ฝึกเจ้าตัวน้อยงดนมมื้อดึก (Mother&Care)
เจ้าตัวน้อยคนไหน ที่ยังติดใจนมมื้อดึกอยู่ คุณแม่รู้หรือไม่ว่า ผลเสียของการติดนมมื้อดึกมีอะไรบ้าง เพราะขณะที่ลูกนอนหลับ น้ำตาลจากนมจะติดอยู่ที่ฟัน ทำให้ฟันลูกผุได้ง่าย และในตอนกลางคืนทั้งคุณพ่อคุณแม่ คุณลูก นอนไม่ได้เต็มที่ ต้องลุกขึ้นมาให้นมลูกกันบ่อย ๆ
ดังนั้น คุณจึงต้องเป็นผู้ช่วย ดูแลลูก ช่วยให้ลูกหลับได้เองและงดนมมื้อดึกได้ในที่สุด ด้วยวิธีที่เหมาะสมค่ะ
เตรียมพร้อมฝึกลูกอย่างไร
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ควรเริ่มฝึกตั้งแต่ที่ลูกน้อยยังเล็ก ในช่วงเดือนที่ 3-4 เพื่อให้ลูกสามารถเลิกนมมื้อดึกได้เมื่อหลัง 6 เดือนไปแล้ว
สมาชิกในบ้าน ควรรับรู้กับการฝึก และปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การฝึกครั้งนี้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด
การจัดตารางมื้อนมแต่ละวันที่ลูกควรกิน รวมถึงเวลาการเข้านอนเป็นเวลาให้เหมาะสม ก็มีส่วนช่วยให้คุณฝึกลูกน้อยงดนมมื้อดึกง่ายขึ้น
สิ่งหนึ่งที่คุณพึงรู้คือ ต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะลูกน้อยที่ติดขวดนม เพราะเด็กแต่ละคน มีความสามารถในการรับรู้ ปรับตัวที่ต่างกัน โดยเฉพาะรูปแบบวิธีการที่จะได้ผลในการฝึก ก็อาจต่างกัน จึงต้องยืดหยุ่น ไม่ตึงเครียดเกินไปกับการฝึกลูกค่ะ
ฝึกลูกงดนมมื้อดึกอย่างไร
ถ้าลูกขยับตัวนิดหน่อย อาจสัมผัสเบา ๆ ตบก้นเบา ๆ ให้หลับได้เอง ไม่ควรสร้างเงื่อนไข ตอบสนองกับเสียงร้อง ด้วยการให้นม
ดูแลเสียงร้องของลูก ตามสาเหตุ เช่น ลูกเจ็บป่วยไม่สบาย ผิวที่ก้นชื้นแฉะ หรือมีแมลงตัวน้อยกัด ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บ
เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ กับการใช้ตัวช่วยแบบไม่จำเป็น เช่น เข้าไปโอบอุ้ม เปิดไฟให้สว่าง ตีความว่า ลูกน้อยหิวนม แล้วก็ป้อนนม
ความมืดอาจทำให้ลูกรู้สึกกลัว ร้องเรียกหา คุณอาจสังเกตว่าลูกสามารถหลับได้เองหรือเปล่า ไม่ควรหยุดเสียงร้องด้วยการให้นมทดแทน (นอกจากเป็นเวลามื้อนมตามปกติ)
เมื่อลูกโตแล้ว สามารถจับ ถือแก้วได้ ควรให้ลูกกินนมจากแก้วหรือกล่อง สลับกับขวดนม เพื่อค่อย ๆ ถอยห่างจากขวดนม งดนมมื้อดึก
หากไม่ถึงกับหักดิบลูกน้อยที่ติดใจกับนมมื้อดึกแล้ว อาจใช้วิธีทดแทน ด้วยการชงนมให้จาง ให้น้ำเปล่า ก็เป็นตัวช่วยที่จะลดนมมื้อดึก
ควรให้นมมื้อกลางวันแต่ละมื้อให้อิ่ม ส่วนนมมื้อดึก ค่อย ๆ ลดจนเลิกได้ในที่สุด
เห็นแล้วใช่ไหมคะ ว่าการเริ่มฝึกลูกน้อยงดนมมื้อดึก เมื่อถึงวัยอันควร จะช่วยตัดปัญหาเรื่องสุขภาพ โรคภัยตามมาในระยะยาวก็เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นได้ เช่น โรคอ้วน โครงสร้างฟันที่เสียรูปเพราะอาจส่งผลเสียต่อฟันลูก เป็นแนวทางที่ดี เป็นประโยชน์ที่เกิดกับลูกน้อยและคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก