8 วิธี สร้างบรรยากาศ ให้ลูกฉลาด (Mother&Care)
ความฉลาดของลูก นอกจากพันธุกรรมและเรื่องอาหารการกินแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ การที่ลูกได้เรียนรู้ตามวัย มีการส่งเสริมที่เหมาะสมจากที่บ้าน ฉะนั้นการสร้างบรรยากาศภายในบ้าน เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีของลูก จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามค่ะ
1.ให้ความรัก ลอยไปทั่วบ้าน
การสร้างบ้านให้มีบรรยากาศน่าอยู่ ไม่ใช่ความใหญ่โต หรือความสวยงามของบ้าน แต่เป็นเรื่องที่คนในบ้านต้องสร้าง การยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกันด้วยความรักความเข้าใจในธรรมชาติของลูก ความเข้าใจซึ่งกันและกันของสมาชิก ความมีน้ำใจ และอภัยให้กัน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานให้บรรยากาศภายในบ้านเอื้อต่อการเรียนรู้ ลูกจะอยู่ด้วยความรู้สึกอบอุ่น มั่นคงในจิตใจ อย่างที่ทราบกันแล้ว พ่อแม่เป็นต้นแบบที่สำคัญที่สุดของลูก ลูกใช้เวลาภายในบ้านกับพ่อแม่มากที่สุด ดังนั้นการเลียนแบบต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา การเคลื่อนไหว พฤติกรรม ดังนั้น เมื่อพ่อแม่แสดงความรักกับลูกทุกครั้งที่มีโอกาส ลูกก็จะรู้จักแสดงความรักออกไป และพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับในสิ่งใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน
2.สร้างประชาธิปไตย
การอยู่ร่วมกัน สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การเคารพในสิทธิของกันและกัน การรับฟังความคิดเห็น ซึ่งก็คือ การมีประชาธิปไตยภายในบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึง ความอิสระเสรี ที่จะทำอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะเด็กเล็ก ๆ ต้องเรียนรู้ผ่านระเบียบวินัย และกฎเกณฑ์ การมีประชาธิปไตยภายในบ้าน พ่อแม่ต้องเตรียมกิจกรรมต่าง ๆ ให้ลูกได้เล่นตามวัย ในแต่ละกิจกรรมต้องให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ฝึกให้ลูกรู้จักคิด รู้จักสิทธิ และความสามารถของตัวเอง แต่ก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และข้อตกลงร่วมกัน
3.คำชมสร้างกำลังใจ
วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ลูกฉลาดได้คือ การสนับสนุนในด้านกำลังใจ ชมเชยลูกในช่วงที่เหมาะสม ควรชมแต่พอเหมาะ ให้ลูกรู้สึกว่าคำชมนั้นมีคุณค่า ชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อลูกได้รับคำชม ก็จะเกิดกำลังใจในการทำสิ่งนั้น ๆ เช่น เมื่อลูกเล่นเสร็จ รู้จักเก็บของให้เป็นที่ก็ชมเชยว่าลูกทำให้บ้านสะอาด ของเล่นลูกก็ไม่เสียหาย ครั้งต่อไปเมื่อเล่นเสร็จ ลูกก็จะอยากเก็บของเล่นอีก
เมื่อมีคำชม ก็ต้องมีการว่ากล่าวตักเตือนในสิ่งที่ลูกทำผิดด้วยเช่นกัน แต่ต้องเป็นการตักเตือนด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ถ้าลูกยังเล็ก การห้ามในสิ่งที่เป็นอันตราย ก็ต้องห้ามแบบเด็ดขาด จริงจัง เพื่อให้ลูกรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรเล่น เช่น ปลั๊กไฟ เตาแก๊ส เป็นต้น แต่ถ้าลูกโตแล้ว พ่อแม่ต้องใช้เหตุผลในการอธิบายประกอบมากขึ้น การห้ามโดยไม่บอกเหตุผล จะเป็นแรงเสริมทำให้ลูกอยากรู้อยากลองมากขึ้นก็ได้ ทั้งคำชมเชย และคำว่ากล่าวตักเตือน เป็นเสมือนเกราะคุ้มภัย และแรงเสริมให้ลูกเรียนรู้ได้ดีต่อไป
