โตไป...หนูจะไม่เห็นแก่ตัว (รักลูก)
เรื่อง : สิริพร
วัยซนเป็นวัยที่กำลังพัฒนาตัวตนค่ะ และเพิ่งเริ่มเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งของและผู้คน ในช่วงนี้ลูกจึงอาจมีอาการคล้าย ๆ หวงของ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะนั่นแสดงถึงพัฒนาการตามวัยของเขา ที่สำคัญเราสามารถอาศัยช่วงวัยนี้ปลูกฝังเรื่องการแบ่งปัน การรู้จักให้ รู้จักรับอย่างเหมาะสมได้ค่ะ
5 วิธี...หนูโตไปไม่เห็นแก่ตัว
ด้วยความที่ลูกวัยนี้มักชอบหวงของ และยังแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นของตนสิ่งไหนเป็นของคนอื่นได้ไม่ดี จึงอาจถูกมองว่าเป็นเด็กไม่รู้จักแบ่งปัน หรือเห็นแก่ตัวได้
และเราสามารถปลูกฝังเจ้าหนูวัยซนของเราให้เป็นเด็กที่รู้จักแบ่งปันอันเป็นพื้นฐานให้เขาไม่เห็นแก่ตัวเมื่อโตขึ้น ด้วย 5 เรื่องเหล่านี้ได้ค่ะ
1.ฝึกให้ลูกเล่นเป็นกลุ่ม
การเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นร่วมกับคนอื่นสำคัญมากค่ะ เพราะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักแบ่งปัน อดทน รอคอย โดยการสลับกันเล่น ซึ่งต้องมีเด็กมากกว่า 1 คน ส่วนสถานที่อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น สนามหน้าบ้าน หรือเล่นภายในบ้านก็ได้ค่ะ
เพียงแต่การเล่นเป็นกลุ่มแบบนี้ คุณแม่จะต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเลยว่าลูกอาจมีการปะทะกับเพื่อนได้ และเราจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น คุณแม่อาจใช้กติกาในการเล่นว่า ใครมาก่อนได้เล่นก่อน หรือมีการจำกัดเวลาในการเล่นด้วย
ซึ่งคุณแม่อาจจะตั้งเวลา มีเสียงกริ่งดัง เพื่อบอกให้เขารู้ว่าหากได้ยินเสียงกริ่งดังให้สลับกับเพื่อน เพื่อฝึกให้เขาเข้าใจการรอคอย และการรู้จักยอมแบ่งปันให้คนอื่นด้วย ไม่เหมือนกับการเล่นคนเดียวค่ะ
2.สะท้อนอารมณ์ลูกเมื่อเขาเจอปัญหา
ลูกอาจมีโอกาสไม่ยินยอมพร้อมใจ เสียใจ หงุดหงิด หรือโดนเพื่อนแกล้งได้ หากได้เล่นกันเป็นกลุ่ม คุณแม่ก็ต้องพูดคุยกับเขา ด้วยการสะท้อนอารมณ์ลูก เช่น หนูเสียใจใช่ไหมคะที่เพื่อนต้องเอาของของเขากลับคืนไป การบอกหรือสอนเขาตรง ๆ แล้วสะท้อนอารมณ์กลับไปอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าคุณแม่รับรู้ถึงปัญหาของเขา ซึ่งคุณแม่อาจจะเสนอแนวทางให้เขาคิดตามได้ เช่น หนูอย่าไปเอาของคนอื่นเลย หรือเอาของชิ้นอื่นไปแลกเปลี่ยนดี หนูอยากให้แม่ช่วยอะไรไหมคะ
นอกจากนี้ คุณแม่สามารถสอดแทรกเรื่องการเคารพซึ่งกันและกันได้ด้วย เช่น หนูต้องยอมรับว่าของชิ้นนี้เป็นของเพื่อนนะ หากเราจะไปหยิบ ก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน ซึ่งก็เป็นการฝึกเขาไปในตัวว่าในอนาคตถ้าลูกจะไปหยิบของ ๆ ใคร ก็ต้องขออนุญาตก่อนเหมือนกัน
3.ไม่เน้นการลงโทษ
ลงโทษในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการตีอย่างเดียวนะคะ แต่รวมถึงการตำหนิด้วย คุณแม่ควรจะชมเชยลูกเวลาที่เขารู้จักแบ่งของ ถ้าเขาไม่ยอมแบ่งให้ใครเลย ก็อาจใช้วิธีพูดในเชิงว่า คุณแม่ผิดหวังมากเลยที่หนูไม่แบ่งแบบนี้ เพื่อบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีผลต่อความรู้สึกของคุณแม่นะ วิธีนี้แม้ไม่หนักหน่วงเท่าการพูดตำหนิ แต่ได้ผลมากกว่า
4.ให้ลูกรู้จักรับและให้อย่างเหมาะสม
ลูกวัย 3 ขวบเริ่มฟังเรารู้เรื่องแล้วค่ะ คุณแม่อาจจะคุยกับเขาว่าของบางชิ้นที่ลูกรักเป็นพิเศษอาจจะไม่แบ่งใครเลยได้ ในขณะที่ของบางชิ้นรักเหมือนกันแต่แบ่งเพื่อนเล่นได้ เพื่อให้เขาแยกแยะได้ว่าของบางอย่างไม่ได้แปลว่าลูกจะต้องอนุญาตให้ใครยืมได้หมด
ที่สำคัญต้องให้กำลังใจและชมเชยลูกเสมอ เมื่อเขาเริ่มแบ่งปันเป็น เช่น ลูกอาจแบ่งขนมให้คุณแม่เพียงชิ้นเล็ก ๆ เราก็ชมเขาว่า หนูน่ารักนะคะที่แบ่งขนมให้คุณแม่ด้วย ค่อย ๆ จากการที่เขาเริ่มแบ่ง ถึงจะดูแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เพียงลูกเริ่มทำก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว
5.พาหนูทำกิจกรรมจิตอาสา
คุณแม่ลองชวนเจ้าหนูวัยซนมาเลือกของเล่น หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาคดูนะคะ นอกจากจะช่วยฝึกให้เขารู้จักแยกแยะของที่จำเป็น และไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกิจกรรมจิตอาสาที่เขาอาจเข้าใจมากขึ้นเมื่อโตกว่านี้ได้
คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมและปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้มีความซับซ้อนขึ้นตามช่วงวัย เพื่อสร้างรากฐานนิสัยที่ดีงามให้กับลูกค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 363 เมษายน 2556