วัคซีนทางเลือก จำเป็นแค่ไหน (modernmom)
โดย : รัตนา
เพื่อให้ลูกรักมีสุขภาพแข็งแรง "วัคซีน" ซึ่งเป็นเสมือนปราการด่านแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากเชื้อโรคร้ายต่าง ๆ ที่ปัจจุบันพบว่านอกจากวัคซีนพื้นฐานที่ภาครัฐสนับสนุนแล้ว ยังมี "วัคซีนทางเลือก" หรือ "วัคซีนเสริม" เพิ่มเติมขึ้นมาอีกนับ 10 กว่าชนิด กระทั่งนำมาซึ่งคำถามที่ค้างคาใจคุณแม่หลายท่านเหมือนกันว่า วัคซีนทางเลือกเหล่านี้จำเป็นแค่ไหนอย่างไร
แค่วัคซีนพื้นฐานไม่พอหรือ
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้ช่วยคลายข้อสงสัยในเรื่องนี้ ว่า
"วัคซีนพื้นฐานเป็นวัคซีนที่ภาครัฐได้ใช้งบประมาณเพื่อให้บริการประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากโรคต่าง ๆ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเหล่านี้มีความรุนแรงและโรคบางโรคพบได้บ่อยจนจัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งวัคซีนมีราคาในระดับที่ภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนได้ วัคซีนพื้นฐาน ได้แก่ วัคซีนบีซีจี (วัณโรค) วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี อย่างไรก็ตาม วัคซีนพื้นฐานที่ภาครัฐส่งเสริมในปัจจุบันสามารถป้องกันโรคที่พบบ่อยและโรคที่มีความสำคัญได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันโรคอีกหลายโรคที่มีวัคซีนในการป้องกัน"
วัคซีนทางเลือกจำเป็นแค่ไหน
"ในขณะที่วัคซีนทางเลือก หมายถึง วัคซีนที่นอกเหนือไปจากวัคซีนพื้นฐานที่สามารถให้เพิ่มเติมได้ แต่ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง ภาครัฐยังไม่พร้อมที่จะใช้งบประมาณในการให้บริการแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุผลว่า โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนบางโรคยังไม่จัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ (พบไม่บ่อย ไม่รุนแรง) หรือ วัคซีนยังมีราคาแพงเกินกว่าที่จะจัดสรรงบประมาณให้ได้"
คุณหมออธิบายว่า วัคซีนทางเลือกนี้ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ
วัคซีนที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มวัคซีนพื้นฐาน ได้แก่ วัคซีนไอพีดี วัคซีนโรต้า วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนเอชพีวี
วัคซีนที่จัดอยู่ในกลุ่มวัคซีนพื้นฐานอยู่แล้ว แต่มีคุณสมบัติบางอย่างที่แตกต่างไป เช่น ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น มีอาการข้างเคียงจากวัคซีนลดลง ใช้สะดวก (ฉีดน้อยเข็มลง) รวมวัคซีนหลายชนิดไว้ในเข็มเดียว หรือมีวัคซีนบางชนิดเพิ่มเติมเข้าไป วัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์ (แทนวัคซีนชนิดเต็มเซลล์) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น (แทนวัคซีนชนิดเชื้อตาย) วัคซีนรวม (แทนวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน-ตับอักเสบบีโดยใช้วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดแทนวัคซีนชนิดเต็มเซลล์และวัคซีนชนิดหยอดตามลำดับ และเพิ่มวัคซีนฮิบ) วัคซีนทีแดบ (แทนวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบโดยเพิ่มวัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์)
วัคซีนพิเศษ วัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนไทฟอยด์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่พบโรคทัยฟอยด์ได้บ่อย วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น สำหรับผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญในประเทศทางตะวันออกกลาง วัคซีนพิษสุนัขบ้า สำหรับคนที่ถูกสุนัขแมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดกัด และ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับเด็กอายุ 6-12 เดือน และเด็กที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและคาดว่าจะนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนมาลาเรีย วัคซีนเอดส์
คิดให้ดี ก่อนเลือก "เสริม" วัคซีนให้ลูก
สำหรับข้อดีและข้อควรระวังของวัคซีนทางเลือกนี้ รศ.นพ.ชิษณุ บอกว่า วัคซีนทางเลือกทุกชนิดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
"ข้อดีของวัคซีนทางเลือกคือ ช่วยในการป้องกันโรคบางโรคเพิ่มเติมจากวัคซีนพื้นฐาน ข้อควรระวังของวัคซีนขึ้นกับวัคซีนแต่ละตัวว่ามีอาการข้างเคียงมากน้อยเพียงใดและเป็นอาการข้างเคียงที่รุนแรงหรือไม่ อายุที่เหมาะสมในการรับวัคซีน รวมทั้งราคาของวัคซีนก็อาจเป็นอุปสรรคสำหรับบางครอบครัว"
ทั้งนี้ คุณหมอยังได้ให้หลักคิดในการตัดสินใจเลือกเสริมวัคซีนทางเลือกให้แก่ลูกน้อย ด้วยว่า
หนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาว่า โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนนั้น พบบ่อยมากน้อยเพียงใด และมีความรุนแรงแค่ไหน
สอง ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ความปลอดภัย และอาการข้างเคียง ของวัคซีนชนิดนั้นเป็นอย่างไร และมีให้เลือกใช้กี่รูปแบบ และมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงราคาของวัคซีนนั้น ๆ ของแต่ละโรงพยาบาลด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ และคุณพ่อคุณแม่รับได้หรือไม่
"คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจข้อมูลของวัคซีนทางเลือกแต่ละชนิดให้ดีเสียก่อน และควรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองในการเลือกที่จะให้หรือไม่ให้วัคซีนเพิ่มเติมสำหรับลูก" รศ.นพ.ชิษณุกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก