนำมาให้ลูกกัด จะช่วยลดความระคายเคืองที่เหงือกได้

          ไม่ควรให้ลูกกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด

          ถ้าเหงือกของลูกแดงมาก ให้ใช้ปลายนิ้วสะอาดถูเบา ๆ เป็นการนวดเหงือก

           ถ้าลูกเบื่ออาหาร อาจหาอาหารลักษณะนิ่ม ๆ เหลว ๆ เย็น ๆ ให้ลูกกินแทน เช่น ไอศกรีม ขนมหวานใส่น้ำแข็งไส เป็นต้น







ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมปัญหาเรื่องกินของเด็กวัย 1-3 ปี อัปเดตล่าสุด 8 มิถุนายน 2556 เวลา 12:51:36 4,571 อ่าน
TOP
x close