4.คำว่า "ไม่รัก" ไม่มีอยู่ในบ้าน
คำขู่เด็ก ๆ ที่เราคุ้นเคยมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ "ถ้าไม่นอน เดี๋ยวตุ๊กแกมากินตับ" "ดื้อเหรอ เดี๋ยวยักษ์มาจับตัวนะ" ตอนเด็ก ๆ คำขู่พวกนี้อาจจะได้ผล เด็กคนไหนที่ขวัญอ่อน ก็จะกลัว และอาจกลัวจนฝังใจ เด็กคนไหนที่กล้าหน่อยก็ไม่กลัว และกลายเป็นไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้ใหญ่พูด
ส่วนคำขู่ยอดฮิตอีกคำ ที่ผู้ใหญ่มักเผลอหลุดปากออกมา คือ คำว่า "ทำแบบนี้ แม่/พ่อ ไม่รักนะ" หรือบางครั้ง อาจจะหยอกล้อ เช่น "ไม่รักลูกแล้ว ไปรักคนอื่นดีกว่า" (แล้วก็แกล้งกอดคนอื่นแทน) การพูดยั่ว ขู่ หรือลงโทษ โดยใช้คำว่า "ไม่รัก" เพราะคิดว่าเป็นการลงโทษให้ลูกรู้สึกกลัว และไม่กล้าทำอีก หรือจะเป็นการล้อเล่นสนุก ๆ ก็แล้วแต่ เท่ากับเป็นการตัดกำลังใจ และตัดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก คุณลองคิดดูว่า ลูกที่อายุเพียงไม่กี่ขวบ ยังไม่เข้าใจความหมายซับซ้อน หรือเข้าใจอารมณ์ที่ลึกซึ้งได้ แต่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง ได้เห็นเฉพาะหน้า เมื่อเขารู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่รัก ก็อาจจะมีพฤติกรรมที่แปรปรวน ยิ่งถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเจ้าอารมณ์ เด็กก็จะมีนิสัยเจ้าอารมณ์ตามมาเช่นกัน
5.คำห้าม มีให้น้อยที่สุด
ช่วงวัย 2-6 ปี เป็นช่วงหนึ่งที่พ่อแม่เหนื่อยหน่อยกับพละกำลัง ความอยากรู้อยากเห็นอันมหาศาลของลูก แล้วยังเป็นวัยที่ช่างจินตนาการอีกด้วย สิ่งไหนที่อยากรู้ เด็กก็มักจะอยากลองทำ อยากรู้ผลที่ตามคืออะไร ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจจุดนี้ ก็อาจจะห้ามลูกในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะกลัวว่าอาจจะเกิดอันตรายกับลูกหรือแม้กระทั่งลูกอาจจะทำบ้านเลอะเทอะ
คุณทราบหรือไม่ว่า ทุกคนต้องเคยทำผิดพลาด ถ้าพ่อแม่รู้จักสอนความผิดพลาดนี้ให้เป็นประสบการณ์ของลูก ลูกจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ลูกเทน้ำหกเลอะเทอะ ถ้าคุณแม่เอาแต่ดุลูกอย่างเดียว ลูกก็ไม่เกิดการเรียนรู้ แต่กลับรู้สึกใจเสีย จนไม่อยากเทน้ำเองอีกก็เป็นได้ คุณแม่ต้องใช้ความผิดพลาดครั้งนี้สอนลูกว่า เทน้ำอย่างไรไม่ให้หกออกมา และเมื่อหกแล้วควรเช็ดอย่างไร จึงจะไม่เกิดอุบัติเหตุ ครั้งต่อไปลูกก็จะสามารถทำได้เองในที่สุด (ถ้าได้รับการฝึกฝนบ่อย ๆ )
มีนักวิชาการกล่าวว่า เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้ โดยการมีประสบการณ์ใหม่ ๆ มีการเก็บข้อมูล จนมีความเข้าใจ เกิดความชำนาญ และเชื่อมโยงนำมาใช้ได้ ฉะนั้น การห้ามลูกทำนู่นทำนี่ทุกเรื่องก็เท่ากับเป็นการตัดโอกาสการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของลูก นอกจากนี้แล้ว การให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นการส่งเสริมให้เขารู้จักพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ได้เร็ว ก็จะมีความสนใจในเรื่องต่อไปมากขึ้นเช่นกัน คำพูดของพ่อแม่จึงมีผลต่อการพัฒนาสติปัญญาของลูกได้อย่างไม่น่าเชื่อ
6.เปิดโทรทัศน์ให้น้อย
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า รายการโทรทัศน์ หรือการดูโทรทัศน์ ก่อให้เกิดผลเสีย กับเด็กมากกว่าผลดี และส่งผลต่อการเรียนรู้โดยตรง รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกฉลาดต้องปิดทีวี เป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำ เพียงแต่พ่อแม่และสมาชิกในบ้านต้องให้ความร่วมมือเท่านั้นเองค่ะ
ถ้าบ้านไหนดูโทรทัศน์เป็นเวลา เช่น ดูช่วงข่าว หรือสารคดี ไม่ได้เปิดแช่ไว้ทั้งวัน มีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกได้ทำ รับรองว่าลูกก็ไม่ร้องขอที่จะดูโทรทัศน์เช่นกันค่ะ แต่ถ้าบางรายการที่เหมาะกับลูก น่าสนใจก็ขอให้มีผู้ใหญ่นั่งดูกับลูกด้วย และคอยอธิบายให้ลูกฟัง จะได้ประโยชน์กว่าให้ลูกนั่งดูเองแบบเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
7.บ้านมีระเบียบ
การจัดบ้านให้มีระเบียบ เก็บของเป็นที่เป็นทาง และรักษาความสะอาดบ้านอยู่เสมอ ทำให้ลูกเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัว เวลาลูกจะทำอะไรก็กลายเป็นเด็กที่มีระเบียบไปในตัว เช่น มีที่เก็บของเล่นเป็นสัดส่วน รู้จักการแยกหมวดหมู่ (บางคนทั้งของเล่น เครื่องเขียน หนังสือ รวมอยู่ในลังเดียวกันหมด)
หลายท่านอาจเกิดคำถามว่า แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับความฉลาด เพราะความมีระเบียบเป็นในสิ่งที่มองเห็นเป็นรูปธรรมแบบนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีระเบียบในวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ และทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น เช่น เมื่อลูกต้องการระบายสี ก็สามารถเดินไปหยิบอุปกรณ์ที่ต้องใช้ได้ทันที เมื่อเล่นเสร็จแล้ว ก็สอนวิธีการเก็บรักษา ครั้งต่อไปอยากเล่น ก็เล่นได้เลย แต่ถ้าไม่มีการเก็บที่เป็นระเบียบ ก่อนเล่นก็ต้องหา หาเจอบ้างไม่เจอบ้าง อาจจะอารมณ์เสีย และก็เลยอดเล่น อดเรียนรู้กันไปนั่นเอง
8.สร้างโอกาสให้ลูกเสมอ
มีวิธีการมากมายที่พ่อแม่เป็นผู้ช่วยในการส่งเสริมความฉลาดให้ลูก โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในเรื่องต่อไปนี้
เปิดโอกาสให้ลูกตั้งคำถาม และชวนกันหาคำตอบ พร้อมทั้งชวนให้ลูกคิด หรือตั้งคำถามกลับเพื่อให้ลูกคิดหาคำตอบให้หลากหลายรูปแบบ
ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น และความรู้สึกของตัวเองออกมาให้มากที่สุด จะทำให้พ่อแม่รู้จักลูกมากขึ้นอีกด้วย
ช่วยแนะนำส่งเสริมในเรื่องที่ลูกอยากรู้ เช่น ลูกสงสัยเรื่องดวงดาว ก็หาหนังสือ สารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้มาศึกษา เมื่อมีโอกาสก็พาลูกไป ท้องฟ้าจำลอง หรือพาไปเข้าค่ายดูดาว จะช่วยต่อยอดการเรียนรู้ได้มากมาย อย่าปล่อยโอกาสเมื่อเห็นว่าลูกกำลังสนใจเรื่องใด ต้องรีบส่งเสริมทันที เพราะช่วงความสนใจของเด็กไม่ได้ยาวนานมากนัก นี่อาจทำให้ลูกได้ค้นพบความชอบของตนเองได้
พยายามสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่า การเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เป็นเรื่องน่าสนุก โดยเริ่มจากตัวพ่อแม่ ที่มีความกระตือรือร้นในเรื่องนั้น ลูกก็จะมีความสุขที่เรียนรู้พร้อมกับพ่อแม่
ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกเรียนรู้อะไรก่อนวัยอันควร หรือยัดเยียดในสิ่งที่ลูกไม่สนใจ เพราะนั่นเป็นการฝืนใจ ซึ่งไม่มีผลดีต่อการเรียนรู้ระยะยาว
เปิดโอกาสให้ลูกได้พบปะผู้คน หรือสิ่งใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส
ขอขอบคุณข้อมูลจาก